จาก คมชัดลึกออนไลน์
คมชัดลึก : ช่วงนี้ใกล้ฤดูกาลลำไยแล้ว ถึงแม้จะมีลำไยนอกฤดูทั้งปีก็ตาม แต่คนไทยเราไม่ค่อยได้มีโอกาสลิ้มรสลำไยเหล่านี้ เพราะส่งออกเกือบทั้งหมด ตลาดใหญ่ก็อยู่ที่จีนและฮ่องกงเป็นหลัก
ในการส่งออกลำไยจะต้องมีการ รมด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งแก๊สตัวนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเผากำมะถัน โดยกำมะถันจะรวมตัวกับออกซิเจนในอากาศแล้วกลายเป็นซัลเฟอร์ไดออกไซด์
เหตุที่ต้องมีการรมด้วยควันกำมะถันดังกล่าวก็เพราะว่าในการส่งออกทางเรือนั้น ใช้เวลานานและผลลำไยจะเน่าเสียมาก การรมควันกำมะถันจะช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บนผิวได้ และยังมีผลทำให้ผิวเปลือกมีสีนวลสวยงามมากขึ้น
การรมควันกำมะถันกับผลไม้ มีการใช้มานานแล้วในหลายพืช เช่น องุ่น ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็มีการรมควันกำมะถันมาแล้ว แต่กระบวนการรมของต่างประเทศมีมาตรฐานสูงกว่าวิธีการของไทยมาก
การรมควันกำมะถันลำไยในเมืองไทยทำโดยการใช้โรงอบที่ก่อขึ้นมาเป็นห้องปิดทึบ ส่วนใหญ่เป็นโรงคอนกรีต แล้วมีช่องด้านนอกซึ่งเป็นที่สำหรับเผากำมะถัน วิธีการเผาก็คือการเอากำมะถันมาเผาโดยมีการเติมออกซิเจนเข้าไป แล้วให้ควันกำมะถันดูดเข้าไปในโรงอบ วิธีการแบบนี้มีข้อจำกัดหลายอย่างที่สำคัญคือ
ประการแรกคือ ไม่สามารถควบคุมความเข้มข้นของแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในโรงอบได้ และยิ่งไปกว่านั้นคือการหมุนเวียนของควันกำมะถันในโรงอบก็ไม่สม่ำเสมอ ทำให้บางจุดมีความเข้มข้นสูง บางจุดก็ต่ำ
ประการที่สองคือ ค่อนข้างอันตรายมากในกระบวนการเผา เพราะมีการใส่ออกซิเจนจากถังเข้าไปเผาไหม้กำมะถันด้วย อันตรายจากการระเบิดหากควบคุมไม่ดีก็มีสูง อย่างที่สามคือความร้อนที่เกิดจากการเผากำมะถันยังเข้าไปในห้องอบด้วย ทำให้ผลลำไนต้องถูกความร้อนเพิ่มขึ้น คุณภาพและอายุการเก็บรักษาก็สั้นลง
สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างบนผลลำไย เมื่อไม่นานมานี้ก็เคยมีข่าวว่าลูกค้าต่างชาติที่ซื้อลำไยจากประเทศไทยเข้าไป แล้วมีปัญหาปากบวมปากเจ่อ เนื่องจากเวลาปอกลำไยใช้วิธีกัดโดยตรง ทำให้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างบนผิวผลแสดงฤทธิ์เป็นกรดและกัดปากอย่างที่เป็นข่าว
ความจริงเรื่องของการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในการรมผลไม้นั้นมีการใช้มานานแล้วในหลายพืช แต่ว่าต้องมีการควบคุมปริมาณสารตกค้างไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน
ดังนั้นหากเรายังคงใช้วิธีการรมกำมะถันแบบเดิมในลักษณะที่ไม่สามารถควบคุมความเข้มข้นได้ ก็มีโอกาสเกิดปัญหาสารตกค้างสูงเกินกำหนด เพราะโดยปกติแล้วการรมกำมะถันของพ่อค้ามักจะใส่กำมะถันเกินเกณฑ์อยู่แล้วเพื่อความแน่ใจว่าลำไยทุกผลในห้องรมได้รับสารแน่นอน
ปัญหาอย่างนี้หากไม่แก้ไขก็คงหมดโอกาสขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการของคุณภาพสูง
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับปัญหาดังกล่าวจึงได้ร่วมกันหาทางพัฒนาห้องรมควันกำมะถันขึ้นมาใหม่ ซึ่งใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมและความรู้ด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวพืชผล จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างห้องรมแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่สามารถควบคุมความเข้มข้นและจัดการเรื่องการกระจายตัวของแก๊สในห้องอบให้สม่ำเสมอได้
โดยสามารถสร้างห้องต้นแบบขึ้นมาและทดลองใช้กับลำไยส่งออกมาระยะหนึ่งแล้ว ลำไยที่ผ่านการรวมควันด้วยวิธีนี้มีคุณภาพสูงและปริมาณสารตกค้างก็ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด
ห้องที่ว่านี้เป็นอย่างไรและใช้ได้ผลเป็นอย่างไรนั้น คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังครับ!
"รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ"