จะช่วยเกษตรกร ต้องช่วยให้จริง
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
ช่วงเลือกตั้ง ว่าที่รัฐบาลใหม่ได้เคยให้สัญญากับเกษตรกรไว้ว่า จะรับจำนวนข้าวขาวเกวียนละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิเกวียนละ 20,000 บาท
และมีการทำบัตรเครดิตเท่ากับวงเงินที่ได้รับจากการจำนำ เกษตรกรจะได้มีเงินไปซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย หรือเป็นค่าแรงจ้างคนงาน
ในเมื่อสาระสำคัญของนโยบายทั้งสองเรื่องนี้ คือ รัฐจะเข้ามารับภาระความเสี่ยงจากการปลูกข้าวแทนชาวนา โดยใช้เงินภาษีของคนทั้งประเทศ คำถามที่รัฐบาลต้องตอบให้ได้ คือ คุ้มกันหรือไม่ที่นำเงินของคนทั้งประเทศไปอุ้มคนเพียงกลุ่มเดียว แถมยังไม่ได้ช่วยให้พวกเขาสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเองในระยะยาว
หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีชีวิตที่มั่นคงจริงๆ ก็ต้องคิดให้ไกลกว่าแค่การรับจำนำข้าวและการให้สินเชื่อ เพราะสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากวังวนของความยากจนได้อย่างแท้จริง
ข้าวก็เหมือนสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ฝากชะตาไว้กับดินฟ้าอากาศและภาวะตลาดโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเกษตรกร ยิ่งตอนนี้ ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงจึงมากขึ้นตามไปด้วย ข้าวเลยกลายเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนต่ำ
ลำพังการแก้ไขโดยการเข้าไปให้ความรู้กับเกษตรกร ถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยไม่ได้ให้หลักประกันว่ากำไรต่อไร่จะสูงขึ้นกว่าเดิม คงจูงใจให้เกษตรเปิดรับวิธีการใหม่ๆ ได้ยาก เพราะถึงจะได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ถ้าขายแล้วยังขาดทุนเหมือนเดิม ก็ไม่รู้จะเปลี่ยนวิธีทำไปทำไม
การเพิ่มผลผลิต เป็นการเพิ่มปริมาณข้าวในตลาด อาจส่งผลให้ราคาข้าวลดลง ส่วนต่างระหว่างรายได้กับต้นทุนจึงมีสิทธิจะลดลงหรือมากขึ้นก็ได้ เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับความจริงที่ว่า ข้าวไทยตอนนี้คุณภาพก็ค่อนข้างดีอยู่แล้ว การจะเพิ่มมูลค่าเพิ่มของข้าวให้มากขึ้น เพื่อให้ข้าวขายได้ราคาดีพอที่จะหักล้างกับผลของการเพิ่มขึ้นของปริมาณข้าวในตลาด จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง
หากจะให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจนเกษตรกรได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นกอบเป็นกำ ข้าวชนิดใหม่ต้องแตกต่างกับของเดิมในตลาดอย่างชัดเจน ปัญหานี้ไม่ใช่โจทย์ที่จะแก้กันได้ในห้องทดลองเท่านั้น เพราะมีแง่มุมด้านการตลาดเกี่ยวกับทัศนคติและรสนิยมของผู้บริโภคเข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยปกติแล้ว ราคาข้าวมีความผันผวนมาก แต่แนวโน้มต้นทุนในการผลิตมีแต่สูงขึ้น บวกกับความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ ยิ่งทำให้การเพิ่มส่วนต่างระหว่างรายได้และต้นทุนให้กับเกษตรกรเป็นเรื่องที่ท้ายทายอย่างยิ่ง
เมื่อเจอกับความท้าทายในลักษณะนี้ สิ่งที่ควรทำ คือ การจัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ โดยดูว่ากลยุทธ์ไหนจะสามารถแก้ปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญได้มากที่สุด แล้วทุ่มเทกำลังคนและงบประมาณไปในเรื่องนั้นให้มากพอ
ตามหลักวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์ การดำเนินกลยุทธ์อะไรก็ตาม ให้ประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ ทรัพยากรต้องมีพอจะตอบสนองความต้องการขั้นต่ำของกลนำกลยุทธ์ไปใช้ ไม่เช่นนั้นแล้วถึงลงทุนลงแรงไปถ้ายังไม่ถึงระดับนี้กลยุทธ์ก็ไม่มีทางจะประสบความสำเร็จได้เลย ดังนั้น การกระจายกำลังคนและทรัพยากรโดยไม่ได้พิจารณาถึงความต้องการขั้นต่ำ ก็ไม่ต่างอะไรกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
การพัฒนาข้าวเป็นปัญหาด้านอุปทาน การจะได้ข้าวมาสักถังหนึ่ง เกี่ยวข้องกับผู้คนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร ธุรกิจขายวัตถุดิบและเครื่องไม้เครื่องมือในการปลูกข้าว พ่อค้าคนกลาง โรงสี ผู้ขายข้าวในประเทศ และผู้ส่งออกข้าว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างในห่วงโซ่อุปทานจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กันเสมอไป โดยเฉพาะในกรณีของประเทศไทยที่ดูเหมือนทุกข้อของห่วงโซ่อุปทานต่างก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น
หากจะให้เลือกแล้ว ห่วงโซ่ที่น่าจะได้รับการเหลียวแลมากที่สุดในตอนนี้ คือ เกษตรกรซึ่งเป็นห่วงโซ่ข้อแรก เพราะหากโซ่ข้อนี้ไม่แข็งแรงก็อย่าหวังเลยว่าข้ออื่นๆ จะไปรอด
จนถึงทุกวันนี้ วิธีการที่ใช้ในการแก้ปัญหาของเกษตรกรสารพัดแบบไม่ได้ทำให้ชีวิตของเกษตรกรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การจำนำข้าว การประกันราคาข้าว การให้สินค้า เคยทำกันมาแล้วหลายครั้ง แต่จนแล้วจนรอด เกษตรกรก็ยังยากจนเป็นหนี้เป็นสินอยู่ดี
นโยบายเหล่านี้ หากนำมาใช้ในระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระหว่างการปรับกระบวนการผลิตข้าว ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่พอจะยอมรับได้ แต่ถ้าคิดจะใช้เป็นนโยบายถาวร รัฐบาลก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมถึงประกันราคาข้าว แต่ไม่ประกันรายได้ให้กับกลุ่มอื่น อย่างเช่น พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย นักธุรกิจรายย่อย ในเมื่อคนเหล่านี้ก็ต้องเจอกับความเสี่ยงในชีวิตเช่นเดียวกับเกษตรกร
การเลือกช่วยคนเพียงบางกลุ่ม แล้วไม่ช่วยคนกลุ่มอื่นที่เจอปัญหาแบบเดียวกัน ก็คือ การเลือกปฏิบัติ รัฐบาลชุดนี้เข้าทำงานเพื่อคนทั้งประเทศ การเลือกปฏิบัติแบบโจ่งแจ้งอย่างนี้ คงทำให้ผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคหลายคนรู้สึกผิดหวัง
หากรัฐบาลใหม่อยากจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้จริง รัฐบาลต้องมองให้ไกลกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ มองปัญหาอย่างมีเหตุผล เปลี่ยนทัศนคติในการทำงาน ไม่แก้ปัญหาแบบมองจากที่สูงลงมา แล้วคิดเอาเองว่า อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้
การแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนแบบนี้ ต้องอาศัยองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริง ตัวอย่างของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย น่าจะเอาบทเรียนจากเขาเหล่านี้มาใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์บ้าง เพราะสิ่งที่เขาได้เรียนรู้นั้นเป็นองค์ความรู้แบบเดียวกับที่เกษตรกรคนอื่นต้องการ พิสูจน์แล้วว่าทำได้จริง
การพูดภาษาเดียวกัน ย่อมช่วยให้การสื่อสารทำได้ง่ายขึ้น การเรียนรู้จากคนที่เจอปัญหาแบบเดียวกัน ย่อมดีกว่าการเรียนรู้จากคนที่อยู่ในวงนอก ก็ใครเล่าจะเข้าใจเกษตรกรด้วยกันเองได้ดีกว่าเกษตรกรด้วยกัน