จาก คมชัดลึกออนไลน์
คมชัดลึก :คราว ที่แล้วได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับปัญหาของชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพด ซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูงมาก โดยครึ่งหนึ่งของต้นทุนเป็นค่าปุ๋ยเคมี ประกอบกับมีทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยี ปุ๋ยสั่งตัดขึ้นมา
จึงได้นำมาขยายผลในพื้นที่ของชาวบ้านที่ประสบปัญหาค่าปุ๋ยแพงดัง กล่าว สำหรับวิธีการดำเนินงานของนักวิจัยกลุ่มที่ได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งมี ดร.ธนูชัย กองแก้ว เป็นหัวหน้าทีม ได้ทำอะไรบ้างนั้น จะขอนำมาเล่าให้ฟังกันถึงความพยายามของทีมนักวิจัยดังกล่าว
ขั้นแรกของการทำงานก็คือการทำความเข้าใจกับชาวบ้านก่อน โดยเชิญเกษตรกรมาหารือด้วยกันถึง 3 ครั้ง กว่าจะลงตัวและเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการมีความเข้าใจ โดยเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมมาจากหลายตำบลของ อ.นครไทย เช่น ต.ห้วยเฮี้ย ต.นาบัว ต.เนินเพิ่ม ต.บ่อโพธิ์ และตำบลใกล้เคียงร่วมประชุมร่วมกัน ในที่สุดได้เกษตรกรทั้งหมด 84 รายเข้าร่วมโครงการ
โดยสิ่งแรกที่ได้คือจะได้รับการให้บริการตรวจสอบชุดดิน ตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดินและได้รับการสนับสนุนค่าปุ๋ยเคมีในอัตราตามค่า วิเคราะห์ดิน (ประมาณรายละ 1,200 บาท) ส่วนเกษตรกรต้องดูแลรักษาแปลงสาธิตและเก็บข้อมูลต่างๆ ตามที่นักวิจัยมอบหมาย แต่ก่อนอื่น ชาวบ้านต้องทำความรู้จักดินของตนเองก่อน นักวิจัยจึงได้จัดบรรยายและฝึกฝนจากของจริงในการเก็บตัวอย่างดินและตรวจสอบ ชุดดิน โดยสอนหลักการและลงมือปฏิบัติจริง ในที่สุดชาวบ้านก็เรียนรู้ว่าชุดดินของตนเองคืออะไร และได้เรียนรู้วิธีการวิเคราะห์ดินของตัวเองเป็น เมื่อรู้ชุดดินแล้วสิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหาร NPK ในดินโดยใช้ชุดตรวจสอบปริมาณธาตุอาหารในดินอย่างง่ายที่ ดร. ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ได้พัฒนาขึ้นมา ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญ หลายคนนึกว่าจะให้ชาวบ้านใช้ชุดตรวจสอบดังกล่าวในการวิเคราะห์ดินคงเป็น เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ความจริงแล้วชุดตรวจสอบดังกล่าวใช้ง่ายมากและรวดเร็ว ชาวบ้านสามารถเรียนรู้และใช้เองได้อย่างสบาย เพราะผลจากการวิเคราะห์ดังกล่าวจะบอกได้เป็นระดับว่าดินของตนเองนั้นมีเนื้อ ปุ๋ย สูง กลาง ต่ำ หรือต่ำมาก ไม่ได้บอกออกมาเป็นตัวเลข จึงเข้าใจได้ง่ายกว่า
พอได้รู้ว่าดินของตนเองมีค่าธาตุอาหารมากน้อยเพียงใดแล้ว ก็มาถึงขั้นของการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าที่วิเคราะห์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าวิเคราะห์ดินได้ เอ็น-พี-เค เท่ากับ ต่ำมาก-สูง-ต่ำ จะแนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมีในรูป N-P2O5-K2O เท่ากับ 14-12-2 กิโลกรัมต่อไร่ คราวนี้การที่จะให้ได้เนื้อปุ๋ยตามต้องการ ก็ต้องผสมปุ๋ยจากแม่ปุ๋ยหรือจากปุ๋ยที่ใช้กันอยู่ทั่วไปให้ได้สัดส่วนตามที่ ต้องการ
อย่างเช่น ถ้าต้องการเนื้อปุ๋ยเอ็น-พี-เค เท่ากับ 14-12-2 กิโลกรัมต่อไร่ ก็ต้องดูว่าแม่ปุ๋ยที่จะใช้คืออะไร เช่นอาจใช้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 18-46-0 เป็นฐาน แล้วเสริมตัวหน้าหรือไนโตรเจนด้วยปุ๋ยยูเรียหรือ 46-0-0 แล้วปรับแต่งตัวหลังหรือโพแทสเซียมด้วยปุ๋ยสูตร 0-0-60 ทั้งหมดนี้สามารถเทียบกับตารางที่นักวิจัยได้สร้างขึ้นมาให้ใช้ได้ง่าย ก็จะบอกได้ว่าจะต้องใช้ปุ๋ยอะไรในปริมาณเท่าใด จึงจะได้ครบสูตรตามที่ต้องการ ซึ่งก็ถือว่าทำได้ง่ายมากเช่นกัน โดยชาวบ้านไม่ต้องมาคำนวณเองให้ยุ่งยาก
เมื่อได้สูตรแล้ว การที่จะผสมปุ๋ยก็ทำได้ในขั้นตอนต่อไปอย่างง่ายๆ คือการใช้เครื่องผสมปุ๋ย ซึ่งอาจใช้เครื่องผสมปูนมาใช้แทนในการนี้ได้ การผสมคลุกปุ๋ยแบบนี้ก็เพื่อที่จะได้สะดวกในการใช้หรือหว่านในแปลงโดยไม่ ต้องแยกส่วนกันใส่ให้ยุ่งยาก ทั้งหมดนี้คือขั้นตอนความพยายามที่นักวิจัยได้เข้าไปช่วยชาวบ้านในอำเภอนคร ไทยเพื่อให้ปรับเปลี่ยนการใช้ปุ๋ยโดยเป็นการลดต้นทุน หลังจากนั้นยังมีกิจกรรมต่อเนื่องมาอีกเพื่อให้เกิดการขยายผล ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้นจะเล่าให้ฟังต่อไปครับ
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ