คมชัดลึก :น้ำ ท่วมทำราคาผักกระฉูด ชาวบ้านอ่วม ผักชี กก.ละกว่า 300 บาท กรมการค้าภายในระบุผักสดเข้าสู่ตลาดลดลง 10-30% ราคาปรับขึ้นเฉลี่ย 10-20% ผักชี-ต้นหอม-ผักกาดหอม ขึ้นสูงสุด 50% ตั้งศูนย์เฝ้าระวังติดตามราคาใกล้ชิด นำผักจากแหล่งน้ำไม่ท่วมขายตลาดไท-สี่มุมเมือง นายกฯ กำชับพาณิชย์ระงับแผนระบายข้าวในสต็อก ขณะที่ "พรทิวา" ยันไม่มีปัญหาข้าวขาดแคลน สั่งสต็อกไว้กินในประเทศแล้ว 1 ล้านตัน เอฟเอโอชี้เสี่ยงเกิดวิกฤติอาหารแพงทั่วโลก
ปัญหาน้ำท่วมนอกจากจะสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัยแล้ว ยังส่งผลกระทบให้ราคาผักสดแพงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ผู้สื่อข่าวออกสำรวจราคาผักสดที่ตลาดสดรังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ปรากฏว่า ผักหลายชนิดมีราคาแพงขึ้นมากกว่าช่วงเทศกาลกินเจหลายเท่า สาเหตุหลักเนื่องมาจากพื้นที่ปลูกผักในหลายๆ จังหวัดถูกน้ำท่วมจนเสียหาย
นางธมณวรรณ ประดิษฐาน หรือเจ๊พร อายุ 47 ปี แม่ค้าผักสดตลาดรังสิต กล่าวว่า ผักที่แพงที่สุดในตลาดคือผักชี ราคาส่งจากตลาดไท อยู่ที่กิโลกรัมละ 240 บาท ถึง 270 บาท แม่ค้าก็ต้องมาขายกิโลกรัมละ 300 กว่าบาท ซึ่งในช่วงกินเจ ผักชีราคาส่งอยู่ที่ประมาณ 100 กว่าบาทเท่านั้น ส่วนต้นหอมก็มีราคาแพงขึ้นจากเดิมมัดละ 55 บาท ตอนนี้ราคาส่งมัดละ 70 บาท ส่วนสาเหตุที่มีราคาแพงขึ้นนั้น น่าจะมาจากสวนผักในหลายๆ จังหวัดประสบปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งการขนส่งก็ยากลำบาก ทำให้ปริมาณผักเข้าสู่ท้องตลาดน้อยลงจึงเป็นสาเหตุให้ราคาแพงขึ้น
นางหมวย แซ่ลิ้ม แม่ค้าผักอีกรายหนึ่งกล่าวว่า ตอนนี้ใบกะเพรา โหระพา ก็มีราคาแพงเช่นกัน ราคาส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาทแล้ว จากเดิมอยู่ที่ราคา 30-40 บาท แม้แต่ผักบุ้งจีน ซึ่งปกติราคาจะถูก แต่ตอนนี้ราคาส่งอยู่ที่มัดละ 40 บาท สาเหตุเพราะแหล่งปลูกนั้นถูกน้ำท่วม
ด้านนางสุดาลักษณ์ พยัฆเทพินทร์ ผู้บริหารตลาดสดรังสิต กล่าวว่า ราคาผักสดบางชนิดสูงกว่าช่วงเทศกาลกินเจ สาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่พื้นที่ทางการเกษตรหลายแห่งถูกน้ำท่วม ซึ่งทางตลาดก็พยายามขอความร่วมมือจากพ่อค้าแม่ค้าควบคุมราคาไม่ให้สูงมากนัก เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมไม่ต้องมาเดือดร้อนจากราคาพืชผักแพงอีกด้วย
ขณะที่ประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของในตลาด กล่าวว่า ช่วงนี้ราคาผักขยับขึ้นสูงมาก จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาให้ด้วย
เจ้าของร้านอาหารรายหนึ่ง เปิดเผยว่า จากการจับจ่ายซื้อผักในตลาดปทุมธานี พบว่าราคาสูงขึ้นมาก ใบโหระพาขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 80 บาท ทำให้เจ้าของร้านอาหารบางแห่งต้องปรับราคาอาหารที่จำหน่ายเพิ่มขึ้นตามไป ด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าของบางแห่งก็ยังไม่มีการปรับราคาอาหารเนื่องจากเกรงว่าจะเสียลูกค้า เพราะช่วงนี้สถานการณ์โดยทั่วไป ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วม ดังนั้น จึงไม่อยากซ้ำเติมผู้บริโภคอีก
ขณะที่นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จากการสอบถามสถานการณ์ราคาผักจากผู้ประกอบการตลาดสดในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าขณะนี้ผลผลิตผักสดในภาพรวมเข้าสู่ตลาดลดลง 10-30% เนื่องจากเหตุน้ำท่วม ส่งผลให้ราคาพืชผักโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 10-20% จากราคาปกติ แต่จะมีผักบางรายการเช่น ผักชี ต้นหอม และผักกาดหอม ซึ่งเป็นผักที่อยู่ในกลุ่มอ่อนไหวพบว่าราคาสูงขึ้นเฉลี่ย 50% อย่างไรก็ตาม รายงานราคาดังกล่าวยังต่ำกว่าในช่วงเทศกาลกินเจที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคา ปกติ 30-40%
“หากฝนไม่ตกซ้ำ สถานการณ์ราคาผักน่าจะคลี่คลายลงได้อีกราว 2 สัปดาห์ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม กรมได้ตั้งศูนย์เฝ้าระวังผักสด เพื่อติดตามราคาผักอย่างใกล้ชิดเป็นรายวัน ทั้งเตรียมพร้อมมาตรการในการเชื่อมโยงสินค้าระหว่างฝั่งตลาดไทกับปากคลอง ตลาด เพื่อบรรเทาปัญหาผักมีราคาแพงได้”
ด้านนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือร่วมกับผู้จัดการตลาดสด ตลาดกลาง เกี่ยวกับปัญหาผักแพงจากภาวะน้ำท่วมแหล่งผลิตว่า ภาวะน้ำท่วมส่ง ผลกระทบทำให้ผลผลิตผักสดเสียหายประมาณ 30% ทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผักชีปรับเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละเกือบ 200 บาท ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักคะน้า แตงกวา ถั่วฝักยาว ราคาปรับตัวสูงขึ้น ประมาณ 3-5 บาท และบางพื้นที่สูงถึง 10 บาท เมื่อเทียบกับช่วงก่อน แต่ผักกะหล่ำและผักกาดขาวยังมีราคาถูกเพราะพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้ถูกน้ำท่วม จึงได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเข้าเชื่อมโยงตลาดโดยนำผักสดจากแหล่งผลิตใน ตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี มาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคที่มีปัญหา ผ่านทางตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง เป็นต้น โดยสามารถดำเนินการได้ทันที
รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงข้าวสารบรรจุถุงว่า ยังไม่มีปัญหาขาดแคลนและราคาไม่ได้ปรับสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลยังมีสต็อกเหลือจำนวนมาก ซึ่งหากพบว่าข้าวสารบรรจุถุงในตลาดมีราคาแพงขึ้นรัฐบาลพร้อมที่จะนำข้าวสาร ราคาถูกออกจำหน่าย ส่วนในพื้นที่น้ำท่วมประชาชน ที่เดือดร้อนสามารถประสานขอรับบริจาคข้าวสารมายังกระทรวงพาณิชย์ได้ โดยขณะนี้มีข้าวสารบรรจุถุงเตรียมไว้สำหรับแจกจ่ายประชาชนที่เดือดร้อนกว่า 3 ล้านถุง ขนาดบรรจุถุงละ 4 กก. ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยแจกไปกว่า 2 จังหวัดแล้ว
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีออกมาระบุว่าให้ชะลอการขายข้าว เพราะเกรงปัญหาผลผลิตเพื่อการบริโภคภายในจะขาดแคลนนั้น นางพรทิวา ชี้แจงว่าขณะนี้กระทรวงพาณิชย์มีการกันสำรองสต็อกเพื่อการบริโภคภายในไว้ แล้ว 1 ล้านตัน ปัญหาขาดแคลนคงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลจะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีรัฐบาลหลายประเทศสนใจสั่งซื้อข้าวขาว 5% ในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลจากไทย จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเรื่องราคา
นพ.มารุต มัสยวาณิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในที่ประชุมครม.ว่า จากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่อาจกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะการปลูก ข้าว จึงสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ระงับแผนการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล โดยมอบหมายให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบปริมาณข้าวในสต็อกของรัฐบาล เพื่อแจ้งแผนการดำเนินการกับข้าวปริมาณดังกล่าวว่าควรบริหารจัดการอย่างไร ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แจ้งต่อที่ประชุมว่า หากหน่วยงานภาครัฐในกระทรวงต่างๆ ต้องการนำข้าวไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมให้ประสานมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือประชาชนต่อไป
ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร รองประธานกรรมการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินการตามนโยบายรัฐ เปิดเผยว่า อคส.ได้รับรายงานว่ามีคลังสินค้าที่รับฝากข้าวสต็อกรัฐ 2 แห่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเข้า พื้นที่เก็บข้าวชั้น 1 และชั้น 2 จนเน่าและส่งกลิ่นเหม็นแล้ว ทางอคส.จึงเห็นควรให้มีการโอนย้ายข้าวจากทั้ง 2 คลังสินค้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณในการขนย้ายประมาณ 30 ล้านบาท จึงต้องการเสนอขอให้รัฐบาลช่วยจัดงบประมาณเพื่อบรรเทาความเสียหายดังกล่าว
สำหรับคลังสินค้าที่รายงานความเสียหายเข้ามาในขณะนี้ ได้แก่ บริษัทวิจิตรการค้า จำกัด อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 470,640 กระสอบ และคลังสินค้า บริษัทโรงสีไฟสามัคคีกิจธัญญา จำกัด จ.ชลบุรี จำนวนกว่า 3 แสนกระสอบ ส่วนคลังสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมเช่นกันนั้น ยังไม่มีรายงานความเสียหาย
นายอับโดลเรซา อับบาสซิน ผู้เชี่ยวชาญแห่งองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) แสดงความกังวลว่าราคาอาหารในโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจในลักษณะเดียวกันกับ ช่วงปี 2551 ที่โลกเผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและอาหารขาดแคลน โดยตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมาราคาอาหารในโลกพุ่งสูงขึ้น มาโดยตลอด
ดัชนีราคาสินค้าอุปโภคของรอยเตอร์-เจฟเฟอรรี่ส์ ชี้ว่าราคาข้าวสาลีและข้าวโพดพุ่งสูงขึ้นเกือบ 30% ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์พุ่งสูงขึ้นเป็นสถิติใหม่ในรอบ 20 ปี ขณะที่ในสัปดาห์ที่แล้วสหรัฐอเมริกาได้ประเมินผลผลิตข้าวสาลีทั่วโลกจะต่ำ กว่าปริมาณผลผลิตในปีที่แล้ว 5.5% หรือประมาณ 30 ล้านตัน ส่วนราคาอาหารประจำวัน เช่น มะเขือเทศในอียิปต์ กระเทียมจีน และขนมปังในปากีสถานพุ่งสูงขึ้นเกือบทำสถิติใหม่
นายโรเบิร์ต โซลลิค ประธานธนาคารโลก กล่าวว่า หลายประเทศมีความกังวลว่าปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดวิกฤติราคาอาหารและความไม่แน่นอนในตลาดอาหารยังคงดำเนินไปอย่าง ต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารโลกประเมินว่าสถานการณ์ความผันผวนของราคาอาหารโลกจะยังคงดำเนิน ต่อไปในช่วง 5 ปีข้างหน้า และเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ สมทบเงินเข้ากองทุนป้องกันวิกฤติในประเทศยากจนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (3 หมื่นล้านบาท)
ขณะที่นายดาวินเดอร์ ชาร์มา นักวิเคราะห์สถานการณ์อาหารเชื่อว่าเหตุการณ์จลาจลแย่งชิงอาหารในโมซัมบิก ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย อาจเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศในช่วงไม่กี่ปีต่อจากนี้ โดยชี้ว่าปัจจัยปัญหาสำคัญคือการปรับตัวของราคาอาหารที่ทำให้ราคาอาหารแพง ขึ้นในปัจจุบัน ทั้งที่ปริมาณผลผลิต และปริมาณสำรองอาหารในประเทศต่างๆ สูงกว่าระดับผลผลิตและปริมาณสำรองอาหารในช่วงวิกฤติที่เกิดขึ้นในปี 2551