จาก คมชัดลึกออนไลน์
คมชัดลึก : เป็นเรื่องแปลก...แต่จริง ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมายาวนาน แต่ไม่มีโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีสำหรับภาคเกษตรมาใช้เอง ต้องนำเข้าตลอด ทำให้เกษตรกรต้องควักกระเป๋าซื้อปุ๋ยที่นำเข้า ซึ่งนับวันจะมีราคาสูงขึ้น
ขณะที่ประเทศเวียดนามมีการสร้างโรงผลิตปุ๋ยเอง ที่เลวร้ายไปกว่านั้น มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังสับสนและมองว่า การใช้ปุ๋ยเคมีคือมหันตภัยต่อสุขภาพ เพราะทำให้สารเคมีตกค้าง ทั้งที่ในความเป็นจริงมีการยืนยันจากบรรดาเกจิหรือกูรูด้านปุ๋ยเคมีว่า การใช้ปุ๋ยเคมีในเกษตรจะไม่มีผลกระทบต่อร่างกายของผู้บริโภคผลผลิตแต่อย่างใด แต่ต้องใช้ให้ถูกวิธี มีความเหมาะสมทั้งปริมาณและระยะเวลา
ผลจากการสัมมนาหัวข้อ “อนาคตปุ๋ยไทยใช้อย่างไรให้ยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทย และสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้ ที่ผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ในแวดวงการปุ๋ยเคมี ทั้งตัวแทนรัฐบาล นักวิชาการ ภาคเอกชน และตัวแทนเกษตร ต่างยืนยันไปในทางเดียวกันว่า ปุ๋ยเคมียังมีความจำเป็นต่อภาคการเกษตร และสามารถใช้กับปุ๋ยอินทรีย์ได้ดีอีกด้วย
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันในระหว่างปาถกฐาพิเศษหัวข้อ "นโยบายการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเกษตรกรรม" ว่า แม้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ก็ตาม แต่ปุ๋ยเคมียังคงมีความจำเป็นในภาคการเกษตร ตราบใดที่ประเทศไทยยังเป็นประเทศเกษตรกรรม และสินค้าเกษตรไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลกหลายรายการ เพราะการใช้ปุ๋ยเคมีนั้น จะช่วยเพิ่มผลผลิตและให้ผลผลิตมีคุณภาพ แต่ต้องใช้อย่างถูกวิธี และสามารถใช้กับปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนเกษตรอินทรีย์นั้น เป็นพืชบางชนิด ที่สร้างเป็นจุดขาย
นายธีระกล่าวว่า มีแนวโน้มการใช้ปุ๋ยเคมีจะเพิ่มขึ้น อย่างปี 2554 จะอยู่ราวๆ 5.4 ล้านตัน ขณะที่ปี 2553 มีประมาณ 5.2 ล้านตัน ซึ่งแม้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่กระทรวงเกษตรฯ ยังคงดำเนินการให้องค์ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ให้เกิดความสมดุล ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพดิน เพื่อเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรได้ทางหนึ่ง เพราะปุ๋ยเคมีเป็นหนึ่งปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่สูงขึ้น อาทิ ใช้การปลูกข้าวนาปี 18% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ข้าวนาปรัง 16% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 21% และปาล์ม 41% ตรงนี้กระทรวงเกษตรฯ จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนต่อไป
"เพื่อเกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี ภารกิจของกระทรวงเกษตรฯ ที่ดำเนินการในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ด้าน ให้ประสบผลสำเร็จ คือ 1.จะแนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี (ใช้ปุ๋ยให้ถูกอัตรา ถูกปริมาณ ถูกเวลา) 2.จัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพให้เกษตรกร 3.กำหนดราคาปุ๋ยที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และ4.จัดหาปุ๋ยให้ถึงเกษตรกรตามเวลาที่ต้องการ" นายธีระ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.ทัศนี อัตตะนันทน์ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ นักปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ให้คำแนะนำว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย ที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ นั่นคือ การใช้ “ปุ๋ยสั่งตัด” คือใช้ปุ๋ยเคมีตามที่พืชต้องการ โดยผ่านการวิเคราะห์ว่า ในที่นั้นๆดินขาดธาตุอาหารประเภทใดก็ใช้ปุ๋ยตัวนั้นๆไป จะทำให้ไม่สิ้นเปลือง จากการดำเนินการมากว่า 10 ปี พบว่า ทำให้เกษตรกรลดค่าปุ๋ยในการผลิตข้าวถึง 47% ข้าวโพดลดได้ 7% แต่ผลผลิตเพิ่ม 30% และปุ๋ยสั่งตัดที่ว่านี้จะใช้กับพืชอื่นได้เช่นกัน ตรงนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องสนับสนุนด้วย คือเอกชนช่วยในด้านจัดหาแม่ปุ๋ย ภาครัฐต้องเผยแพร่ความรู้สู่เกษตรกรอย่างทั่วถึง เพื่อความหวังที่ว่า อนาคตเกษตรกรไทยจะต้องไม่ยากจนแน่นอน
สอดคล้องกับ ศ.ดร.สรสิทธิ วัชโรทยาน กรรมการผู้จัดการและเหรัญญิกมูลนิธิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีมีคุณสมบัติที่ดีคนละด้านและไม่สามารถทดแทนกันได้ แต่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ควรใช้ควบคู่กันอย่างเหมาะสม คือเกษตรกรต้องรู้จักปุ๋ยเสียก่อนว่าจะใช้ปุ๋ยอะไร ตรงกับอัตราหรือสูตรปุ๋ยที่ต้องการใช้หรือไม่ มีความสำคัญต่อพืชอย่างไร ต้องรู้จักใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม และอีกทางหนึ่ง เกษตรกรต้องรู้จักใช้ปุ๋ยให้คุ้มค่า ใช้ปุ๋ยให้ถูกชนิด ตามปริมาณ กาลเวลา และถูกวิธี ด้วย
นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทย ให้มุมมองว่า ปัจจุบันราคาปุ๋ยในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2553 สาเหตุมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตปุ๋ยยูเรียได้ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกับการเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่กระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร มีผลทำให้ความต้องการปุ๋ยในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าปุ๋ยของสูงขึ้น
"ภาครัฐออกนโยบายควบคุมราคาปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และชะลอการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตภาคการเกษตร นับเป็นโยบายที่ทำให้ภาคเอกชนประสบภาวะขาดทุน และต่อไปอาจกลายเป็นสถานการณ์ที่จะนำไปสู่ภาวะขาดแคลนปุ๋ยได้ ดังนั้นรัฐบาลควรปล่อยให้ราคาปุ๋ยเป็นไปตามกลไกตลาด จะทำให้แรงกดดันจากสถานการณ์ราคาปุ๋ยผ่อนคลายลง ผมงงจริงๆ บ้านเรามีธาตุโพแทสเซียมากมายในภาคอีสาน แต่กลับปล่อยทิ้งไป หากนำมาใช้จะทำให้ปุ๋ยในประเทศถูกลง" นายเปล่งศักดิ์ กล่าว
เช่นเดียวกับ นายทวีศักดิ์ สุทิน นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย ที่มองว่า เมื่อปุ๋ยเคมียังมีความจำเป็นต่อภาคเกษตร รัฐบาลควรจะประกาศความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการควบคุมราคาปุ๋ย เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถคาดการณ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและจัดหามาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบได้ ตอนนี้เป็นห่วงภาคเกษตรกรของไทย เพราะประเทศเพื่อนบ้านา อย่างเวียดนาม ได้พัฒนาการบริหารจัดการทางด้านการเกษตรไปค่อนข้างจะไกล มีการสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยเอง อนาคตจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของประเทศแน่นอน
ขณะที่ นายสุกรรณ สังขวรรณะ สมาชิกศิษย์เก่าดีเด่น องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เห็นด้วยที่จะให้รัฐบาลนำสารโพแทสเซียมมาใช้ เพราะจะทำให้ไทยมีวัตถุดิบมาใช้เอง และส่งผลให้ราคาถูกด้วย ต่อเมื่อเวียดนามผลิตปุ๋ยเอง ต้นทุนภาคเกษตรของเวียดนามต่ำลงทำให้สินค้าเกษตรไทยสู้เวียดนามไม่ได้ในตลาดโลก
"เกษตรกรควรทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับปุ๋ยว่า คือธาตุอาหารของพืช ปุ๋ยเคมีนั้นเป็นปุ๋ยที่มีหน่วยวัดของธาตุอาหารสูง ฉะนั้นต้องใช้อย่างถูกต้อง การที่ทำให้สภาพดินเสียไม่เกี่ยวกับปุ๋ยเคมี แต่เป็นเพราะเกษตรกรใช้ไม่ถูกวิธีนั่นเอง ใช้ไม่ตรงกับที่ดินต้องการ ตราบใดที่ชาวนาปลูกข้าวเป็นสินค้าส่งออกปุ๋ยยังมีความจำเป็นแน่นอน" นายสุกรรณ กล่าว
ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม แต่ไม่มีโรงงานผลิตเอง ต้องนำเข้าตลอดไป สิ่งที่ตามมาคือต้นทุนการผลิตภาคเกษตรไทยต้องสูงขึ้น แล้วจะนำสินค้าเกษตรไปสู้คู่แข่งได้อย่างไร
ดลมนัส กาเจ