ธราดล ทันด่วน ตัดไม้ ต่อชีวิต
โดย : ปานใจ ปิ่นจินดา
ถ้านายทุนเจ้าของที่ดินคือขั้วตรงข้ามกับการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ คนที่อธิบายภาพนายทุนผู้ตราหน้าว่ากระทำการ 'ฆาตกรรมธรรมชาติ' จะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจากชายคนนี้ ธราดล ทันด่วน หรือ ครูต้อ ผู้ฝากคมมีดลงบนต้นไม้ตามคำสั่งของนายทุนมาแล้วนับไม่ถ้วน
จากคนหนุ่มที่ชีวิตต้องปัดเป๋เพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ ก่อนจะตัดสินใจโยนเครื่องคิดเลขทิ้ง และหันมาจับกรรไกรตัดต้นไม้ทำมาหากิน อาศัยพื้นฐานด้านวนศาสตร์จากรั้วนนทรี บวกเข้ากับประสบการณ์ชาวไร่กาแฟที่บริหารงานโดยแบรนด์ฝรั่ง กระทั่งไปเก็บเกี่ยวความรู้ด้านเคมีเกษตรจนทักทายโรคภัยของต้นไม้ได้พอหอมปากหอมคอ
วันนี้ครูต้อของบรรดาผู้รับเหมาหัวใจสีเขียว กลายเป็นเบอร์หนึ่งของวงการตัดและดูแลต้นไม้ใหญ่ที่แวดวงอสังหาริมทรัพย์เรียกใช้มากที่สุด
อยู่ในวงการนี้มานานจนถูกยกให้เป็นหมอต้นไม้?
จริงๆ แล้วจนถึงวันนี้ผมยังไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็น "รุกขกร" ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็น "หมอต้นไม้" นะ เหตุผลก็คือองค์ความรู้พื้นฐานที่เราควรจะรู้เกี่ยวกับงานนี้เราก็ยังห่าง ไกลกับสิ่งที่เราควรจะรู้
อย่างในต่างประเทศเขารู้ร้อยส่วน เราเองรู้แค่ยี่สิบสามสิบเปอร์เซ็นต์ของที่ควรจะรู้เท่านั้นเอง อันนี้ข้อที่หนึ่ง ส่วนอีกเรื่องคือ ต้นไม้บ้านเรามีความหลากหลายทางสายพันธุ์สูง เราต้องมีความรู้มากกว่าต่างประเทศหลายเท่าตัว ถึงจะเรียกตัวเองว่าเป็นหมอต้นไม้
ขอเรียกตัวเองว่าเป็นคนรับจ้างตัดต้นไม้คนนึงก็พอ
ความยากของการตัดต้นไม้ อยู่ที่ตรงไหน
ต้องเข้าใจต้นไม้ ถ้ามีพื้นฐานทางด้านวนศาสตร์มาบ้างก็ดี แต่ถ้ามีพื้นฐานด้านเกษตร ก็ต้องพยายามหาความรู้เรื่องต้นไม้เพิ่มขึ้น ต้องรู้จักพันธุ์ไม้
เรื่องที่สองคือต้องมี Safety Sense มีความระแวดระวังเรื่องความปลอดภัยกับสิ่งที่อาจเกิดอันตรายได้ตลอดเวลา
สุดท้ายคือ ต้องมีพื้นฐานด้านศิลปะด้วย อย่างน้อยก็ต้องมองออกว่า อันไหนสวย อันไหนไม่สวย บางคนตัดโดยไม่มองเรื่องความสวยงามเลยก็ทำงานยาก อย่างน้อยตั้งคำถามกับตัวเองหน่อยก็ดี ว่าต้นไม้ที่เราตัดไปวันนี้มันสวยหรือยัง ถ้าไม่สวย ก็ต้องถามต่อว่าไม่สวยตรงไหน ผมกล้าบอกเลยว่าสามปีคุณก็จะทำได้
ต้องหัดตั้งคำถามว่าทำไมตัดแล้วไม่สวย ทำไมตัดแล้วตาย ถ้าเราหัดตั้งคำถามไปเรื่อยๆ เราก็จะตอบได้ มันเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย ฉะนั้นเราต้องการคนที่ตั้งคำถามมากๆ เราต้องการคนรู้ ต้องการผู้รู้ เพราะสิ่งที่ผมรู้ในวันนี้ หรือจะสิ่งที่ผมรู้ในวันพรุ่งนี้ มันยังน้อยนิด ความชำนาญผมก็ยังจำกัด
ต้นไม้บางต้นไม่เคยตัด ก็จะงง ว่า เออ ต้นนี้คอกิ่งมันอยู่ตรงไหน ก็ลองตัดไปก่อน แล้วก็สังเกตไปเรื่อยๆ ว่า แบบนี้ต้องตัดอย่างนี้นะ แผลถึงจะหายเร็ว ต้องเริ่มต้นสะสมความรู้
ทำเงินไหม
ผมว่าทุกอาชีพมันก็ทำเงินพอๆ กัน สำหรับคนที่รักต้นไม้ เงินเป็นผลพลอยได้ ความสุข หรือเวลาที่เจอปัญหา คนที่ทำงานเพื่อเงินอย่างเดียวก็จะท้อ แต่คนที่มีความรู้สึกในงานจะทะลุ คือไม่ยอมให้ปัญหามาหยุดเขา ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตามถ้ามีความหลงใหลใฝ่ฝันในงานที่ตัวเองทำ แล้วมันก็จะไปได้ ผมบอกพวกนี้เสมอ ว่าลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นผลพลอยได้ คุณทำเพื่อเงิน คุณเครียด วันหนึ่งเงินมันก็หมด มันไม่ใช่วิถีชีวิต ไม่ใช่อะไรที่คุณรักมัน พอถึงจุดหนึ่งก็เบื่อ แต่คนที่ทำงานเพราะมีความหลงใหลในเนื้องานที่ทำ มีเงินก็หยุดไม่ได้ (หัวเราะ) คำตอบไม่ใช่เรื่องเงิน
แต่ยอมรับว่า เป็นอาชีพที่ในเมืองนอกทำเงินดีมาก ถามว่า ผมอัพราคาขึ้นมา 2 เท่า ลูกค้ายอมรับได้ไหม ผมว่าผมอยู่รอดได้ แต่มันจะทำให้คนรู้สึกว่า เฮ้ย Repair นี่มันแพงโว้ย แล้วคนก็จะไม่ดูแลเท่าที่ควร ผมจึงไม่อยากรวย แต่พอมีพอกิน แล้วทำให้คนสามารถดูแลต้นไม้ได้ ตรงนี้จะทำให้มันกว้างออกไป ต้องบอกว่า มีคนถามว่า ทำไมไม่คิดแพง
ได้ยินว่าทุกวันนี้คิวทองมาก
ลูกค้าคนล่าสุดต้องรอประมาณสองเดือน เหตุผลคือ ทีมเรามีจำกัด ผมอยากจะเทรนเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้ามา แต่ว่าการที่เราจู้จี้ในรายละเอียด ทั้งเรื่องความสวยงาม ประณีต แล้วก็เรื่องความอันตรายที่เขาจะต้องระมัดระวัง ทำให้คนงานส่วนใหญ่มองว่าเป็นงานที่จู้จี้จุกจิก น่ารำคาญ เขาไม่ชอบ เขาชอบงานง่ายๆ
ก็เลยไม่ค่อยมีใครสนใจอยากจะทำ
บ้านเราตอนนี้มาเห่อ ครีเอทีฟอิโคโนมี ถามว่านี่ครีเอทหรือเปล่า ผมว่าใช่ มันเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่คนไทยเราชำนาญ คืองานเกษตรใช่ไหม แทนที่จะไปทำนาทำสวนอย่างเดียว ช่วงที่ว่างจากสวน คุณก็มาทำตรงนี้ คุณก็จะมีรายได้ แต่ถ้าเขาคิดถึงเรื่องการออกแบบ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อันนี้มันอาจจะล้าสมัยเกินกว่าเป็นครีเอทีฟก็ได้นะ (หัวเราะ) พวกเทคนิคเหล่านี้ บางทีตัดต้นไม้ยากๆ ต้นไม้ยื่นเข้าไปในบ้านของคนอื่นหมดเลยนะ ข้างล่างก็เป็นบ้านเขา เราตัดยังไงที่จะเอาต้นไม้ข้ามมาลงในบ้านเรา ต้องผูกเชือก ต้องโยงเชือกให้ดี เปลี่ยนเชือก 3-4 เส้น ต้องใช้หลักฟิสิกส์ หลักด้านกลศาสตร์เข้ามาช่วย พวกนี้เป็นความรู้ทั้งนั้น
มันไม่ใช่การตัดต้นไม้พื้นๆ เราต้องตัดสินใจว่าต้นไม้ต้นนี้ ถ้ามันเอนเราจะตัดแค่ไหน ที่จะไม่ล้ม ตัดกะน้ำหนักให้ต้นรับอยู่ได้ ต้องตัดแต่งให้เขาสมดุล
ตอนนี้ผมก็รับงานล้นมือ เคยคิดอยากจะขยายงาน ก็ไปติดต่อพวกหน่วยงานทางเอสเอ็มอี เขามองธุรกิจต้องเป็นคลื่นลูกที่สาม คลื่นลูกที่ห้า คลื่นลูกที่หนึ่งมันล้าสมัย (ยิ้ม) เขามองไม่ออกว่าธุรกิจนี่เราทำเงินนะ ลูกค้านี่คนมีเงินทั้งนั้น แล้วเขาก็ให้เกียรติเราด้วย
ดูไม่ใช่ธุรกิจที่ลงทุนสูง แต่คิดราคาแพงได้เพราะค่าวิชาชีพ
ก็ตัดผิดไปกิ่งหนึ่ง โกรธไปหลายปีเชียวนะ (หัวเราะ) ลูกค้าบางคนมีคนมาตัดให้เมื่อ 5-6 ปีก่อน เขาก็บ่นให้ฟัง ไอ้คนนั้นแหละมันมาตัดให้ ด่าแบบจำขึ้นใจเลย (หัวเราะ)
15 ปีที่ผ่านมา สถานะต้นไม้ในเมืองในสายตาผู้คนเปลี่ยนไปแค่ไหน
เยอะมาก ถ้าเทียบกับสมัยผมวัยเด็ก กรุงเทพฯ จะร้อน เขาจะสร้างถนน ตัดถนน แหวกต้นไม้ออกไปหมดเลย ในอดีตจะร้อนมาก ยุคเมืองกำลังขยาย ต่อมาเมื่อเราเริ่มมีการเลือกผู้ว่า กทม. ก็มีการเอาต้นไม้เข้ามาปลูกเยอะขึ้น
ถ้าเรามองต้นไม้เป็นทรัพย์สิน ลองสำรวจจำนวนต้นไม้ในกรุงเทพฯ ดูสิว่ามีกี่ต้น ประเมินมูลค่าแล้วจะตกใจ (ยิ้ม) สมมติว่าจะซื้อต้นไม้ต้นใหม่ซักต้น ราคาเท่าไหร่ลองมาคำนวณ ต้นไม้ข้างถนนมีมูลค่าเท่าไหร่ ผมว่ามหาศาล ถ้าเราดูแลต้นไม้เหล่านี้ดีๆ พอต้นไม้มันสวย มูลค่ามันก็เพิ่ม คุณค่ามันก็เพิ่ม มันคือการเพิ่มทุกอย่างให้กับเมือง
แปลว่าไม่ใช่แค่คุณค่าเท่านั้น ในแง่มูลค่าต้นไม้ในเมืองก็มีไม่แพ้กัน
วันนี้เราไม่ได้มองต้นไม้แบบสมัยก่อน ที่มองว่าต้นไม้บ้านเรามีเยอะ ตัดทิ้งไปบ้างเดี๋ยวหามาปลูกก็ได้ จะไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ยิ่งเดี๋ยวนี้ ต้นไม้ใหญ่ๆ คุณไม่มีสิทธิเอาเข้าเมือง อย่างต้นไทรที่แบงค์ชาติ คุณตัดแล้วจะเอาต้นขนาดนั้นเข้ามาอีก ไม่มีทางเลย ต้นใหญ่มาเอามาก็คับถนนไปหมด เอามาทางเรือก็ยังไม่รู้ว่าจะได้หรือเปล่า เคยตัดเสร็จแล้วก็ไปเรียกคนขายต้นไม้มาดูต้นไม้ต้นนี้นะ บอกว่าถ้าผมเอาต้นนี้ออก แล้วคุณหาต้นไม้ที่มีอารมณ์เดียวกันเท่านี้ ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เขาบอก 5 แสน ไม่อยู่ นั่นคือมูลค่าของต้นไม้ต้นนั้น
หรือกระทั่งต้นไม้ในที่ดินเอกชนเอง ก็มีนักธุรกิจรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ที่ทำโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้วอยากเก็บต้นไม้ไว้ก็มี เพราะวันนี้เขารู้แล้ว ว่าถ้าเก็บต้นไม้ไว้ได้ เขาก็ได้ประโยชน์
อย่างไร
ขายได้ราคาสูง ขายปิดโครงการได้เร็ว (หัวเราะ) คนที่มาอยู่โดยรอบธุรกิจเขาก็ดีด้วย พอมันร่มเย็น คนก็อยากนั่ง เขาเคยมีการทำวิจัยในอเมริกา พบว่า ศูนย์การค้าที่ร่มรื่น คนจะอยู่ในศูนย์การค้านานกว่าปกติ คนจะใช้เวลาในนั้นนานกว่า หรืออย่างเมืองที่ร่มรื่น นักท่องเที่ยวจะอยู่นานวันมากกว่าเมืองร้อนๆ อย่างสิงคโปร์ ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไร เพียงแต่เมืองเขาร่มรื่น คนก็อยู่นาน คนก็อยากไปเที่ยว
ถามว่าต้นไม้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไหม ผมว่าส่งผลทางบวกมากๆ แต่ ณ วันนี้ ถามว่าสิ่งเหล่านี้นักธุรกิจรู้ไหม.. เขารู้นะ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน เขาไม่มีคนที่จะจัดการให้มันถูกต้อง
คนที่รู้วิธีมีแค่เรา?
(พยักหน้า) ถ้าเป็นรายที่ทำทุกกระบวนการอย่างถูกต้อง มีมาตรฐาน
เคสหนักที่สุดที่มาถึงมือ เป็นอย่างไร
ผมเคยไปย้ายต้นจามจุรี ให้กับโครงการหนึ่งใจกลางเมืองเช่นกัน ตอนนั้นผมเข้าไปตอนที่เขาเริ่มจะวางฐานราก เริ่มจะเจาะเสาเข็มกันแล้วถึงได้รู้ว่าต้นไม้ต้นนี้มีปัญหาในการก่อสร้าง เพราะถึงแม้ต้นไม้มันจะอยู่ที่ขอบที่ แต่ลำต้นเอนเข้ามาข้างใน ทำให้ทำอะไรไม่ได้เลย แต่ว่าเจ้าของโครงการอยากเก็บไว้ ส่วนอีกต้นในโครงการเดียวกัน ดันไปอยู่ตรงทางเข้าโครงการเลย ซึ่งมันต้องโค่นลูกเดียว เพราะมันขวางเต็มๆ เขาก็มาถามเรา ว่าย้ายได้ไหม ซึ่งถ้าจะย้ายก็ไม่มีเวลามาก ไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะดีเลย์หมด ก็ต้องย้ายสด เพราะรอไม่ได้
ผมก็บอกราคาไปต้นละห้าหมื่น แล้วก็บอกโอกาสรอดของต้นไม้ โดยเฉพาะต้นที่มันเอียงเข้ามามากนี่ โอกาสรอดแทบไม่มี แต่ก็บอกให้เขาไปตัดสินใจ ซึ่งสุดท้ายเขาก็ยอมจ่ายเงินหนึ่งแสนบาท เพื่อการย้ายต้นไม้สองต้น
ปรากฏว่าพอย้ายเสร็จ คนที่มารับจ้างย้าย เขาก็ยืนมองต้นจามจุรี แล้วละเมอบอกว่า เฮ้ย ต้นนี้มันเป็นแสนเลยนี่หว่า!
ที่ผ่านมามีโครงการที่เอาต้นไม้เป็นตัวตั้ง แล้วค่อยออกแบบตามต้นไม้หรือยัง
เท่าที่เห็นมี 3 รายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เทรนด์มันมาแน่นอน ยิ่งเดี๋ยวนี้เราทำโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ต่างชาติ ต้นไม้เป็นเรื่องสำคัญเลย อย่างมีกรณีที่เจริญกรุงตอนนี้กำลังหาทางกันอยู่ มีต้นไทรเกาะอยู่กับกำแพงโกดัง แล้วเขาอยากให้เราย้ายทั้งกำแพงเพื่อที่จะเอามาทำร้านอาหาร แล้วให้ต้นไม้ต้นนี้เป็นนางเอก โคตรมันเลย (หัวเราะ) คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้รักต้นไม้เยอะ และถ้ามีการให้ความรู้ ย้ำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต้นไม้จะอยู่ในบ้านเรามากขึ้น
ปัญหาสำคัญ คือ ขาดคนรู้จริง
นักธุรกิจเขาต้องเสี่ยงนะ ว่าถ้ายอมจ่ายเงินไปกับการย้ายต้นไม้แล้วจะคุ้มจริงไหม โอกาสรอดมีแค่ไหน คนที่ดูแลโครงการเขาจะต้องตอบคำถามเหล่านี้แก่เจ้านาย ผู้ถือหุ้นให้ได้ ว่าทำไมต้องยอมจ่ายเงิน
แต่เมื่อไม่มีนักวิชาการเข้ามา ก็ได้แต่ประเมินกันด้วยประสบการณ์ ผมถึงบอกว่า วันนี้ สิ่งที่ต้องผลักดันคือการศึกษา ถ้าคณะวนศาสตร์ยังไม่ก้าวเข้ามาทำ อีกหน่อยพวกที่สอนด้านสิ่งแวดล้อม สอนด้านภูมิสถาปัตย์ ก็ต้องก้าวเข้ามาจนได้ เพราะสถานการณ์มันบังคับว่า เราต้องรู้แล้ว และคนที่พร้อมจะเก็บต้นไม้ไว้เยอะมากขึ้นมาก
คำถามสำคัญคือเรามีคนที่มีความรู้ที่จะเข้าไปช่วยคนพวกนี้รักษาต้นไม้ ไว้หรือเปล่า ถ้าเรามี ผมก็เชื่อว่าต้นไม้ในโครงการก่อสร้างจะได้รับการอนุรักษ์ไว้มากขึ้น แต่ว่าที่ถูกต้องที่สุดเลย คือเมื่อซื้อที่และวางแผนจะทำอะไรแล้ว รุกขกร จะต้องเข้าไปเลย
เรียนรู้อะไรจากงานที่ทำบ้าง
(นิ่ง คิด) รู้ว่า... เรายังไม่รู้อะไรเลย ตอนที่เข้ามาทำแรกๆ อันนี้เราก็รู้ อันนั้นเราก็รู้ พอมาหลังๆ อันนั้นอาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้นะ อันนี้อาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้นะ แต่เรื่องหนึ่งทำให้เรารู้ว่า เราอยู่ในพื้นที่ที่เราต้องรู้เรื่องธรรมชาติมากกว่านี้หลายเท่าตัว อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เราจะทำงานไหนให้ประสบความสำเร็จ ต้องมีความหลงใหลใฝ่ฝันในงาน ก่อนที่จะมาทำงานนี้ ผมล้มเหลวอย่างสมบูรณ์แบบทุกอย่าง ก่อนจะเกิดต้มยำกุ้ง ผมมีปัญหา ทุกอย่างแหลกละเอียดไปหมด ผมทำงานนี้เพราะจะได้เป็นเครื่องหากินเลี้ยงชีวิตไปวันๆ ผมไม่ได้ฝันจะเป็นเบอร์ 1 ผมรักงานนี้ แล้วมันก็ทำให้ผมก้าวหน้ามาตลอด ถ้าผมเห็นแก่เงินก็อาจจะทำงานหนักกว่านี้ แต่นั่นไม่ใช่ตัวผม
ผมอยากให้งานนี้มีคนรู้จักมากๆ อยากให้คนมีความรู้เรื่องต้นไม้มากๆ ก็เลยคิดทำเท่าที่พออยู่กันได้
ตอนนี้เสียงของคนที่พูดเรื่องต้นไม้เริ่มดังมากขึ้น แต่เนื่องจากไม่มีคนทำเรื่องนี้จริงจัง มันก็ยังเป็นเหตุให้คนที่มีอำนาจอ้างว่าเขาจะตัดต้นไม้ได้ เพราะมันเป็นอันตราย ก็ปรับแก้ไข ทำให้ดีก็ไม่เป็นอันตรายแล้ว จบ เขาก็ไม่มีข้ออ้าง ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องทำเพื่อต้นไม้ในเมืองวันนี้คือต้องเร่งเรื่องการ ศึกษา เร่งการสร้างคน
จะเร่งอย่างไรในเมื่อบ้านเราไม่มีวิชาด้านนี้โดยตรง
ก็ต้องเริ่ม ผมว่าเรามีนักวิชาการป่าไม้ คุณกล้าเข้ามาในสังคมเมืองสิ แล้วคุณเจอปัญหาอะไร ก็กลับไปเอาองค์ความรู้เดิมของคุณถกกับปัญหา หลายคนรู้มาก หลายคนรู้ดี หลายคนรู้ลึก แต่อยู่ในป่าธรรมชาติ มีขอบเขตว่า พื้นที่ของฉันมีแค่นี้นะ ผมบอกว่าเดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แล้วนะ โลกมันเปลี่ยนเร็ว นักวิชาการป่าไม้ต้องออกมา ในกรมป่าไม้ก็เริ่มมีนะ สำนักพัฒนาป่าไม้ในเมือง แต่เจ้าหน้าที่อาจจะไม่คุ้น
ขณะที่เจ้าหน้าที่ กทม. เขาจะมีพื้นฐานเกษตร ส่วนใหญ่เขาจะตัดแต่งโดยใช้พื้นความรู้ทางการเกษตรอย่างเดียว เขาไม่มีความรู้เรื่องพรรณไม้ที่หลากหลาย เขามองไม่เห็นถึงถิ่นกำเนิด สภาพพื้นที่ แต่พวกวนศาสตร์จะนึกออก แต่ไม่ได้หมายความว่านักเกษตรจะหาความรู้ไม่ได้ ถ้าเขาเริ่มต้นหาความรู้ ตอนนี้มีอินเทอร์เน็ตให้เยอะแยะ
ความรู้ที่ยังขาดอยู่ในวันนี้คืออะไร
ถ้ามีนักวิชาการที่ทำเรื่องป่าไม้ ที่ทำเรื่องโรคพืช โรควิทยาป่าไม้ รู้เรื่องกีฏวิทยาป่าไม้ (ศึกษาและวิจัยด้านแมลงที่เป็นศัตรูทำลายต้นไม้) Plant Physiology (สรีรวิทยาของพืช) เข้ามาช่วยล่ะก็ ความรู้ที่มีอยู่ก็จะโตกว่านี้อีกมาก
ถามว่า Plant Physiology เข้ามายังไง ลองดูอย่างต้นแก้ว ซึ่งเป็นต้นไม้หลังบ้านที่คนไทยคุ้นเคยมานานมาก ลองสังเกตไหมว่า เวลาที่ดอกแก้วบ้านเราบาน ดอกแก้วบ้านอื่นๆ ก็จะบานพร้อมกันในบริเวณที่กว้างมากเลย ถามว่าทำไม... ไม่มีใครตอบได้ แต่ Plant Physiology จะตอบได้ว่าอะไรที่ไปกระตุ้นให้ต้นแก้วออกดอกพร้อมกัน ตรงนี้คือความไม่รู้ของคนที่เกี่ยวข้องในเมืองไทย เรายังไม่มีอะไรเป็นพื้นฐานที่อ้างอิงได้
อย่างในเมืองนอกเขามีการวิจัยเยอะมาก มีคนที่รู้เรื่องเฉพาะทางก็เยอะ เขาไปถึงขั้นวิเคราะห์ใบกันแล้ว เก็บใบแก่ ต้นนี้ต้องไปเก็บใบนั้น ใบนี้ ใบที่เท่าไหร่ จากตรงไหน แล้วเอามาวิเคราะห์ใบว่า ต้นไม้ต้นนี้ขาดธาตุอะไรบ้าง แล้วค่อยให้ปุ๋ยตามที่ต้องการ เป็นชนิดๆ ไป มีบริการรับจ้างวิเคราะห์ดินสำหรับตัดไม้ในเมือง เมืองนอกเขาไปสุดๆ เลย
คนในเมืองใหญ่ กับ ต้นไม้ใหญ่ในเมือง จุดร่วมอยู่ที่ตรงไหน
คือ ต้นไม้จะต้องไม่บาดเจ็บจากกิจกรรมของคนในเมือง ต้นไม้ที่เขางอกเข้าไปในถนน แล้วมีรถไปเฉี่ยว นี่คนไม่ต้องหลบ ต้นไม้ต้องหลบ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าต้นไม้เข้าไปรบกวนคน เราก็ต้องควบคุมต้นไม้ ถ้ากิจกรรมของคนไปทำอันตรายให้กับต้นไม้เราก็ต้องป้องกันต้นไม้ อย่างรถยนต์มาชนต้นไม้ ขณะเดียวกัน กิ่งก็ต้องไม่หักมาโดนคน ไม่กีดขวางโค่นล้มถูกทรัพย์สินเสียหาย
เพราะฉะนั้นคนกับต้นไม้ต้องอยู่ด้วยกันได้ด้วยความปลอดภัยทั้ง 2 ฝ่าย เราไม่สามารถจะเอาคนเป็นหลัก ขณะเดียวกันเราตามใจต้นไม้ก็ไม่ได้ ตรงนี้ เราจะทำอย่างไรให้ทั้งคนในเมืองกับต้นไม้ในเมืองเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน มากกว่า
ถ้าการตัดต้นไม้เป็นเรื่องจำเป็น แต่ทำไมหลายคนยังมองว่าการตัดต้นไม้คือ ฆาตกรรม
เรื่องนี้อธิบายได้ไม่ยาก ยกตัวอย่างถ้าคุณมีลูก คุณตามใจลูกคุณทุกอย่าง คุณก็สปอยล์ แต่ถ้าคุณกดดันลูกคุณทุกอย่างเลย เข้มงวด คุณก็จะเสียลูกไปเหมือนกัน มันเป็นศิลปะที่จะเข้าไปควบคุมเขาในระดับที่พอเหมาะพอสม ให้เขาเจริญเติบโตเป็นตัวของเขาเอง
ต้นไม้ก็เหมือนกัน บางต้นโตช้า เราก็ไม่ต้องตัดบ่อย นานๆ ครั้งก็พอ แต่บางต้นโตเร็ว ก็ต้องตัด แต่ต้องมาคิดด้วยว่า จะตัดแค่ไหนที่จะทำให้เขาสร้างฟอร์มได้ สร้างเอกลักษณ์ของเขาออกมาได้เต็มที่ เบ่งบานได้เต็มที่
ซึ่งตรงนี้ เป็นเรื่องยากมากสำหรับเมืองไทย เพราะต้นไม้เราเยอะมาก ถามว่าผมรู้จักต้นไม้ทุกต้นไหม หลายต้นก็ไม่รู้ ไปขุดมาจากป่าไหนก็ไม่รู้ (หัวเราะ)
เพราะฉะนั้น เรายังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ผมว่าเราต้องการคนทั้งสองด้านเลยคือ ทั้งด้านปฏิบัติ คือ สร้างคนงาน สร้างนักปฏิบัติที่จะมีความชำนาญ แล้วก็สร้างนักวิชาการที่จะมาทำเรื่องป่าไม้ในเมืองอย่างจริงๆ จังๆ
เสียดายว่าเราไม่เห็นตรงนี้ ส่วนผมก็ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นหมอต้นไม้ ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นรุกขกร เพราะมันยังอีกห่างไกล แต่ก็หวังว่า เราก้าวเข้ามาแล้ว ก็อยากให้เป็นบันไดขั้นแรกให้กับคนรุ่นหลังที่อยากจะเข้ามาทำงานตรงนี้
แปลว่าพร้อมจะถ่ายทอดวิชา?
ตั้งแต่ทำงานนี้มาเกือบยี่สิบปี เพิ่งจะมีลูกศิษย์เป็นเรื่องเป็นราวก็คนนี้แหละ (มือชี้ไปที่ลูกศิษย์สาว บัณฑิตหมาดๆ จากรั้วเกษตรศาสตร์) เขาเรียนวนศาสตร์ แล้วก็มาฝึกงานกับผม จนเรียนจบก็มาขอทำงานด้วย นี่ผมก็สอนงานเขามาได้ปีนึงแล้ว ต้องปรบมือให้เลยนะ เขามีความตั้งใจดีมาก คือ เมื่อก่อนก็เคยมีเด็กมาขอทำงานกับผม ปรากฏว่าไม่รอด ทำไม่ไหว เพราะงานตรงนี้มันเหนื่อย แถมต้องจุกจิก รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ต้องดูให้ครบ ซึ่งผมจะต้องคอยบ่น เขาก็อยู่ไม่ไหว ขนาดลูกน้องยังชอบว่าผมเลย ว่า อาจารย์ดีแต่เห่าอยู่ใต้ต้นไม้
คือ คุมงานตัดต้นไม้มันต้องดูแลใกล้ชิด จะปล่อยให้ช่างทำงาน แล้วเราไปนั่งหลบร้อนไม่ได้ ต้องคุมตลอด เด็กวัยรุ่นเขาก็เบื่อ ไม่อยากทำอะไรแบบนี้ ทำๆ ไปไม่นานก็หายหน้ากันไปหมด เหลือคนนี้แหละ ทนสุด
เห็นสภาพต้นไม้ทุกวันนี้เป็นอย่างไร
หงุดหงิด (หัวเราะ)