สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชุดตรวจสอบสารพิษที่ตกค้างในพืชผัก แบบพกพา

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

 

'ตกค้างในพืชผัก' แบบพกพา

เมื่อการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้สาร เคมีกำจัดศัตรูพืชได้อย่าง 100% ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะพืชผักที่ส่งออกไปยังต่างประเทศยิ่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสาร พิษตกค้าง เนื่องจากสินค้าพืชผักสดของไทยกำลังประสบปัญหาในการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า ที่ตั้งเงื่อนไขด้านสุขอนามัยพืชไว้สูงมาก ซึ่งถ้าเราไม่สามารถปฏิบัติตามกติกาของประเทศคู่ค้าก็จะส่งผลเสียต่อภาพรวม ของภาคเกษตรไทยได้ในอนาคต กรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแล ควบคุมระบบการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัย ได้มาตรฐานในระดับสากล และให้เป็นไปตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า จึงได้คิดค้นชุดตรวจสอบสารพิษตกค้างเบื้องต้น ที่สามารถตรวจสอบสารพิษตกค้างได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
   
นางอุดมลักษณ์ อุ่นจิตต์วรรธนะ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษ สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ผู้ประดิษฐ์ เครื่องตรวจสอบสารไซเปอร์เมทริน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการคิดค้นเครื่องมือตรวจสอบสารพิษตกค้างเบื้องต้นเริ่ม ตั้งแต่ปี 2546 เนื่องจากช่วงนั้นพบสารพิษตกค้างในกลุ่มไซเปอร์เมทรินในพืชผักจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการที่เกษตรกรใช้สารไซเปอร์เมทรินในการกำจัดศัตรูพืช จำพวกแมลงปากกัด ได้แก่ หนอนชนิดต่าง ๆ   โดยพบสารพิษตกค้างในผักกินใบทุกชนิด พริกขี้หนู  ถั่วฝักยาว และคะน้า ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ
   
ทั้งนี้ ทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดค่าความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล  สำหรับสารพิษตกค้างในพืชผัก ผลไม้ ต้องไม่เกิน 0.5 ppm. แต่มีบางประเทศเช่น ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ตั้งค่าความปลอดภัยไว้ที่ 0.1 ppm. ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากล
   
ชุดตรวจสอบสารไซเปอร์เมทริน ได้รับรางวัลชมเชยจากสภาวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.ในฐานะนวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงตั้งแต่ปี 2552 ทั้งนี้ ได้จดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบแปลงของกรมวิชาการเกษตร นำไปใช้ตรวจสอบสารพิษตกค้างในแปลงเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ แปลง GAP ของเกษตรกรก่อนออกสู่ผู้บริโภค รวมถึงตรวจสอบในแหล่งจำหน่าย พร้อมกับได้ขยายผลให้กรมส่งเสริมการเกษตรนำไปใช้ในการรับรองแปลง GAP และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช.นำไปตรวจผักและผลไม้ที่แหล่งผลิต แหล่งจำหน่ายในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย
   
นางอุดมลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุดตรวจสอบสารไซเปอร์เมทรินมีจุดเด่นคือ ใช้ง่าย สะดวก เห็นผลเร็วภายใน 15 นาที ซึ่งเกษตรกรหรือผู้ปฏิบัติงานสามารถนำไปใช้ตรวจสอบในแปลงได้ทุกที่ จึงช่วยให้ประหยัดเงินและเวลาในการส่งตัวอย่างเข้าตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ที่ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่นำตัวอย่างพืชผักที่ต้องการตรวจสอบมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ และใส่ในขวดสกัดตัวอย่างที่มีน้ำยาสกัดบรรจุอยู่ ปิดฝาขวดเขย่าให้เข้ากัน จากนั้นหยดตัวอย่างบนแผ่นตรวจ แล้วนำแผ่นตรวจจุ่มลงในขวดแยกสารที่มีของเหลวผสมอยู่ ทิ้งไว้สักครู่จึงนำแผ่นตรวจไปตากแดดประมาณ 10 นาที เสร็จแล้วนำมาแปรผลโดยเปรียบเทียบกับคู่มือที่อยู่ในชุดตรวจ ถ้าพบสารตกค้างไซเปอร์เมทริน จะพบจุดสีน้ำเงินบนแผ่นตรวจ ซึ่งชุดตรวจดังกล่าวสามารถตรวจสารพิษตกค้างเบื้องต้นได้ระดับต่ำสุดที่ 0.4 ppm.
   
หากเกษตรกรหรือหน่วยงานใดที่สนใจชุดตรวจสอบสารไซเปอร์เมทริน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2579-6123.

Tags :

view