ในหลวงทรงห่วงวิกฤติน้ำท่วม
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
“ในหลวง” ทรงห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม พระองค์ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
“ดร.สุเมธ” เผย “ในหลวง” ทรงห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ระบุพระองค์ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ชี้ที่ผ่านมาทรงเคยเตือนอย่ารังแกธรรมชาติให้มาก เพราะจะโดนธรรมชาติเอาคืน พระเทพฯ พระราชทานถุงยังชีพช่วยเหลือชาวอยุธยา ด้านนายกฯ ตื่นตั้งศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อน้ำท่วม มอบ "อภิรักษ์" เป็นประธาน บูรณาการแก้ไขปัญหา "สมิทธ" อัดศูนย์เตือนภัยฯ ไม่ทำหน้าที่ พ่อเมืองโคราชเตรียมเชือดนักการเมืองท้องถิ่นกักตุนสิ่งของ แจกเฉพาะพื้นที่ฐานเสียง ลักไก่เบิกผ่านงบ อปท.
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เปิดเผยวานนี้ (23 ต.ค.) ถึงสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในขณะนี้ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องน้ำที่คนไทยได้รับผลกระทบทั้งจากภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง ทั้งหมดอยู่ในความสนพระราชหฤทัยของพระองค์ และจะเห็นได้ว่าแต่ละจุดแต่ละพื้นที่ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จฯ ประทับโรงพยาบาลศิริราช ทรงสั่งลงมายังหน่วยงานต่างๆ พยายามพระราชทานคำเสนอแนะต่างๆ และกลไกต่างๆ ก็เดินไปได้ด้วยดี มีการประสานงานกันทุกหน่วยราชการ เพราะน้ำเกี่ยวข้องกับองค์กรจำนวนมาก น้ำก้อนเดียวอาจจะผ่านเหนือจรดใต้ ฉะนั้นการประสานงานเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่มีความสำคัญมาก
"ที่ผ่านมาหลายปีก่อนที่มีน้ำทะลักเข้ามาก้อนใหญ่ทุกคนก็เฉย แต่เมื่อพระองค์ท่านอดทนไม่ไหวก็เลยรับสั่งเรียกหน่วยงานต่างๆ มาประชุม และทรงถามว่าน้ำเดินทางเท่าไหร่ ระยะเวลาเท่าไหร่ แต่ละชั่วโมงมาถึงไหน เพื่อวางระบบการเตือนภัยให้ทันท่วงที แต่ครั้งนี้ความรู้สึกของผม รัฐบาลอาจจะทำอยู่แล้ว แต่จุดศูนย์กลางมองไม่ค่อยออก แม้ว่าแต่ละหน่วยจะพยายามทำเต็มที่ตามที่เห็น"
ดร.สุเมธ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจะต้องประสานความร่วมมือหลายหน่วย ถ้าวางแผนดีๆ และใช้ข้อมูลที่ดีจัดการบริหาร ปัญหาก็จะทุเลา ทั้งนี้ต้องเรียนให้ทราบว่าเท่าที่ติดตามมานาน แม้ว่าตนจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ แต่เรื่องธรรมชาติเรามีความเป็นห่วงไม่รู้จะสู้อย่างไร เพียงแต่จะต้องปรับตัวเข้าหาธรรมชาติ และบริหารทำให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุด และพร้อมกันนั้นก็มีประโยชน์ให้แก่เรา แม้ว่าจะทำร้ายเรา หรือทำความยากลำบากให้เรา แต่ก็เป็นประโยชน์ ดังนั้นจุดกลางที่จะต้องเก็บไว้เท่าไหร่ ปล่อยเท่าไหร่ จะต้องคำนวณให้ละเอียด และจะต้องฝากไปอีกจุดหนึ่งส่วนของธรรมชาติที่จะต้องซึมซับเอาไว้คือป่าและพื้นที่โดยธรรมชาติ โดยระบบที่มีอยู่แล้ว และรู้กันว่าเราทำลายกันอยู่ทุกวัน ทั้งเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าทำให้ฟองน้ำธรรมชาติหดหายไป และปล่อยให้น้ำไหลมาเป็นจำนวนมาก และเก็บไว้ไม่ไหว
"การแก้ไขปัญหาจะต้องมีศูนย์เผชิญวิกฤติ ไม่ว่าจะวิกฤติทางด้านสังคม การเมือง หรือ เศรษฐกิจ จะต้องระดมกำลังและมีศูนย์กลางประสานงาน อย่างไรก็ตาม การที่มีศูนย์กลางตรงนี้ขึ้นมามันไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย แต่จะช้าหรือเร็วมันก็ดีกว่า ตอนนี้ก็มีการประสานงานกันของแต่ละหน่วยงานตามส่วนราชการต่างๆ เหมือนกับยามศึกก็จะต้องมีกองบัญชาการรวมตั้งขึ้นมาแก้ไขปัญหา โดยมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ละจุดจะต้องบูรณาการ" ดร.สุเมธ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลทันท่วงทีหรือไม่ ดร.สุเมธ กล่าวว่า ไม่รู้ แต่มูลนิธิชัยพัฒนารอจังหวะที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชน และที่มูลนิธิชัยพัฒนายังไม่ได้เข้าไปเพราะพระองค์ท่านแบ่งภารกิจ โดยให้ทางราชประชานุเคราะห์ฯ เข้าไปดูแลก่อน โดยจะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการบรรเทาเบื้องต้น แต่พอน้ำลดก็จะเข้าไปร่วมกันฟื้นฟู เพราะจะมีปัญหามากทั้งส่วนไร่นา
"ส่วนกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงเรื่องน้ำท่วมโรงพยาบาลนั้น ตอนนี้โรงพยาบาลหลายแห่งเกิดน้ำท่วม ทำให้เกิดความยากลำบากของประชาชนที่จะไปรักษาตัวจากอาการเจ็บป่วย รวมถึงการย้ายคนป่วย คนเจ็บ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งผ่านนายดิสธร วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ให้พยายามกั้นไม่ให้น้ำใหม่เข้าไป ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้โรงพยาบาลสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้" เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าว
“ตอนผมไปถวายงานกับพระองค์ท่านหลายสิบปีแล้ว พระองค์ท่านทรงเตือนพวกเราว่าระวังนะ อย่าไปรังแกธรรมชาติ หากไปรังแกมากๆ เขาจะโกรธเอาและเขาจะทำร้ายเรา ซึ่งก็เป็นจริงตลอด เรื่องพวกนี้เราถูกเตือนหมดแล้ว น้ำ ลม พายุ เฉียดบ้านเราไป เหลือเพียงแต่ไฟยังไม่เกิดขึ้น แต่ประเทศที่มีภูเขาไฟถูกเตือนหมดแล้ว สิ่งที่เราเรียกร้องให้รักษาแผ่นดิน ให้รักษาชาติบ้านเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งนี้พระราชกรณียกิจ 60 กว่าปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟทั้งนั้น คือรักษาแผ่นดินเพื่อให้พวกเรามีชีวิตอย่างผาสุก ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็คือชีวิตเราที่จะต้องรักษา หากไม่รักษาก็จะส่งผลกระทบ” ดร.สุเมธ กล่าว
ดร.สุเมธ กล่าวด้วยว่า พระองค์ทรงติดตามและดูแผนที่อยู่ทุกวันแทนที่จะมองไปที่พระองค์ท่าน อย่าเอาภาระไปใส่พระองค์ เราจะต้องเหลียวกลับมาดูว่าเราแต่ละคนควรทำอย่างไร การรักษาแผ่นดินเป็นหน้าที่ของทุกคนไม่ใช่พระองค์อย่างเดียว
พระเทพฯ พระราชทานถุงยังชีพช่วยอยุธยา
วันเดียวกัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและนักเรียนนายร้อย เป็นผู้แทนพระองค์นำถุงยังชีพและของพระราชทานมอบแก่ประชาชนในเขตหมู่ 1-3 ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกน้ำท่วมอย่างหนักสูงกว่า 2 เมตร และเส้นทางเข้าออกชุมชนถูกตัดขายทั้งหมด ชาวบ้านต้องพายเรือข้ามบ่อทรายเพื่อมาที่จุดถนนคันคลองชลประทาน ระยะทางกว่า 1 กม. เพื่อเป็นเส้นทางเข้าออกชุมชน อย่างไรก็ตามพบว่าพื้นที่ อ.บางบาล ยังมีระดับน้ำท่วมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มไหลบ่าล้นถนนคันคลองชลประทานในหลายจุดเข้าทุ่งนาแล้วเช่นกัน
นายกฯ ตั้ง "อภิรักษ์" คุมศูนย์กู้วิกฤติน้ำท่วม
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังกลับจากตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.ชัยภูมิ ว่า ในวันที่ 24 ต.ค.นี้ จะไปตรวจพื้นที่ตามแนวกันน้ำ เพราะคาดว่าสถานการณ์จะน่าเป็นห่วงที่สุดในช่วง 3-4 วันนี้ ซึ่งตนได้หารือกับนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และจะมีการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีตั้งคณะทำงาน ที่น่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในวันที่ 25 ต.ค. โดยศูนย์ดังกล่าวจะเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานต่างๆ ที่จะทำให้การทำงานมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น และเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว
นายอภิรักษ์ กล่าวถึงศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า จะเป็นศูนย์ที่เชื่อมโยงเพื่อการบูรณาการในการแก้ไขปัญหา โดยการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
"สมิทธ" อัดศูนย์เตือนภัยฯ ไม่ทำหน้าที่
นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปีนี้ ส่งผลให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมในหลายๆ จังหวัดว่า น้ำในปีนี้ไม่ถือว่ามากผิดปกติ และไม่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่การบริหารจัดการเรื่องน้ำไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีการจัดการที่ดีกว่านี้
“ผมไม่เห็นศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติออกมาเตือนเลย มีแต่กรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยาที่เตือน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะทราบได้อย่างไร ระบบก็ทำไปแล้วตั้งหลายร้อยล้าน ไม่เห็นออกมาแจ้งเตือน ผู้เชี่ยวชาญที่รับไปก็ไม่มีความรู้ความชำนาญเลย ประสิทธิภาพในการเตือนภัยก็เลยไม่มี”
"ฮิลลารี-ลาว" ส่งสารเเสดงความเสียใจ
นายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดต่างๆ ของประเทศว่า สหรัฐอเมริกาส่งเงินมาช่วยเหลือ 5 หมื่นดอลลาร์ผ่านสภากาชาดไทย พร้อมกันนี้นางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้ส่งสารแสดงความเสียใจมายังไทยแล้ว ขณะเดียวกันมีหลายประเทศที่ส่งสารแสดงความเสียใจต่อเหตุผู้เสียชีวิตในพิบัติภัยน้ำท่วมมายังไทยแล้วเช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
เจ้าพระยาเอ่อท่วมตลาด-วัดที่ปทุมฯ
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมตามจังหวัดต่างๆ นั้น ที่ จ.อ่างทอง ระดับน้ำที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่ถูกน้ำท่วมสูง โดยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง อยู่ที่ระดับ 8.35 เมตร ซึ่งสูงกว่าจุดวิกฤติถึง 1.50 เมตร ได้กัดเซาะซึมผ่านกำแพงเขื่อนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา บางจุดก็ทะลุขึ้นใต้ดินทำให้ไหลเข้าบริเวณตลาดอ่างทอง ระดับน้ำสูงกว่า 20 เซนติเมตร ประชาชนที่อยู่ในละแวกดังกล่าวต้องตั้งเครื่องสูบน้ำที่ไหลเข้าบ้านเรือน นอกจากนั้นบริเวณฝั่งศาลากลางน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาก็ผุดใต้ฐานคอนกรีตไหลเข้าตัวศาลากลาง เทศบาลเมืองอ่างทองต้องระดมกำลังกรอกกระสอบทรายและตั้งเครื่องสูบน้ำสูบออกตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน จ.ปทุมธานี กระสอบทรายที่ใช้กั้นริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าตลาดสดเทศบาลเมืองปทุมธานี พังทลายเป็นแนวยาว 4-5 เมตร ทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลทะลักเข้าท่วมอาคารพาณิชย์ ร้านค้าต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นสูงประมาณ 1 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องระดมใช้เครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน
ส่วนย่านแสนแสบ เขตมีนบุรี กทม.ซึ่งมีประชาชนประมาณ 1 หมื่นหลังคาเรือน ขณะนี้มีบางส่วนได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในคลองลำไทร ซึ่งไหลจากคลองแสนแสบเพิ่มระดับสูงขึ้นเข้าไปในบ้าน บางหลังน้ำท่วมถึงชั้น 1 ของบ้าน ต้องย้ายสิ่งของและไปพักอาศัยบนชั้น 2 ของบ้าน ส่วนแขวงลำต้อยติ่ง เขตหนองจอก น้ำจากคลองแสนแสบไหลเข้าคลองลำต้อยติ่งทำให้ระดับน้ำสูงจนล้นตลิ่งขึ้นท่วมถนน ชาวบ้านบอกว่าไม่เคยมีน้ำท่วมสูงขนาดนี้
โคราชเชือดนักการเมืองท้องถิ่นตุนของ
นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย ว่า ความเสียหายได้ขยายวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด รวม 32 อำเภอ 287 ตำบล 3,743 หมู่บ้าน 91,501 ครัวเรือน ประชาชนกว่า 5 แสนคนเดือดร้อน พื้นที่เกษตร 452,143 ไร่ และสาธารณประโยชน์เสียหายกว่า 45 ล้านบาท
ผู้ว่าฯ นครราชสีมา ยังเน้นย้ำนโยบายการบรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้าน ซึ่งขณะนี้มีการร้องเรียนมาหลายช่องทาง ส่วนใหญ่เป็นการเลือกปฏิบัติ แจกสิ่งของโดยเฉพาะถุงยังชีพไม่ทั่วถึง มีหลายพื้นที่ไม่ได้รับ สิ่งของที่ได้รับบริจาคจากศูนย์ช่วยเหลือหลายหน่วยงานถูกนำไปเก็บกักตุนไว้ตามท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้นักการเมืองท้องถิ่น และผู้นำชุมชน นำออกไปแจกจ่ายให้ชาวบ้าน แต่เลือกแจกเฉพาะพื้นที่การเมือง หรือชาวบ้านในฐานเสียงตัวเอง ขณะนี้พบพยาน หลักฐาน ระบุมีนักการเมืองท้องถิ่นในเขต อ.โนนสูง รับมอบถุงยังชีพจากหน่วยงานอื่น แต่กลับไปทำเบิกจ่ายผ่านงบ อปท. จึงสั่งการให้นายอำเภอตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีอยู่หลายแห่งที่มีการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง
"ผมจะใช้อำนาจผู้ว่าฯ สั่งปลดออกจากตำแหน่งทันที เพราะเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เบียดบังผลประโยชน์ในขณะผู้อื่นเดือดร้อน เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู" นายระพี กล่าว
ในหลวงพระราชทานสิ่งของช่วยเหลือจ.ชัยภูมิ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ในหลวงพระราชทานสิ่งของช่วยเหลือพสนิกรผู้ประสบอุทกภัย จ.ชัยภูมิ จำนวน 1 พันชุด ผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
นายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง และประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำสิ่งของพระราชทานที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นำมามอบให้แก่ผู้ประสบภัยใน จ.ชัยภูมิ จำนวน 1,000 ชุด ยังความปลาบปลื้มให้แก่ผู้ประสบภัยที่นี่เป็นอย่างมาก