จากประชาชาติธุรกิจ
ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะมีการลงทุน โครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาทางกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลปักธงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทั่วประเทศ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
แต่เนื่องจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้ ต้องมีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบของโครงการที่จะ มีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ก่อนทำการอนุมัติให้ดำเนินโครงการ
แต่ก็ ยังเกิดคำถามและข้อกังวลจากหลายฝ่ายว่า การตัดสินใจดำเนินโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ของรัฐบาลนั้น ได้มีีการศึกษาความเป็นไปได้ถึงความคุ้มค่าในการลงทุน (Feasibility Study) อย่างถ่องแท้แล้วหรือไม่ รวมทั้งความกังวลต่อการพิจารณาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนว่าจะเป็น เพียงแค่ "พิธีกรรม"
เพราะมีบทเรียนหลายครั้งหลายคราที่ผ่านมา สะท้อนว่า หน่วยงานรัฐและผู้มีอำนาจ "ตั้งธง" ไว้แล้วสำหรับการลงทุนโครงการต่าง ๆ ทำให้การจัดทำรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอ รวมทั้งการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ไม่ได้รับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียง "พิธีกรรม" ที่ทำเพื่อให้ครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
ทำให้การทำอี เอชไอเอหลายโครงการมีปัญหาจนกระทั่ง ชุมชนและเครือข่ายภาคประชาชน ต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินที่เป็นบ้านเกิด และทรัพยากรธรรมชาติที่จะถูกทำลายไป เช่น กรณีปัญหาการทำรายงานอีเอชไอเอของโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์, โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเชฟรอน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช หรือโครงการสัมปทานเหมืองโปแตช จ.อุดรธานี เป็นต้น
และที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยขณะนี้คือ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ภายใต้ พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งได้เปิดเวทีแรกไปแล้วเมื่อ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ในโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตั้ง จ.ลำพูน ที่เพียงแค่เริ่มต้นก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า การเปิดเวทีรับฟังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 2) เพราะทั้งไม่ได้มีการนำเสนอข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชนอย่างใด แต่เป็นเพียงการให้ข้อมูลถึงจุดสร้างเขื่อน ความจุอ่างเก็บน้ำเท่านั้น
นอก จากนี้ เครือข่ายภาคประชาชนยังร้องเรียนว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีโอกาสเข้า ไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนน้อยมาก ทั้งยังจำกัดเวลาให้เพียงคนละ 3 นาที จนไม่สามารถอธิบายเนื้อหาได้ครบถ้วน นี่หรือคือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเจ้าของบ้าน ที่จะได้รับผลกระทบจากการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล
ขณะที่รัฐบาลกำลัง วาดฝันหรูให้กับประชาชนถึง "อนาคตประเทศไทย 2020" หลังการลงทุน 2 ล้านล้านในช่วงเวลา 7 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าการลงทุนเพื่อการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งเป็นสิ่งที่ดี จะมีส่วนช่วยสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
แต่การลงทุนก็ ไม่ได้มีแต่ด้านบวกเช่นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามประชา สัมพันธ์ เพราะการทำอะไรผลที่ออกมาต้องมี 2 ด้านเสมอ ดังนั้นรัฐบาล
จึง ควรเปิดรับและศึกษาผลกระทบด้านลบ หรือปัญหาต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ หรือที่จะตามมาจากความเจริญและการลงทุนขนาดใหญ่นี้ด้วย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังเข้ามาด้วย
อย่ามองแค่เป็น "พิธีกรรม" ที่ทำให้ครบองค์ประกอบเท่านั้น
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต