จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
รมว.เกษตรฯ แจงสถานการณ์น้ำท่วม ล่าสุด ยังมีพื้นที่รับผลกระทบ 18 จังหวัด ขณะที่กรมชลประทานเร่งบริหารจัดการน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนน้ำทะเลหนุน 24-27 ต.ค.นี้ หวั่นกระทบพื้นที่ กทม. พร้อมระบุ ผลกระทบพื้นที่การเกษตรเสียหายแล้ว 1.6 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบกว่า 1.5 แสนราย
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทยขณะนี้ โดยระบุว่า ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมพื้นที่ 18 จังหวัด จากทั้งหมด 19 จังหวัด โดยจังหวัดเพชรบุรี วันนี้ สถานการณ์น้ำเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ขณะที่จังหวัด นครราชสีมาพื้นที่อำเภอปักธงชัย ระดับน้ำเริ่มลดลง 10 เซนติเมตรต่อวัน คาดว่า จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนอำเภอเมือง และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำมูลสูงกว่าระดับน้ำในลำตะคอง ทำให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมได้อย่างช้าๆ คาดว่า จะเข้าสู่ภาวะปกติได้ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2553 นี้
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศมีปริมาณทั้งหมด 52,492 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 71 ของความจุอ่าง น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณเพิ่มขึ้น คาดว่าจะขึ้นสูงสุดมากกว่า 2,200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 21-22 ตุลาคม 2553 นี้ ซึ่งกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ โดยระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านระบบชลประทานฝั่งตะวันตกและตะวันออก ส่วนปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสัก เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามีน้ำไหลผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่อำเภอบางไทร รวม 2,948 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำทะเลจะเริ่มหนุนสูงตั้งแต่วันที่ 24-27 ตุลาคม 2553 ซึ่งกรมชลประทาน จะเร่งลดระดับน้ำท่วมขัง พร้อมทั้งระบายออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ก่อนที่น้ำทะเลจะหนุน ส่วนในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง กรมชลประทานจะลดการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบน เพื่อให้ไหลผ่านกรุงเทพมหานคร โดยไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร
สำหรับผลกระทบด้านการเกษตรที่คาดว่าจะเสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัยใน หลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลความเสียหายของพื้นที่ทางการเกษตรช่วงเกิดภัยตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคมจน 2553 ถึงปัจจุบัน มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายทั้งหมดประมาณ 1.6 ล้านไร่ แยกเป็นข้าวประมาณ1.3 ล้านไร่ พืชไร่ประมาณ 2.5 แสนไร่ พืชสวนและอื่นๆ ประมาณ 1 หมื่นไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 150,941 ราย ขณะที่ด้านประมงพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหายประมาณ 5.3 หมื่นไร่ เกษตรกร 50,335 ราย
ด้านปศุสัตว์ เกษตรกรประมาณ 5.2 หมื่นราย สัตว์ได้รับผลกระทบประมาณ 4 ล้านตัว อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายทั้งหมดอีกครั้ง พร้อมสั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรฯจัดทำโครงการฟื้นฟูพื้นที่ทางการเกษตร ที่เสียหาย เพื่อทำให้เกษตรกรมีอาชีพเสริม ขณะที่พื้นที่ประสบภัยรุนแรง กระทรวงเกษตรฯเตรียมเสนอมาตรการเยียวยาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
ส่วนการให้ความช่วยผู้ประสบอุทกภัยเบื้องต้น กรมชลประทานได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่แล้วจำนวน 961 เครื่อง ในพื้นที่ 58 จังหวัด โดยแยกเป็นภาคเหนือ 15 จังหวัด เครื่องสูบน้ำ 196 เครื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด 270 เครื่อง ภาคกลาง 14 จังหวัด 370 เครื่อง ภาคตะวันออก 4 จังหวัด 60 เครื่อง และภาคใต้ 8 จังหวัด เครื่องสูบน้ำ 35 เครื่อง ขณะที่กรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมด้านอาหารสัตว์จำนวน 2.9 แสนกิโลกรัม และเสบียงสัตว์กว่า 8 พันตัน