จากประชาชาติธุรกิจ
ตลาดส่งออกทุเรียนไทยกระจุกตัวจีน 90% หวั่นอนาคตตลาดเปลี่ยนอาจกระทบราคา สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรภาคใต้เผยปี 2561 ปลูกทุเรียนเพิ่ม 10% เหตุปาล์ม-ยาง ราคาตก ยันปริมาณการปลูกทุเรียนยังไม่น่าห่วง
นายปรีชา กิจถาวร ประธานฝ่ายเศรษฐกิจพอเพียงและสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประชุมหอการค้าทั่วประเทศในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มีบางจังหวัดที่มีการปลูกทุเรียนแปลงขนาดใหญ่ ซึ่งน่าหวั่นวิตกเรื่องตลาดการส่งออกในอนาคต เพราะปัจจุบันทุเรียนมีการปลูกเพิ่มเป็นจำนวนมาก และมีตลาดส่งออกกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศจีน ประเทศเดียว ไม่ได้ขยายไปสู่การตลาดในประเทศอื่นๆ โดยมีตัวเลขสูงถึง 90 % ซึ่งส่งผลกระทบได้ง่ายหากเกิดตัวแปรที่เปลี่ยนไปในตลาดประเทศจีน
นายนัด ดวงใส ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) เปิดเผยว่า ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการโค่นยางพารา ปาล์มน้ำมัน เพราะทิศทางตกต่ำ และเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนเป็นจำนวนมาก รวมถึงเกษตรกรในประเทศมาเลเซียเองเช่นเดียวกัน คาดว่าแนวโน้มภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ทิศทางราคาทุเรียนอาจมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากทุเรียนใหม่ที่เพิ่งปลูกออกผล
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา (สกก.ที่ 5 สงขลา) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้ อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลโดยในวันที่ 20 ธค. 61 จะรับทราบ และกลางเดือนมกราคม 2562 โดยมีการเฝ้ารายงงานเป็นประจำเดือนของการเคลื่อนไหวในการปลูกทุเรียน โดยที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงจากการโค่นยางและปาล์มน้ำมัน เพื่อปลูกทุเรียนเป็นจำนวนจากเดิมประมาณ 5-10 % หรือจากพื้นที่ปลูกเดิม 400,000 ไร่ เพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 – 50,000 ไร่ ถือได้ว่ายังไม่ห่วงเรื่องปริมาณสินค้าล้นตลาด
“ภาคใต้มีการเกาะติดข้อมูลและรายงานทุกเดือน ทุเรียนเป็นเกษตรที่มีความประณีต ต้องการความประณีต การเปลี่ยนแปลงโค่นยางพาราปลูกทุเรียนมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ด้วย เพราะต้องเป็นพื้นที่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ในขณะที่สวนยางพาราเป็นพื้นที่น้ำที่ยังไม่อุดมสมบูรณ์ ทุเรียนภาคใต้จึงยังไม่น่าวิตกกังวลถึงการมีปริมาณล้นตลาด” นายสุพิทกล่าว
นายสุพิทอธิบายเพิ่มเติมว่าในภาคใต้การปลูกทุเรียนแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มปลูกทุเรียน ทำการผลิตเชิงการค้า เช่น จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช 2.กลุ่มปลูกทุเรียนเฉพาะถิ่น เช่น ทุเรียน ทรายขาว จ.ปัตตานี ทุเรียนสาลิกา จ.พังงา ซึ่งมีปริมาณน้อย แต่ตลาดรองรับมีความต้องการมาก
และ3.กลุ่มปลูกทุเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกลุ่มนี้จะออกผลผลิตหลังจากทุเรียนที่ผลิตใน จ.ชุมพร และมีผลผลิตคุณภาพส่งออกเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งไม่ได้ส่งออก เน้นแปรรูปในพื้นที่ ยังสามารถพัฒนาเพื่อการส่งออกได้ และ 4.กลุ่มทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง เช่น จ.พังงา จ.กระบี่ และ จ.ภูเก็ต และทุเรียนสานพันธุ์มูซันคิง จ.ยะลา กลุ่มนี้ ไม่มีปัญหา เพราะมีปริมาณที่น้อย
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต