สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วสท.กัดไม่ปล่อย...ประมูลโปรเจ็กต์น้ำ ติงรัฐบาลเพื่อไทยลงทุนสูญเปล่า 3.5 แสนล้าน

วสท.กัดไม่ปล่อย...ประมูลโปรเจ็กต์น้ำ ติงรัฐบาลเพื่อไทยลงทุนสูญเปล่า 3.5 แสนล้าน

จากประชาชาติธุรกิจ

12 ก.พ.ที่ผ่านมา "วสท.-วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์" เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนารอบสอง หัวข้อ "วิพากษ์การดำเนินงานโครงการน้ำ" เพื่อระดมข้อคิดเห็นและข้อห่วงใยต่อการประมูลเมกะโปรเจ็กต์แก้ปัญหาน้ำของ รัฐบาลเพื่อไทย มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท โดยมีนายก วสท. และนักวิชาการด้านวิศวะ 9 ราย ขณะที่ฝั่งตัวแทนภาครัฐมี "ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ" มาในนามคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)

ห่วงรัฐทำงานข้ามขั้นตอน

"สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา" นายก วสท. เปิดประเด็นว่า วสท.เป็นห่วงว่ากระบวนการที่รวบรัดจะทำให้โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเริ่มต้นอย่างไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ข้ามกระบวนการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาโครงการ ศึกษาสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แนวโน้มอนาคตอาจกลายเป็นเมกะโปรเจ็กต์ร้างเหมือนตอม่อโฮปเวลล์

ประเด็น ถัดมา เรื่องการว่าจ้างบริษัทที่ชนะการประมูลในรูปแบบ "ดีไซน์ แอนด์ บิลต์" (ออกแบบไปสร้างไป) ทั้งที่ผลการศึกษาความเหมาะสมยังไม่ได้เริ่มต้น เท่ากับว่าขณะนี้ยังไม่รู้ว่าโครงการจะเดินหน้าไปทางไหน แบบก่อสร้างก็จะไม่นิ่งหากมีการแก้ไขแบบระหว่างทางจะมีผลต่อการเพิ่ม-ลดวง เงินค่าก่อสร้าง จะเกิดความยุ่งยากเพราะต้องตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาแบบก่อสร้างใหม่ ส่วนกลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 6 กลุ่ม ซึ่งมีทั้งบริษัทต่างชาติและคนไทย

จาก ทั้งหมด 31 บริษัท เพื่อรับงานออกแบบและก่อสร้างใน 10 โมดูล โมดูลละ 3 กลุ่มบริษัท ตั้งข้อสังเกตว่าหากบริษัทจากต่างชาติไม่ได้รับงาน รัฐบาลไทยอาจถูกร้องเรียนก็ได้ และหากไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เนื่องจากติดปัญหารายงานอีไอเอยังไม่ได้รับ การอนุมัติ กรณีนี้อาจกลายเป็นประเด็นให้รัฐบาลไทยถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก็ได้เช่น กัน

ข้อกังวลสุดท้ายคือโครงการน้ำต้องดำเนินการในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ หากเกิดภัยธรรมชาติระหว่างดำเนินการทำให้ล่าช้า ในการขยายหรือต่อสัญญาจะทำให้ประเทศไทยถูกฟ้องร้องหรือไม่ หรือกรณีที่งานก่อสร้างมีปัญหา รัฐบาลไทยจะฟ้องร้องใคร เนื่องจากเป็นโครงการในรูปแบบร่วมทุนมากกว่า 1 บริษัท รวมถึงเชื่อว่าจะมีการว่าจ้างซับคอนแทรกเตอร์ (ผู้รับเหมาช่วง) เข้ามาช่วยงานบางส่วน

หวั่นซ้ำรอยคดีสร้างโรงพัก

ข้อ เสนอของ วสท. คือ รัฐบาลควรแยกโครงการออกเป็นหลายสัญญา และเริ่มการประมูลงานในส่วนที่สามารถทำได้ไปก่อน อย่างไรก็ตามไม่ควรคัดเลือกผู้ชนะเพียงรายใดรายหนึ่งและรับงานทั้งหมด ไม่เช่นนั้นก็จะซ้ำรอยกรณี "โฮปเวลล์-บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน-ก่อสร้างสถานีตำรวจ" ตอกย้ำภาพให้เห็นชัดเจนถึงผลเสียของการว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างรายเดียว ให้ทำงานทั่วประเทศ

"รองนายกฯ (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) บอกว่า พวกเราเป็นนักวิชาเกิน คิดแต่คัดค้าน แต่ขอบอกว่าผู้ที่ร่วมการเสวนาล้วนมีประสบการณ์ทำงานโครงการภาครัฐและเอกชน มาแล้ว และมองว่าโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านจะไม่สำเร็จ" คำกล่าวของนายก วสท.

วิพากษ์เป็นแค่...แผนคิดคำนึง

"ปราโมทย์ ไม้กลัด" อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า แผนบริหารจัดการน้ำที่ กบอ.ประกาศไม่ใช่แผนที่ถูกต้องตามหลัก เป็นเพียงแผนที่มาจากการคิดคำนึง มาจากการประชุมเพียง 2-3 ครั้ง จากนั้นนายกรัฐมนตรีก็สั่งการให้ กบอ.มาคิดว่าจะต้องทำอย่างไร โดยใส่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เข้าไป ถามว่าแนวฟลัดเวย์จะลากจากไหนไปถึงไหนก็ยังไม่มีใครตอบได้ แล้วจะประมูลหาบริษัทมาออกแบบก่อสร้างได้อย่างไร

"คำถามคือการเข้า มาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กบอ. เลือกกันอย่างไร ผมยังมองไม่ออกว่ามีใครที่มีประสบการณ์จะขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่มูลค่า 3.5 แสนล้านบาทได้" อดีตอธิบดีกรมชลฯระบุ

ด้าน ดร.สุบิน ปิ่นขยัน นายกสมาคมอุทกวิทยาไทย ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้ได้บริษัทที่ชนะการคัดเลือก แต่ธนาคารไหนจะยินดีให้แบงก์การันตีเพราะโครงการมีขนาดใหญ่มาก, ผศ.ทีฆวุฒิ พุทธภิรมย์ จากคณะวิศวะ ม.เกษตรศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตถึงเกณฑ์การคัดเลือก 6 กลุ่มบริษัทว่ามาได้อย่างไร เพราะกระบวนการทุกอย่างเป็นความลับหมด

รศ.ดร.สุ วัฒนา จิตตลดากร ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. ตั้งข้อสังเกตเชิงคำถามว่า งบฯการเวนคืนและจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบรวมอยู่ในงบฯ 3.5 แสนล้านด้วยหรือไม่ ฯลฯ

กบอ. ตอบทุกค

ด้าน "ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ" จาก กบอ.ชี้แจงว่า การพิจารณาคอนเซ็ปชวลแพลนที่ผ่านการพิจารณารอบแรก 6 กลุ่มบริษัท พบว่าบริษัทจากต่างชาติเสนอแผนแก้ปัญหาได้ครอบคลุมกว่าบริษัทคนไทย เช่น เสนอแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เป็นคอขวดบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะที่บริษัทคนไทยไม่มีใครเสนอแผนส่วนนี้ เป็นต้น

ส่วนที่มีความ เป็นห่วงเรื่องแบงก์การันตี เชื่อว่ารัฐบาลได้คิดเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้า จึงมีเงื่อนไขว่าบริษัทต่างชาติที่เข้าร่วมประมูลจะต้องผ่านการรับรองโดย รัฐบาลและสถานทูตประเทศนั้น ๆ ซึ่งได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จึงเชื่อว่าแต่ละประเทศจะหาแบงก์การันตีได้

ขณะเดียวกันในหลักเกณฑ์ การประมูลกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เป็นรูปแบบ "การประกันราคาสูงสุด-แมกซิมั่ม การันตี ไพรซ์" ไว้แล้ว หมายความว่าผู้ชนะการประมูลจะต้องรับความเสี่ยงเรื่องต้นทุนที่ผันผวนเอง รัฐบาลไทยจะไม่มีการจ่ายค่าเคเพิ่มให้ (เงินชดเชยกรณีราคาวัสดุผันผวน)

ที่ สำคัญต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายไทย เช่น ต้องผ่านรายงานอีไอเอ ฯลฯ หากโครงการไม่ผ่านอีไอเอและไม่สามารถก่อสร้างได้ รัฐบาลไทยก็จะไม่ต้องจ่ายเงินในส่วนโครงการที่สร้างไม่ได้ ฯลฯ รวมถึงการจัดหาผู้รับเหมาช่วงจะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลไทยก่อน

"ผม ว่าสัญญาที่ทำ รัฐบาลไทยได้เปรียบสุด ๆ แล้ว และโครงการต่าง ๆ เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างเขื่อน ก็มาจากในสต๊อกที่กรมเคยศึกษาหรือริเริ่มไว้ งบประมาณก็มาจากโครงการเหล่านี้ ไม่ใช่ตัวเลขที่อุปโลกน์ขึ้นมา เราพยายามทำดีที่สุดแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับคงไม่มีอะไรเปอร์เฟ็กต์" คำกล่าวของ ดร.อภิชาติ


ไม่ใช่โจทย์"หมู"ๆ "ฟลัดเวย์"1.2แสนล.

สิรินาฏ ศิริสุนทร


ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มในแง่มุมที่รัฐบาลขาดความรอบคอบ และยังไม่สามารถตอบคำถามของนักวิชาการได้ อย่างที่เคยบอกกล่าวกันไปแล้ว

ว่า ผลการคัดเลือกในรอบคุณสมบัติและแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำของไทย 6กลุ่ม 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้า ญี่ปุ่น - ไทย 3. ITD-POWERCHINA JV 4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ 5.กิจการร่วมค้าซัมมิท เอสยูที และ6.กลุ่มบริษัทร่วมค้า ล็อกซเล่ย์

ผลงานการเขียนข้อเสนอโครงการของเควอเตอร์จากประเทศเกาหลีเป็นที่ถูกใจกรรมการมากที่สุดแต่โจทย์ที่ท้าทายไม่ได้อยู่บนแผ่นกระดาษของการเสนอโครงการที่เควอเตอร์เสนอเข้าไปถึง600กล่อง หากแต่คือความเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงลักษณะภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมไทยต่างหากคือประเด็นที่วัดว่าใครที่เหมาะสมกับการจัดการน้ำของประเทศไทย

โดยเฉพาะโครงการ"ฟลัดเวย์"ที่คาดกันว่าส้มอาจจะหล่นในมือ เควอเตอร์ เพราะมีประสบการณ์ในการทำโครงการฟลัดเวย์แม่น้ำ4สายในเกาหลี แต่หากลองฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการจะพบว่าไม่หมูเลยสำหรับต่างชาติที่ไม่มีพาร์เนอร์ชาวไทยเลยที่จะเข้ามาจัดการกับโครงการนี้

อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน อาจารย์คมสัน มาลีสี รองคณบดีคณะวิศวลาดกระบัง หรือกระทั่งภาคประชาชนอย่าง อาจารย์ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ ต่างเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า "ยาก"มากที่บริษัทจากต่างประเทศจะมาเข้าใจปัญหาการจัดกาน้ำของประเทศไทย เพราะมีความซับซ้อนมากกว่า เกาหลีและมีปัจจัยต่างๆที่เป็นอุปสรรคในการจัดการมากกว่าที่จะประเมินได้

อาจารย์ปราโมทย์บอกว่า เรื่องน้ำของบ้านเราใครจะเข้าใจเพราะกับคนไทยเราเอง และที่ผ่านมากรมชลประทานทำเรื่องนี้มา100 ปีแล้วยังทำไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าโครงการฟลัดเวย์ที่กำหนดกรอบเอาไว้5ปี ไม่มีทางที่ได้ต่อให้อีก 20 ปีก็เถอะ

ประเด็นแรกที่เป็นโจทย์ข้อใหญ่แม้ทั้ง จีน เกาหลี และญี่ปุ่นจะบอกว่าได้ส่งทีมลงมาศึกษางานในประเทศไทยนานแล้วก่อนที่จะเสนอโครงการ แต่ความเข้าใจพื้นที่อาจจะยังไม่มากพอ เพราะลักษณะภูมิศาสตร์ของแม่น้ำไทยมีความสลับซับซ้อน มีชุมชนและวิถีริมน้ำทำให้โครงการใดก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเวนคืน การอพยพผู้คน จึงเป็นเรื่องยาก

เพราะโจทย์ใหญ่คือการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่จะสร้างการมีส่วนร่วมอย่างนั้นได้อย่างไร แม้ ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ ประธานคณะกรรมการเคราะห์โครงการของ กบอ.จะบอกว่า ถ้ามัวแต่กลัวและเห็นอุปสรรค จนคิดว่าทำไม่ได้ วิธีคิดแบบนั้นหล้าหลังเกินไป เพราะโครงการฟลัดเวย์ความจริงใช้พื้นที่ไม่มากนัก

แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลเองไม่มีความชัดเจนว่าจะทำฟลัดเวย์ในพื้นที่ไหนทั้งฝั่งตะวันตกหรือฝั่งตะวันออก เพราะฉะนั้น การต่อต้าน และการทำความเข้าใจกับมวลชนจึงเป็นโจทย์ใหญ่มากกว่าการเขียนโครงการสวยหรูในกระดาษแต่ขาดความเข้าใจปัญหาที่แท้จริงเพราะนั่นหมายถึง ความเป็นไปได้ในความสำเร็จและเป็นจริงว่า รัฐจะไม่สูญเงิน1.2แสนล้าน แต่ได้ซากหักพังของฟลัดเวย์มาประดับประเทศ เหมือนอนุสาวรีย์"โฮปเวลย์"ที่เกิดขึ้นแล้ว

นับจากนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องประเมินรอบคอบในการเดินหน้าโครงการโดยเฉพาะ ประเมินความจริงหรือความเป็นไปได้ของโครงการว่าจะสำเร็จหรือไม่ก่อนที่จะได้อนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลวชิ้นใหม่เอาไว้ประดับประเทศ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : วสท. กัดไม่ปล่อย ประมูลโปรเจ็กต์น้ำ  ติง รัฐบาลเพื่อไทย ลงทุน สูญเปล่า 3.5 แสนล้านวสท. กัดไม่ปล่อย ประมูลโปรเจ็กต์น้ำ  ติง รัฐบาลเพื่อไทย ลงทุน สูญเปล่า 3.5 แสนล้าน

view