คมชัดลึก : เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2553 นับเป็นอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้งที่สร้างความเดือดร้อนให้คนไทยกว่า 4 แสนครัวเรือน สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมหาศาล จะเห็นได้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจในประเทศไทยเสียหายโดยรวมกว่า 7,700 ล้านบาท และในจำนวนนี้ภาคการเกษตรได้รับความเสียหายมากที่สุดถึง 2,600 ล้านบาท โดยเฉพาะพื้นที่ไร่นาที่ต้องจมอยู่ใต้บาดาลจนได้รับความเสียหายกว่า 7 แสนไร่ รองลงมาเป็นพืชไร่ พืชสวน และปศุสัตว์
นายสุรจิตต์ อินทรชิต รองอธิบดีกรมประมง ระบุว่า ตามที่ได้เกิดภาวะฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายจังหวัดของประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วม เท่าที่ได้รับรายงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม-20 ตุลาคม พื้นที่ประสบภัยพิบัติ 48 จังหวัด 227 อำเภอ รวมพื้นที่ได้รับความเสียหายภาคประมงทั้งหมด 54,647 ไร่ 12,060 ตารางเมตร แยกเป็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหาย 48,434 บ่อ กระชังเสียหาย 783 กระชัง มูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 424,008,759 บาท เกษตรกรได้รับผลกระทบ 41,659 ราย จากการสำรวจเบื้องต้น ในขณะนี้พบว่าจังหวัดซึ่งมีพื้นที่ประมงประสบภัยมากตามลำดับ ดังนี้ จ.สมุทรสาคร พื้นที่ประสบภัย 11,556 ไร่ จ.หนองบัวลำภู 9,240 ไร่ จ.นครราชสีมา 4,855 ไร่ จ.เชียงราย 2,669 ไร่ จ.ลพบุรี 2,075 ไร่" นายสุจิตต์ กล่าว
ด้าน นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งดำเนินธุรกิจการการเกษตร เปิดเผยว่า ธุรกิจด้านการเกษตรที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ประกอบด้วย ธุรกิจยางพารา ธุรกิจปาล์มน้ำมัน ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ธุรกิจพืชสวน และธุรกิจเครื่องจักรกล ณ วันนี้ได้รับผลกระทบประสบกับปัญหาจากอุทกภัยไม่มากนัก และธุรกิจอยู่นอกพื้นที่น้ำท่วม และที่สำคัญบริษัทมีระบบป้องกันอย่างดี มีการระบายน้ำดี
"ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืชต่างๆ เราส่งไปสู่แปลงปลูกของเกษตรกรก่อนหน้านี้แล้ว หากเกษตรกรผู้ปลูกได้รับความเสียหาย เราส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ส่วนกล้ายางพาราทำเลที่ตั้งของโรงเรือนอยู่ในเขตที่สูง ขณะที่ปาล์ม ที่เราผลิตกล้าปาล์มพันธุ์ซีพีเทเนอร่า โชคดีเพราะปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ทนต่อน้ำท่วมขัง ที่ประสบปัญหาบ้างคือธุรกิจเครื่องจักรกลโรงสีข้าว และเครื่องชีวมวล (Gasifie ) บางส่วนผลิตและติดตั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบบ้าง จากการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร เนื่องจากฝนตกติดต่อเนื่องประกอบกับมีน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ทำให้ไม่สามารถใช้เป็นทางผ่านลำเลียงเครื่องจักรไปยังพื้นที่และทำการติดตั้งได้ แต่ไม่มากนัก" นายมนตรี กล่าว
อุทกภัยน้ำท่วมใน ครั้งนี้ ไม่เพียงการสร้างความเสียหายให้พื้น ผลผลิตทางการเกษตรและสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรอย่างเดียว หากยังสร้างความเดือดร้อนกระจายไปในวงกว้าง รวมไปถึงผู้บริโภคไปทุกวงการ เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรหลายอย่างทั้งพืชผัก ผลไม้ ขาดแคลน และราพุ่งสูงกว่าเท่าตัว อย่างในตลาดไท อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของตลาดสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ปัจจุบันสินค้าเกษตรลดน้อยลงราว 30% ในขณะที่พืชผักหลายอย่างเริ่มขยับตัวขึ้น บางชนิดเกินกว่า 1 เท่าตัว
สุณา ทรงศรี แม่ค้าอารมณ์ดี เจ้าของแผงผักขายปลีกในตลาดไท หรือ "เจ๊ 38 " ซึ่งขายปลีกและส่งพืชผักสวนมา 13 ปีแล้ว บอกว่า สถานณ์น้ำท่ามปีนี้น่าเป็นห่วง เพราะกินพื้นที่หลายจังหวัด ทำให้พืชผักสวนครัวที่เกษตรกรนำไปขายในตลาดไท เดิมทีเต็มไปหมด ก็หากประเมินโดยสายตาหายไปราว 30% มีผักบางชนิดที่ราคาพุ่งขึ้นกว่าเท่าตัว เช่น ผักชีจากทั่วไปราคา กก.ละ 60-70 บาท ตอนนี้ขึ้นแล้วถึว กก.ละ 140 บาท ขื้นฉ่าย จาก กก.ละ 45-50 บาท ขึ้นมาเป็น กก.ละ 90-95 บาท เช่นเดียวกับต้นหอม จากเดิมที่ กก.ละ 20 มาเป็น กก.35 บาท เป็นต้น
"เป็นอย่างนี้ทุกปี พอถึงหน้าฝนพืชผักเริ่มมีราคาแพงขึ้น เพราะคนที่ปลูกตามที่ราบลุ่มก็ประสบน้ำท่วม เหลือแต่ที่ปลูกพื้นที่เนินก็มีไม่มากนัก ราคาจึงสูง อย่างกะหล่ำปลี ก็ไม่มีปัญหา เพราะแม้ปลูกตามดอยสูง ราคายังปกติ หรือสูงบ้างลดลงน้อย แต่ปีนี้พอไหวค่ะ เมื่อ 2 ปีที่แล้วหนัก ผักชีราคาส่ง กก.ละ 400 บาท ปีนี้คิดว่าไม่น่าจะถึง เพราะเห็นแล้วน้ำท่วมและไหลไปอย่างรวดเร็ว" สุณา กล่าว
รายงานข่าวจากตลาดไท แจ้งว่า การที่ช่วงนี้พืชผักที่เกษตรกรนำไปขายในตลาดไทลดลงเพียง 30% เกิดมาจาก เกษตรกรเตรียมตัวทัน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลลงลงมาคอยขยับจากบนลงมา ไม่ได้ท่วมพร้อมกัน เกษตรกรจึงเก็บพืชผักไปขายทัน แต่หลังจากที่น้ำลดไปแล้ว พืชผักอาจน้อยกว่า เพราะส่วนใหญ่เกษตรกรเก็บไปแล้ว อีกส่วนประสบกับน้ำท่วม หากเกษตรกรรีบปลูกพืชอย่างชนิดที่โตเร็ว อย่างผีกชี ต้นหอม ใครเก็บก่อนยังมีโอกาสที่จะได้ราคาสูงด้วย
สถานการณ์ด้านราคาสินค้าตลาดไทในสัปดาห์นี้ (22-29 ต.ค.) สินค้าเกษตรประเภทผัก ได้รับความเสียหายจากภาวะฝนตกและน้ำท่วมหนัก ในหลายพื้นที่ ผักหลายชนิดถือว่ามีราคาสูง เพราะจำนวนผลผลิตที่เข้ามาสู่ท้องตลาดมีจำนวนลดน้อยลง เช่น แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว พริกขี้หนูสวน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ ราคาถึงจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ส่วนราคาสินค้าเกษตรประเภทผลไม้ จำพวก เงาะโรงเรียนมีการปรับราคาขึ้น 4-5 บาทต่อกก. มังคุดลาย ปรับขึ้น 3-5 บาทต่อกก. เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดน้อยลงเพราะเข้าสู่ช่วงปลายฤดูของผลผลิต จึงทำให้มีราคาสูงขึ้น มะพร้าวแก่ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีการปรับขึ้นราคาสูงมาก เนื่องจากช่วงนี้ผลผลิตขาดช่วง ทำให้ปริมาณการเข้าสู่ท้องตลาดลดน้อยลง ด้านผลไม้ต่างประเทศที่น่าสนใจในรอบสัปดาห์นี้ คือ ลูกพลับจีน กล่องละ 300 บาท ขณะที่ราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ไก่โดยเฉพาะเบอร์ใหญ่ (เบอร์ 0) ที่มีการปรับราคาขึ้นประมาณ 10 สตางค์ต่อฟอง เพราะมีปริมาณการเข้าสู่ตลาดน้อยลง
ก็น่าจับตามองว่า หากสถานการณ์น้ำท่วมยืด เยื้อ และลามพื้นที่มากกว่าที่เป็นอยู่โอกาสที่จะสร้างความเสียหายแก่ภาคเกษตร และราคาสินค้าอาจจะพุ่งสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อีกหลายรายการอย่างแน่อน
ช่วยทำตาราง ด้วย
สินค้า ราคาปัจจุบัน ราคาเปรียบเทียบ หมายเหตุ
ถั่วฝักยาว 40-50 20-25 สัปดาห์ก่อน
มะเขือเปราะ 20-24 10-12 สัปดาห์ก่อน
พริกขี้หนูสวนเม็ดเล็ก 120 70 สัปดาห์ก่อน
แตงกวาอ่อน 20-24 12-14 เฉลี่ยเดือนสิงหาคม 53
ใบกะเพรา 35-40 20-25 สัปดาห์ก่อน
มะพร้าวแก่ 22-25 12-15 เฉลี่ยเดือนสิงหาคม 53
เงาะ 25-28 20-24 สัปดาห์ก่อน
มังคุด 18-25 14-20 สัปดาห์ก่อน
ไข่ไก่ 2.7-3.5 2.7-3.4 สัปดาห์ก่อน
ที่มา - ฝ่ายส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท)
ตลาดสด กทม.ยังปกติ
ในส่วนของขายปลีก เนื้อสัตว์-อาหารสด, ผัก-ผลไม้ใน ตลาดกรุงเทพมหานคร สิ้นสัปดาห์ที่แล้ว กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระเมินภาพรวมพบว่ายังขายราคายังปกติ ปริมาณสินค้าออกสู่ตลาดยังเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค อาทิ เนื้อสัตว์-อาหารสด สุกรชำแหละเนื้อแดง 100-105 บาทต่อกก. สุกรชำแหละเนื้อสามชั้น 100-110 บาทต่อกก. เนื้อโคธรรมดา 115-120 บาทต่อกก.เนื้อโค สันนอก-สะโพก 125-130 บาทต่อกก.ไก่สด (ไม่รวมเครื่องใน) 65-66 บาทต่อกก.
ไก่สดชำแหละ (น่องติดสะโพก) 60-62 บาทต่อกก. กุ้งขาว 140-160 บาทต่อกก. ปลาทูสด 65-80 บาทต่อกก.ปลาทูนึ่ง เข่งละ 20-25 บาท ปลาช่อนสด 110-120 บาทต่อกก. ปลาดุกบิ๊กอุย 55-60 บาทต่อกก.ปลานิล 70-80 บาทต่อกก. ไข่เป็ดสด (กลาง) 3.90-4.00 บาทต่อฟอง ไข่ไก่สด (เบอร์ 2) 3.00-3.10 บาทต่อฟอง ไข่ไก่สด (เบอร์ 3) 2.90-3.00 บาทต่อฟอง ข้าวหอมมะลิ (บรรจุถุง) 5 กก.180-195 บาทต่อถุง และข้าวขาว 100% (บรรจุถุง) 5 กก.140-150 บาทต่อถุง
หมวดผัก-ผลไม้ ผักคะน้า 35-38 บาทต่อกก. ผักบุ้งจีน 22-25 บาทต่อกก. กะหล่ำปลี 15-18 บาทต่อกก. กวางตุ้ง 20-22 แตงกวา 22-25 บาทต่อกก. มะเขือเทศผลใหญ่ 15-18 บาทต่อกก. ถั่วฝักยาว 45-50 บาทต่อกก. ฟักเขียว 8-10 บาทต่อกก. ผักชี 12-13 บาทต่อขีด ต้นหอม 8-9 บาทต่อขีดมะนาว (เบอร์1-2) 2.00-2.50 บาทต่อผล มะนาว (เบอร์ 3-4) 1.25-1.50 บาทต่อผล และพริกขี้หนู(จินดา) 4.00-5.00 บาทต่อขีด
สำหรับผลไม้ ส้มเขียวหวาน 40-45 บาทต่อกก. มะละกอแขกดำ 30-35 บาทต่อกก. ฝรั่งสาลี่(คละ) 25-30 บาทต่อกก. ฝรั่ง (คัด) 30-35 บาทต่อกก. กล้วยไข่ (ใหญ่) 25-30 บาทต่อหวี กล้วยน้ำหว้า 25-30 บาทต่อหวี เงาะโรงเรียน 30-40 บาทต่อกก. ลองกอง (เบอร์ บี) 30-35 บาทต่อกก. และน้อยหน่า 30-40 บาทต่อกก.
โต๊ะข่าวเกษตร