จากประชาชาติธุรกิจ
ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร/แปรรูป ขู่ ออร์เดอร์หดกระทบส่งออกเฉียด 6 หมื่นล้านบาทหลังพิษบาทแข็งค่า เตรียมกดราคารับซื้อสินค้าเกษตรปี 54 อ้อนขอลดเบี้ยประกันสังคม-คืนภาษี-ยืดเวลาถือครองดอลลาร์
นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในการประชุมประมวลสรุปสภาพปัญหาและนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ได้รับผลกระทบ จากค่าบาท ร่วมกับผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มอาหารสำเร็จรูป สินค้าเครื่องเรือนที่ใช้วัตถุดิบไม้ยางพารา และกาแฟผงสำเร็จรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศคิดเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 60-95% ซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นเฉลี่ย 10% นับตั้งแต่ต้นปี จนถึงขณะนี้ จึงไม่สามารถรับคำสั่งซื้อใหม่ได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีมูลค่าส่งออก 50-60,000 ล้านบาทต่อปี โดยกลุ่มผัก-ผลไม้กระป๋องมีมูลค่า 30,000 ล้านบาทต่อปี น้ำผัก-ผลไม้กระป๋องมูลค่า 15,000 ล้านบาทต่อปี กาแฟผงสำเร็จรูปมูลค่า 10,000 ล้านบาทต่อปี และเครื่องเรือนมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
โดยเสนอขอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการช่วยเหลือในระยะสั้น 3 เรื่อง คือ ขอให้รัฐบาลพิจารณาปรับลดอัตราเบี้ยประกันสังคมลงเหลือ 3% จากเดิม 5% เพื่อลดภาระผู้ประกอบการที่จะต้องจ่ายเบี้ยประกันสังคมสัดส่วนกึ่งหนึ่ง 2) ขอให้พิจารณาคืนภาษีมุมน้ำเงิน (รีเบต) ลง 5-10% เพื่อเป็นลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบเช่นเดียวกับรัฐบาลจีนที่คืนภาษีให้กับผู้ ประกอบการถึง 10% แล้ว และ 3) ขอให้ขยายระยะเวลาถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนมาตรการช่วยเหลือระยะยาว ได้เสนอให้ภาครัฐช่วยให้ข้อมูล และเพิ่มองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
“ผู้ประกอบการแจ้งว่าปีหน้าคงเป็นปีที่ส่งออกเหนื่อยอีกปี เพราะขณะนี้ไม่สามารถรับออร์เดอร์ใหม่ในช่วงการเจรจาสั่งซื้อไตรมาส 4 ได้ซึ่งจะใช้สำคัญสั่งซื้อสินค้าตลอดปี 2554 ได้ เพราะภาวะปัญหาบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปีไปถึง 10% จนต้องปรับมารับออร์เดอร์ล็อตสั้น และปรับขึ้นปรับราคาสินค้าขึ้นไปอีก 15% ทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง อย่งจีนและเวียดนาม ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ต่างก็มีความได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนการผลิตและการ บริหารจัดการค่าเงินอยู่แล้ว จึงขอให้รัฐบาลช่วยเหลือทันที ก่อนที่จะรุนแรงกว่านี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับราคาสินค้าเกษตร ในปีการผลิตหน้า”นางวัชรีกล่าว
นางวัชรี กล่าวว่า หลังจากนี้จะสรุปผลการหารือเสนอนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำไปประสานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรในปีกาลผลิต 2554
“หลังจากนี้ต้องติดตามดูว่าผู้ส่งออกมีต้นทุนที่เปลี่ยนไปอย่างไร และเมื่อทอนมาเป็นราคาวัตถุดิบการเกษตรแล้วสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือหากเกษตรกรได้รับความเดือนร้อนจากการกดราคารับซื้อก็คงจะเกิดการเรียก ร้องให้รัฐบาลเข้าไปให้ความช่วยเหลือต่อไป”นางวัชรีกล่าว นางวัชรี กล่าวว่า จากการที่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีคำสั่งให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ติตามสถานการณ์ลดราคาจำหน่ายปลีกปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืชให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับลดลงภายหลังจากภาวะ บาทแข็งค่านั้น ในวันพรุ่งนี้ (20 ต.ค.) กรมฯ จะเรียกประชุมผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายยาปราบศัตรูพืช เพื่อขอให้ปรับลดราคาจำหน่ายปลีกลงอีกจากปัจจุบันที่ผู้ประกอบการได้ปรับลด ลงไป 5-10% โดยยาฆ่าหญ้า (กรัมม็อกโซนและไกลโฟรเสท) ลดราคา 10% สำหรับยาฆ่าแมลง (แลนเนท) ลดราคา 5-10% ซึ่งทางกรมฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ายังสามารถปรับลดราคาลงได้อีก ซึ่งอาจจะจัดทำราคาจำหน่ายปลีกแนะนำสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ต่อไป ส่วนกรณีของปุ๋ยเคมีนั้น กรมฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายปุ๋ยเคมี ภายหลังจากได้หารือกับผู้ประกอบการไปตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา และได้ข้อยุติให้ลดราคาลง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป โดยเฉพาะปุ๋ย 4 สูตรหลัก คือ สูตร 46-0-0 , 16-20-0 , 15-15-15 , 21-0-0 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการใช้ 80% ของปุ๋ยทั้งหมด ให้ลดราคาลง 8.30 - 23.30% ทั้งนี้ กรมการค้าภายในได้กำหนดให้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชเป็นสินค้าควบคุม พร้อมทั้งกำหนดราคาขายปลีกแนะนำปลายทางทั่วประเทศ แล้ว
แต่หากไม่สามารถซื้อปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชได้ตามราคาแนะนำดังกล่าว ขอให้ร้องเรียนที่ค้าภายในจังหวัด หรือสายด่วน 1569 เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการจำหน่ายซึ่งอาจจะเข้าข่ายผิด พรบ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ