สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลิ้น จุดเสี่ยงสูงมะเร็งช่องปาก แนะสัญญาณเตือนหากแผลเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์

จากประชาชาติธุรกิจ

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่ามะเร็งช่องปากเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของมะเร็งที่พบในคนไทย ข้อมูลจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในปี 2555 พบมะเร็งที่ลิ้นมากที่สุดจำนวน 354 ราย โดยเป็นมะเร็งทีโคนลิ้นจำนวน 181 ราย และมะเร็งที่ส่วนอื่นของลิ้นจำนวน 173 ราย รองลงมาคือมะเร็งที่เพดานปากจำนวน 284 ราย มะเร็งที่พื้นของช่องปาก มะเร็งที่เหงือก และมะเร็งริมฝีปาก ส่วนที่ยังคงพบน้อยคือมะเร็งที่ต่อมน้ำลาย ซึ่งสัญญาณเตือนของมะเร็งช่องปากในระยะแรก จะมีแผลเรื้อรังในช่องปากที่เป็นแล้วไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ มีแผ่นฝ้าสีขาวถูไม่ออกหรือแผ่นฝ้าสีแดง มีก้อนที่ปากหรือคอ ขอบลิ้น หรือขอบริมฝีปากมีลักษณะแข็งเป็นไต เจ็บคอเรื้อรัง เสียงแหบ กลืนลำบาก หรือมีอาการแสบที่ลิ้น หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

 

นายแพทย์เจษฎากล่าวต่อไปว่า กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งช่องปากคือผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กินหมาก เป็นประจำ และมีประวัติญาติป่วยเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปากเป็นประจำทุกปี ซึ่งการตรวจพบรอยโรคระยะแรกหรือรอยโรคก่อนมะเร็งและรีบรักษาจะเพิ่มอัตราการ รอดชีวิตของผู้ป่วยได้

 

“ทั้งนี้ กรมอนามัยได้เริ่มโครงการคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปากตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เพื่อให้ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับการตรวจคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็ง ช่องปากและได้รับการส่งต่อเพื่อรับการรักษา โดยผลการดำเนินงานล่าสุดในปี 2554 ใน 12 จังหวัด คือ สระบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ปัตตานี นครศรีธรรมราช ยะลา นครราชสีมา อุบลราชบุรี หนองบัวลำภู และแพร่ พบกลุ่มเสี่ยง 8,861 ราย อายุเฉลี่ย 53 ปี เป็นชายร้อยละ 46 หญิงร้อยละ 54 ในจำนวนนี้พบว่าสูบบุหรี่ร้อยละ 26 ดื่มเหล้าร้อยละ 18 กินหมาก ร้อยละ 8 ครอบครัวมีประวัติมะเร็งร้อยละ 11 และพบรอยโรคในช่องปากทั้งหมด 712 ราย พบรอยโรคก่อนมะเร็ง 67 ราย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

ด้านทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งที่สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย จะดำเนินการต่อในปี 2555-2557 คือการพัฒนาศักยภาพทันตบุคลากรทั่วประเทศในการคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งช่อง ปากและช่วยผู้ป่วยให้เลิกบุหรี่ พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยภายในจังหวัดและในเขต พัฒนาทันตแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการรับส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงพัฒนาแนวทางการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคใน กลุ่มเสี่ยง มีการจัดทำฐานข้อมูลผลการตรวจคัดกรองรอยโรคในช่องปาก และรณรงค์สร้างกระแส ให้ประชาชนไปรับการตรวจเนื้อเยื่อในช่องปากและได้รับการแนะนำเรื่องการเลิก บุหรี่ที่คลินิกทันตกรรม เพื่อให้อัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งช่องปากลดลง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ลิ้น จุดเสี่ยงสูง มะเร็งช่องปาก สัญญาณเตือน แผลเรื้อรัง เกิน 2 สัปดาห์

view