จาก วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน
บันทึกไว้เป็นเกียรติ
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
งานพัฒนาการปลูกพริกเหลืองเชิงพาณิชย์
ฤดู กาลปลูกพริกของเกษตรกรไทยจะอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนต้นหนาว เหตุผลเป็นเพราะว่า เกษตรกรจะใช้พื้นที่หลังการทำนา ทำให้ผลผลิตพริกในฤดูกาลจะออกมาสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงระหว่างเดือน มกราคม-พฤษภาคม ทำให้ผลผลิตเกินความต้องการของตลาดและมีผลทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ แต่การผลิตพริกให้ออกนอกฤดูกาลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือน มิถุนายน-ธันวาคม จะพบปัญหาจากหลายประการ อาทิ การใช้พื้นที่นามาปลูกพริกจะประสบปัญหาเรื่องการระบายน้ำที่ไม่ดีพอ หลังจากปลูกไปแล้วไม่ทันเก็บเกี่ยวผลผลิตต้นจะตายก่อน ต้นพริกที่ผ่านช่วงฤดูฝนมีโอกาสเป็นโรคแอนแทรกโนสได้ง่ายมาก หรือแม้แต่โรคพริกอื่นๆ เนื่องจากในฤดูฝนมีความชื้นสูง ทำให้การปลูกพริกในเชิงพาณิชย์ในช่วงฤดูฝนจึงมีความเสี่ยงมากกว่าฤดูอื่น แต่ถ้าผลิตพริกนอกฤดูกาลได้ประสบผลสำเร็จ ย่อมสร้างรายได้ดีกว่าการผลิตพริกในฤดูกาลอย่างแน่นอน
ใน บรรดากลุ่มพริกใหญ่หรือพริกชี้ฟ้าทั้งหลาย เมื่อแบ่งตามสีของผลจะมีอยู่หลายสีและที่รู้จักกันดีคือ กลุ่มสีเขียว ซึ่งมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียวเหลือง และเขียวเข้ม เป็นต้น ในขณะที่พริกใหญ่ที่มีสีเหลืองจะเป็นกลุ่มที่หายากและมีราคาแพงที่สุด ในขณะที่ความต้องการบริโภคพริกเหลืองของคนไทยยังมีความต้องการอย่างต่อ เนื่อง เนื่องจากเมื่อนำมาประกอบอาหารจะได้สีและรสชาติที่มีความหอมเฉพาะตัว ในบางช่วงราคาของพริกเหลืองที่มีวางขายในท้องตลาดจะสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท ปัจจุบันพันธุ์พริกเหลืองที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปจะเป็นพันธุ์พริกเหลืองบางบัว ทอง แต่มีจุดอ่อนตรงที่ไม่ค่อยทนทานต่อโรคและผลผลิตต่อไร่ต่ำ ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร กรมวิชาการเกษตร ได้ปรับปรุงพันธุ์พริกเหลืองโดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพริกพันธุ์ พจ.013 (ผลสีส้ม) กับพริกพันธุ์ พจ.07 (ผลสีเขียวอ่อน) และได้คัดเลือกให้เป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา จนได้พันธุ์พริกเหลืองที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพริกเหลืองบางบัวทอง พริกเหลืองพันธุ์ใหม่ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตรปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่ นั้น มีลักษณะที่ดีเด่นกว่าพริกเหลืองบางบัวทองตรงที่มีขนาดของผลใหญ่ เรียวยาวกว่า และให้ผลผลิตสูงกว่า ปัจจุบันทางแผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ได้นำพันธุ์พริกเหลืองมาปลูกและปรับปรุงพันธุ์เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรได้ ปลูกต่อไปในอนาคต
การเตรียมพื้นที่ปลูกพริกเหลือง
สำหรับ เกษตรกรที่เริ่มต้นปลูกพริกในที่ดินใหม่จะต้องเก็บตัวอย่างดินไปตรวจ วิเคราะห์อย่างน้อยที่สุดควรตรวจค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน ดินที่เหมาะต่อการปลูกพริกควรมีค่า pH=6.0-6.8 ถ้าสภาพดินเป็นกรดจะต้องมีการปรับสภาพของดินโดยใช้โดโลไมต์หรือปูนขาว ซึ่งจะใส่ในแต่ละครั้งเฉลี่ย 300 กิโลกรัม ต่อไร่ ก่อนที่จะไถดินให้ใส่ปุ๋ยคอกอย่างน้อยไร่ละ 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน เมื่อไถดินเสร็จให้ตากดินทิ้งไว้นาน 3-7 วัน
หลังจากตากดินเสร็จก็จะ เป็นขั้นตอนของการยกแปลงปลูก โดยแปลงปลูกควรจะสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวของแปลงขึ้นกับสภาพพื้นที่ แต่ความยาวของแปลงไม่ควรเกิน 50 เมตร ในการขึ้นแปลงจะใช้รถไถดินผาล 7 ขึ้นแปลงไป-กลับ 4 รอบ เมื่อขึ้นรอบที่ 5 ให้ใช้เกรดรถไถปรับหลังแปลงให้เรียบเป็นแปลงพริก (ไม่ต้องเสียเวลาใช้แรงงานคน) จากนั้นอาจจะปูพลาสติคและวางสายน้ำหยดหรือจัดระบบการให้น้ำตามความเหมาะสมใน แต่ละพื้นที่
เทคนิคในการเพาะเมล็ดพริกเหลือง
ใน สภาพความเป็นจริงในการเพาะเมล็ดพริกมีอยู่หลายวิธี แต่ขั้นตอนสำคัญลำดับแรกที่เป็นคำแนะนำที่สำคัญของทางราชการก็คือ จะต้องนำเมล็ดพันธุ์พริกมาแช่ในน้ำอุ่น วิธีการทำน้ำอุ่น ใช้น้ำร้อนเทลงไปในภาชนะก่อน 1 ส่วน และเทน้ำเย็นลงไปอีก 1 ส่วน (วิธีการทดสอบอุณหภูมิของน้ำ ใช้มือจุ่มลงไป ถ้ามือของเราพอที่จะทนได้ เป็นอันว่าน้ำอุ่นของเราใช้ได้) แช่เมล็ดพริกในน้ำอุ่นนาน 30 นาที แล้วเอาเมล็ดพริกมามัดไว้ในผ้าขาวบาง บ่มเมล็ดพันธุ์พริกไว้ 1 คืน นำไปเพาะต่อไป
การเพาะเมล็ดพริกที่เกษตรกรไทยนิยมปฏิบัติกันจะแบ่ง ออกได้ 3 วิธี คือ หยอดเมล็ดลงในถาดเพาะโดยตรง ซึ่งจัดเป็นวิธีการที่ง่ายและสะดวกที่สุด หว่านในตะกร้าพลาสติคที่ใช้ทรายเป็นวัสดุปลูก แนะนำให้ใช้ทรายขี้เป็ดชนิดหยาบเป็นวัสดุเพาะ ขั้นตอนสำคัญจะต้องนำทรายไปต้มเพื่อฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน รอให้ทรายเย็นลงแล้วนำมาใส่ในตะกร้าพลาสติค (อย่าลืมรองก้นตะกร้าด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์) หลังจากหว่านเมล็ดพริกลงตะกร้าแล้วให้กลบด้วยปุ๋ยหมักอินทรีย์ หรือขุยมะพร้าวที่ร่อนเอากากออกแล้ว และพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อราเพื่อป้องกันโรคโคนเน่า รดน้ำอย่าให้แฉะจนเกินไป เพราะจะทำเมล็ดพริกเน่าได้ สำหรับการเพาะเมล็ดพริกในฤดูร้อนหลังจากเพาะไปได้ 7-10 วัน ย้ายต้นกล้าลงถาดหลุม แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 วัน ถึงจะย้ายต้นกล้าลงถาดหลุมได้เพื่อย้ายลงปลูกในแปลงต่อไป และวิธีการสุดท้าย ใช้แปลงเพาะ เป็นวิธีการที่เกษตรกรไทยนิยมมากที่สุด เนื่องจากประหยัดต้นทุนการผลิต ขนาดของแปลงเพาะมีความกว้าง 2 เมตร ความยาว 5-10 เมตร เริ่มต้นจากการขุดพลิกดินและตากดินไว้นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง ใส่ปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมักอินทรีย์ อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อแปลง คลุกเคล้าดินกับปุ๋ยให้เข้ากันจนร่วนซุย เกลี่ยดินให้เรียบ นำเมล็ดพริกมาเพาะ โดยใช้อัตราพริก น้ำหนัก 50 กรัม ต่อพื้นที่ปลูกพริก 1 ไร่ จะต้องโรยเมล็ดให้ลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร เป็นแถวตามความกว้างของแปลง แต่ละแถวห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร เสร็จแล้วให้กลบดินบางๆ ให้เสมอผิวดินเดิมแล้วใช้ฟางข้าวคลุมแปลงเพาะบางๆ รดน้ำที่ผสมสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา เมื่อเห็นต้นกล้างอกขึ้นมาเหนือพื้นดิน ค่อยๆ ดึงฟางออกให้บางลง เพื่อต้นกล้าจะได้เจริญเติบโตได้ดี เมื่อต้นกล้ามีจำนวนใบจริง 4-5 ใบ จะต้องพ่นสารป้องกันและกำจัดแมลงร่วมกับสารเคมีป้องกันโรคโคนเน่าอย่างน้อย สัปดาห์ละครั้ง ต้นกล้าพริกที่มีอายุเฉลี่ย 25-30 วัน มีความสมบูรณ์และต้นแข็งแรง ไม่มีโรครบกวน ให้ย้ายลงปลูกในแปลงได้
การใช้ปุ๋ยในการปลูกพริกเหลือง
ปุ๋ย อินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่มีความจำเป็นในการปลูกพริกทุกครั้ง ใส่เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินช่วยให้ร่วนซุย จะใส่ปุ๋ยหมักอินทรีย์รองก้นหลุมก่อนปลูกพริก ปุ๋ยเคมี ทางดินจะให้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง สูตรที่ใช้ยืนพื้นคือ สูตร 25-7-7 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นและใบ ซึ่งจะใช้สลับกับสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 หรือ 19-19-19 อาจจะบวกปุ๋ยบางสูตร เช่น แคลเซียมไนเตรต (สูตร 15-0-0) เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดธาตุแคลเซียม หมั่นสังเกตต้นพริกที่ให้ผลผลิตดกเกินไป อาจจะพบอาการขั้วนิ่ม ปลายผลเหลืองและร่วง หรือที่หลายคนเรียกกันว่า อาการ "กุ้งแห้งเทียม" แสดงว่าต้นพริกขาดธาตุแคลเซียม
ระบบการให้น้ำพริกเหลือง
เป็น พืชที่มีความต้องการน้ำสม่ำเสมอ แต่พริกมีนิสัยไม่ทนต่อน้ำท่วมขังเลย การให้น้ำพริกมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้งบประมาณ ความสะดวก ประสิทธิภาพ และสภาพพื้นที่ปลูก แต่ในการปลูกพริกในเชิงพาณิชย์นั้น ถ้าปลูกในสภาพแปลงที่มีพื้นที่ราบเรียบ (ไม่มีเนินเขา) จะเลือกระบบการสูบน้ำด้วยการปล่อยน้ำเข้าในร่องแปลงก็เพียงพอแล้ว ซึ่งเป็นวิธีการที่เกษตรกรไทยที่ปลูกพริกหลังฤดูกาลทำนาปฏิบัติกันอยู่แล้ว ซึ่งไม่มีต้นทุนในเรื่องอุปกรณ์ระบบน้ำ แต่ในการปล่อยน้ำเข้าร่องจะต้องมีการระบายน้ำออกได้ดีด้วย ในแปลงปลูกพริกที่มีสภาพดินปลูกเป็นดินทรายมีปริมาณน้ำน้อย แนะนำให้ใช้วิธีการให้น้ำระบบน้ำหยดจะเหมาะสม ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนค่าอุปกรณ์ระบบน้ำสูง ในพื้นที่ปลูกที่เป็นดินร่วนปนทรายและมีพื้นที่อยู่เนินเขาและมีแหล่งน้ำพอ เพียงจะติดตั้งระบบการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์จะประหยัดกว่าระบบน้ำหยด สำหรับการให้น้ำพริกของสวนพริกขนาดใหญ่พบว่า จะใช้หัวสปริงเกลอร์ขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า "Big Gun" ที่มีรัศมีการให้น้ำได้ถึง 1.2 ไร่ ต่อหัว
ใช้แรงงานคนจัดการกับวัชพืช
ใช้ต้นทุนต่ำกว่าการใช้พลาสติคคลุมแปลง
การ กำจัดวัชพืชของการปลูกพริกที่ใช้แรงงานคนเหมือนว่าจะเป็นวิธีการที่โบราณและ น่าจะใช้ต้นทุนในเรื่องของแรงงานมาก แต่ในบางพื้นที่มีแรงงานราคาถูก หาแรงงานได้ง่าย เมื่อคิดคำนวณพบว่า หากยังใช้แรงงานใน "การทำรุ่น" (กำจัดวัชพืช) โดยจะเริ่มทำครั้งแรกหลังจากย้ายกล้าพริกลงหลุมในแปลงปลูกได้ 15 วัน หลังจากนั้นจะมีการทำรุ่นทุกๆ 15 วัน จนต้นพริกมีอายุได้ 3 เดือน ก็จะหยุดทำรุ่น
เนื่องจากต้นพริกโตพอที่จะบังแดดไม่ให้หญ้าขึ้นได้ แล้ว เมื่อคำนวณของค่าใช้จ่ายในการทำรุ่นด้วยการใช้แรงงานคนในพื้นที่ปลูกพริก 1 ไร่ ต่อ 1 ฤดูกาล จะใช้ค่าแรงประมาณ 1,800 บาท ต่อไร่ ในขณะที่ถ้าปลูกพริกด้วยการใช้พลาสติคคลุมแปลงจะมีต้นทุนต่อไร่ประมาณ 3,000-4,000 บาท และการใช้พลาสติคคลุมแปลงปลูกพริกมีข้อจำกัดในเรื่องของระบบการให้น้ำที่จะ ใช้ได้เพียงระบบน้ำหยดเท่านั้น สำหรับการใช้ยาคุมวัชพืชไม่แนะนำเพราะจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นพริก เหลืองหรืออาจจะพบอาการชะงักการเจริญเติบโต ซึ่งการเตรียมแปลงปลูกพริกในครั้งแรกที่ดีมีส่วนช่วยในการลดปริมาณวัชพืชได้ เช่น ควรตากดินเพื่อทำลายเมล็ดวัชพืชหรือคราดส่วนขยายพันธุ์ เช่น เหง้า ออก ถ้ามีการจัดการในเรื่องวัชพืชในแปลงปลูกพริกไม่ดีจะส่งผลต่อการควบคุมโรคและ แมลงศัตรูพริกด้วย
การใช้สารเคมีในการปลูกพริกเหลือง
เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
การ บริหารเรื่องต้นทุนในการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชในการปลูกพริกถือเป็นเรื่อง ใหญ่ที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากพริกเป็นพืชที่มีแมลงและโรครบกวนมาก ดังนั้น การใช้สารเคมีในการปลูกพริกจึงเป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่เกษตรกรจะมีการจัดการในเรื่องนี้ได้ดีเพียงใด ที่ไร่ช้างขาวจะมีการตั้งโปรแกรมการฉีดพ่นสารเคมีปราบศัตรูพืชอย่างกว้างๆ เฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง ส่วนความถี่ในการฉีดพ่นจะมากน้อยลงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับการสำรวจแมลงและโรคที่เราพบเป็นหลัก เกษตรกรที่จะปลูกพริกให้ประสบความสำเร็จจะต้องมีการศึกษาและหาความรู้ใน เรื่องสารเคมีที่ดีพอสมควร
แนวทางในการป้องกันโรคแอนแทรกโนสในพริกเหลือง
เกษตรกร ที่มีอาชีพในการปลูกพริกต่างก็ทราบดีว่า เมื่อพบการระบาดของโรคแอนแทรกโนสในแปลงปลูกพริกแล้ว ผลผลิตของการปลูกพริกในฤดูกาลนั้นมีโอกาสที่จะได้รับความเสียหายจนขาดทุนได้ แนะนำว่าการป้องกันเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ถ้าปล่อยให้มีการระบาดแล้วยากต่อการควบคุม สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการเกิดโรคคือ การฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดให้ถูกจังหวะ เกษตรกรจะต้องเป็นคนที่หมั่นสังเกตว่าเมื่อเริ่มมีโรคแอนแทรกโนสเข้ามารบกวน ต้นพริกจะเริ่มแสดงอาการบางอย่างออกมาให้เห็น เช่น เริ่มมีใบจุดเล็กๆ บนใบพริก หรือบริเวณโคนต้น