จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
จีนยอมรับเขื่อนไตรผาก่อปัญหาสวล.-สังคม-ระบบนิเวศน์
รัฐบาลจีนยอมรับว่า เขื่อนไตรผา เป็นสาเหตุให้เกิดมหันตภัยที่ร้ายแรงที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน ซึ่งนับเป็นการออกมายอมรับสภาพที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับรัฐบาลจีน เกี่ยวกับปัญหาของโครงการเขื่อนไตรผา หลังจากยกย่องมายาวนานว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
คณะรัฐมนตรีจีน ซึ่งทราบดีว่า เขื่อนไตรผานำมาซึ่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและระบบนิเวศน์ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธ(18พ.ค.) หลังการประชุมว่าด้วยโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในอนาคต ที่มีนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า เป็นประธานว่า ในขณะที่เขื่อนไตรผานำมาซึ่งผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่มหาศาล แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การโยกย้ายถิ่นฐานของประชาชนดำเนินไปด้วยความราบรื่น รวมถึงการป้องกันระบบนิเวศน์และหายนะทางธรณีวิทยา นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ การชลประทานและน้ำประปาอีกด้วย
เขื่อนไตรผา เริ่มสร้างเมื่อปี 2536 ด้วยมูลค่า 22,500 ล้านดอลลาร์ บนแม่น้ำแยงซี และได้ชื่อว่าเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อปี 2551 ทางการจีน ยกย่องโครงการนี้ เป็นแหล่งพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม แต่ก็ทำให้ประชาชนราว 1.4 ล้านคน ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแยงซี ที่ได้ชื่อว่ายาวที่สุดในจีน เพื่อเปิดทางให้กับการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ ที่ทำให้พื้นที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมหลายแห่งต้องจมอยู่ใต้น้ำ
ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ทางการจีน เตือนถึงอันตรายที่รออยู่เบื้องหน้า รวมทั้งดินถล่มและการไหลทะลักของโคลน อันมีสาเหตุมาจากอ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ที่จะสร้างปัญหาด้านมลภาวะ และทำลายคุณภาพน้ำอย่างสิ้นเชิง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลยอมรับว่า จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ ในการแก้ปัญหาความเสียหายของสภาพแวดล้อม รวมทั้งการบำบัดน้ำเสีย
ฝนที่ตกหนักจนทำเกิดน้ำท่วมหนัก เมื่อปี 2553 พัดพาเอาขยะและเศษซากอื่น ๆ จำนวนมหาศาลไหลลงแม่น้ำแยงซี ทำให้ต้องระดมคนไปทำความสะอาดครั้งใหญ่ ขณะที่สื่อรายงานว่า ขยะบางแห่งทับถมกันหนาแน่นในแม่น้ำจนสามารถเดินเหยียบได้ และอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันบริเวณเขื่อนด้วย