สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สำรวจปลูกกาแฟภาคเหนือ พบ อาราบิก้า อนาคตสดใส

จาก คมชัดลึกออนไลน์

คมชัดลึก : เชียงใหม่ - แม่โจ้โพลล์เผยผลสำรวจเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอาราบิก้าเชียงใหม่-เชียงราย เผยตลาดต้องการสูง ทำเกษตรกรกว่า 81.1% เพิ่มพื้นที่ปลูก ขณะที่ร้อยละ 73.7 หวั่นเปิดเขตการค้าเสรีฯ กาแฟพันธุ์อาราบิก้ากระทบราคากาแฟไทย
 ว่าที่ ร.ต.ดร.สุรชัย กังวล ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า แม่โจ้โพลล์ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอาราบิก้าพื้นที่เชียงใหม่และเชียงราย จำนวน 95 รายต่อความคิดเห็นเรื่อง “กาแฟอาราบิก้าอนาคตสดใสในวงการกาแฟไทยจริงหรือ” เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ด้านการผลิต ปัญหา ข้อเสนอแนะ รวมถึงตลาดกาแฟสายพันธุ์นี้

 จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันตลาดมีความต้องการกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าสูง เกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 81.1 แต่พบว่าปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด มีร้อยละ 16.8 บอกไม่คิดปลูกเพิ่ม เพราะมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ขณะที่ร้อยละ 2.1 บอกว่าจะลดการปลูกลง เพราะต้องใช้แรงงานและระยะเวลาในการดูแลการผลิตมาก

 สำหรับเหตุผลในการปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ร้อยละ 32.6 ให้เหตุผลว่าสภาพพื้นที่เหมาะสม ร้อยละ 27.4 ระบุว่าสามารถขายได้ราคาสูง ส่วนปัญหา ร้อยละ 62.0 ระบุว่าหลักคือโรคแมลงและศัตรูพืช ร้อยละ 33.7 ระบุว่าต้นทุนการผลิตที่สูงและราคาขายไม่แน่นอน ร้อยละ 16.8 ระบุว่าปริมาณผลผลิตต่อไร่ต่ำและขาดแคลนแรงงาน ร้อยละ 12.6 ระบุว่าขาดเงินทุนและคุณภาพผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน

 ทั้งนี้ เกษตรกรร้อยละ 66.3 ระบุว่าไม่รู้ว่ากาแฟเป็นหนึ่งในรายการสินค้าที่ต้องลดภาษีนำเข้า ภายใต้ข้อตกลงการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน มีเพียงร้อยละ 33.7 ที่ทราบ ร้อยละ 73.7 ยอมรับว่าการเปิดเขตการค้าเสรีต่อกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าอาจส่งผลกระทบ เพราะไม่มีการประกันราคา และอาจส่งผลกระทบต่อราคากาแฟในประเทศ

 ขณะที่ร้อยละ 26.3 ระบุว่าไม่กระทบ เพราะกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้ามีคุณภาพดี มีความต้องการของตลาดในประเทศสูง และที่ผ่านมาเกษตรกรก็ขายได้ในราคาสูง

 ว่าที่ ร.ต.ดร.สุรชัย กล่าวอีกว่า เกษตรกรกว่าร้อยละ 50.5 อยากให้พัฒนาด้านสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย เพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ ร้อยละ 44.2 เห็นควรสนับสนุนด้านเงินทุน ปัจจัยการผลิต เพื่อลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร และควรพัฒนาด้านการเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น
       

Tags :

view