จากประชาชาติธุรกิจ
กลายเป็นความวิตกกังวลของทั้งนักวิชาการ-ผู้ส่งออก-ประชาชนที่ติดตามข้อมูลข่าวสาร แม้กระทั่ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในการให้การสนับสนุนทางด้านการเงินที่ถูกใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 กับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง 2555 ถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลใน
การที่จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีนี้ต่อไป ภายใต้สโลแกนที่ใช้หาเสียงกับชาวนาที่ว่า "รัฐบาลพร้อมที่จะรับจำนำข้าวทุกเมล็ดภายในประเทศ ด้วยราคาที่สูงกว่าราคาในตลาด"
หรือหมายถึงราคารับจำนำข้าวเปลือกที่สูงผิดปกติ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงใด ๆ ทั้งสิ้นในการขายข้าวในตลาดโลก
นอกจากนี้ยังนำมาซึ่งความเคลือบแคลง "สงสัย" ถึงความไม่โปร่งใสเริ่มต้นมาตั้งแต่กระบวนการรับจำนำข้าว จนกระทั่งถึงการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล โดยที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ยอมรับฟังคำทักท้วงใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งจากหน่วยงานราชการเองและผู้ส่งออกข้าว ในฐานะกลไกที่สำคัญที่ช่วยขายข้าวออกไปต่างประเทศ ส่งผลให้โครงการนี้มีแนวโน้มที่จะประสบการขาดทุนอย่างยับเยินในอนาคต
คลาสสิกเคส ยอดรับจำนำพุ่งผิดปกติ
คงจะจำกันได้ถึงความผิดปกติของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรัฐบาลเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนที่จะปิดโครงการในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ปรากฏมีหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยอดรับจำนำข้าวหอมมะลิพุ่งขึ้นสูงอย่างผิดปกติ จนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เองก็ออกมาตั้งข้อสงสัยว่าจะมีการ "สวมสิทธิ์" ชาวนานำข้าวเข้าโครงการรับจำนำกับรัฐบาล
จากการตรวจสอบจากยอดการรับจำนำข้าวเปลือกระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2554 (เริ่มต้นโครงการ) จนกระทั่งถึงวันที่ 31 มกราคม 2555 เปรียบเทียบกับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 หรือเพียง 1 เดือนก่อนปิดโครงการรับจำนำข้าวนาปี ปรากฏมีข้าวเปลือกไหลเข้าสู่โครงการเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 954,498 ตัน เฉพาะภาคอีสานเพียงภาคเดียวมีข้าวเปลือกไหลเข้าโครงการถึง 503,293 ตัน ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิที่รัฐบาลประกาศราคารับจำนำสูงถึง 200,000 บาท/ตัน
ผลจากความผิดปกติจากยอดรับจำนำครั้งนั้น ทาง ธ.ก.ส.เชื่อว่าเกิดการสวมสิทธิ์ชาวนาขึ้นจริง แต่เป็นการสวมสิทธิ์เนื่องจากการทุจริตออก "ใบประทวน" หรือสวมสิทธิ์ด้วยการนำข้าวเปลือกจากโรงสีข้าวที่ซื้อนอกโครงการในราคาต่ำมาเวียนเทียนเข้าโครงการยังเป็นอีกเรื่องที่รอการตรวจสอบอยู่ ทั้ง ๆ ที่ทุกคนในวงการค้าข้าวทราบกันดีว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์นั้นเป็นช่วงปลายฤดูข้าวนาปีที่จะมีข้าวออกสู่ตลาดน้อยมาก
และปรากฏการณ์ข้าวรับจำนำสูงผิดปกติอย่างนี้ ยังคงเกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 ซึ่งเป็นการรับจำนำข้าวเปลือกต่อเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวนาปีด้วย ขณะที่รัฐบาลเองกลับเลือกที่จะไม่ยอมตรวจสอบปัญหานี้ด้วยการออกประกาศให้มีการรับจำนำข้าวนาปรังรอบ 2 หรือขยายระยะเวลาการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังออกไปอีก
ยอดการรับจำนำข้าวเปลือกที่สูงผิดปกติข้างต้น ส่งผลให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 ที่ปิดโครงการไปแล้วมีปริมาณข้าวเปลือกรับจำนำสูงถึง 6,950,165 ตัน ในขณะที่ยอดการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังล่าสุด ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2555 กลับพุ่งขึ้นไปถึง 9,869,962 ตัน
กลายเป็นความผิดปกติอย่างมโหฬารที่ยอดการรับจำนำข้าวนาปรังสูงกว่าข้าวนาปีมากมายถึงเพียงนี้ จนเป็นคำถามที่ว่า ตัวเลขข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้นมากว่า 3 ล้านตันข้าวเปลือกนั้น มาจากไหน ?
รับจำนำแล้วข้าวไปอยู่ที่ไหน
ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากที่ยอดการรับจำนำข้าวเปลือกโป่งขนาดนี้ก็คือ การระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ได้มาจากโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2554/55 รวมไปถึงโครงการรับจำนำและโครงการประกันราคาข้าวที่เกิดขึ้นในอดีต กลับเต็มไปด้วยความล่าช้าและมีปัญหาลับลมคมในซับซ้อนและไม่โปร่งใส
เมื่อมาจากการที่กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะผู้ขายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ไม่ยอมเปิดให้มีการประมูลซื้อข้าวในสต๊อกรัฐเป็นการทั่วไป แต่กลับเลือกที่จะขายข้าวด้วยการเรียกผู้ส่งออกข้าวบางรายเข้ามาเสนอราคา "อย่างเงียบ ๆ แบบลับ ๆ" ทยอยขายข้าวออกไปด้วยปริมาณและราคาที่ไม่เป็นที่เปิดเผย สร้างความไม่โปร่งใสให้เกิดขึ้นในระบบการขายข้าวของรัฐอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ที่สำคัญวิธีการขายข้าวอย่างเงียบ ๆ แบบลับ ๆ เช่นนี้ กลับได้รับการสนับสนุนจากรองนายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) ในทำนองที่ว่า ทำไมจะต้องบอกให้สาธารณชนรู้และจะกระทบต่อตลาดข้าว ทั้ง ๆ ที่โบรกเกอร์ค้าข้าวในต่างประเทศ
ต่างทราบดีถึงความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในการรับจำนำและข้าวในสต๊อกอย่างทะลุปรุโปร่ง ขณะที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเองก็ได้ร้องขอโอกาสแห่งความเท่าเทียมกันในการซื้อข้าวในสต๊อกรัฐเพื่อการส่งออก แต่กลับได้รับการปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ว่า สมาคมไม่เคยให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการซื้อหรือระบายข้าวตามนโยบายเลย
ดังนั้นการขายข้าวอย่างเงียบ ๆ แบบลับ ๆ จึงถูกโจมตีอย่างหนัก จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขว้างในวงการค้าข้าวที่ว่า รัฐบาลเลือกที่จะขายข้าวให้กับบริษัทผู้ส่งออกบางกลุ่มบางบริษัทในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด การวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง "ค่าใช้จ่ายพิเศษ" ในการซื้อข้าวสต๊อกรัฐบาล การเลือกให้
ผู้ส่งออกข้าวบางรายเป็นผู้ได้รับการปรับปรุงสภาพข้าวเพื่อส่งมอบให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวรัฐแบบจีทูจี หรือการแอบอ้างมีสต๊อกข้าวรัฐของ กลุ่มโรงสีต่างจังหวัดบางกลุ่ม ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นนายหน้าเสนอขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลโดยไม่มีใบเสร็จ
จน นายเมธี ครองแก้ว กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ขั้นตอนการระบายข้าวในปัจจุบันของกระทรวงพาณิชย์ก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์และเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ง่าย รวมไปถึงเรื่องของการสวมสิทธิ์ชาวนา การปลอมปน และการจัดเก็บรักษาข้าวในสต๊อกรัฐ
ขาดทุนแสนล้าน ไร้แผนเร่งระบาย
ผลของการรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงผิดปกติเกินกว่าราคาตลาดโลก ประกอบกับไม่มีการขายข้าวลอตใหญ่ออกไป เพราะไม่สามารถแข่งขันกันได้ในเรื่องของราคาส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวคุณภาพต่ำจากเวียดนาม ทำให้รัฐบาลต้องแบกสต๊อกข้าวไว้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน สต๊อกข้าวจำนวนมากมายแบบนี้นอกจากจะเป็นภาระในเรื่องการจัดเก็บและการระบายแล้ว ยังส่งผลไปถึงวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกฤดูใหม่ในปี 2555/56 ของ ธ.ก.ส.ในข้อที่ว่า หากกระทรวงพาณิชย์ยังขายข้าวในสต๊อกออกไปไม่ได้ ธ.ก.ส.ก็ยิ่งจะได้รับเงินล่าช้าจากโครงการรับจำนำที่ดำเนินไปแล้วด้วย
กับโครงการรับจำนำข้าวที่ต้องใช้เงินนับแสนล้านบาทต่อปี รัฐบาลจะทำอย่างไร ?
ด้าน น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้ออกมาเตือนรัฐบาลด้วยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศไทยมีการส่งออกข้าวไปแล้ว 3.45 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับปี 2554 ด้านมูลค่าการส่งออกข้าวก็ลดลงเหลือ 2,314 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 35 ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะราคาข้าวไทย "สูงกว่า" ราคาข้าวจากประเทศคู่แข่งขันมาก
พร้อมกับทำนายแนวโน้มการส่งออกข้าวในครึ่งปีหลังว่า จะส่งออกได้เพียง 3.05 ล้านตัน เมื่อรวมกับครึ่งปีแรกที่ 3.45 ล้านตันแล้วคิดอย่างไรก็ส่งออกได้ไม่เกินไปกว่า 6.5 ล้านตัน
หรือต่ำกว่าปี 2554 ที่มีการส่งออกข้าวไปได้ถึง 10.65 ล้านตัน
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ เพิ่งตื่นออกมาทำแผนระบายข้าวในสต๊อก ระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2555 ด้วยการยอมที่จะเปิดประมูลเป็นการทั่วไปเป็นครั้งแรก และการส่งออกแบบจีทูจี สะท้อนการเข้าตาจนที่ต้องแบกสต๊อกข้าวไว้ถึง 10 ล้านตันอย่างที่ไม่กลัวคนทั้งโลกจะรู้ แต่ก็ยังคงพร่ำเพ้ออยู่กับความเชื่อที่ว่า "ถึงส่งออกน้อย แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น" รอหายนะขาดทุนครั้งมโหฬารต่อไป
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ