สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยุทธศาสตร์ยางพารา

ยุทธศาสตร์ยางพารา

คมชัดลึก : เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บรรดาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยางพาราของไทย ได้มีโอกาสมาร่วมหารือกันเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยยางของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานให้ทุน อย่างเช่น สกว. สวทช. สวก. และ วช. ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัยหรือดูแลนโยบายการวิจัยของประเทศ
 หน่วยงานทำวิจัยอย่างเช่น สถาบันวิจัยยางของกรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เคยทำวิจัยยางพารา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของกระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม และที่ขาดไม่ได้คือตัวแทนเกษตรกรและบริษัทเอกชน รวมทั้งตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรม ดังนั้นองค์ประกอบของการประชุมครั้งนี้จึงค่อนข้างครบถ้วน

 หน่วยงานส่วนใหญ่เหล่านี้ มักจะมียุทธศาสตร์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ว่าเป็นลักษณะที่ต่างคนต่างทำ และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกัน ผลก็คือการพัฒนายางพาราของไทยยังไปไม่ถึงไหน เพราะว่าขาดความร่วมมือกัน แต่ที่หนักกว่านั้นคือหากบางหน่วยงานมองว่าตนเองมีภารกิจหลักที่จะต้องพัฒนาเรื่องยางพาราของ ไทยแต่เพียงผู้เดียว คนอื่นไม่ต้องเข้ามายุ่ง ก็จะยิ่งทำให้ความร่วมมือเกิดขึ้นไม่ได้ และจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนายางของประเทศอย่างแน่นอน

 เนื่องจากว่าอุตสาหกรรมยางพาราทั้ง ระบบตั้งแต่การปลูกไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่วางขายทั่วไปนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้นคือขั้น ต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง ซึ่งเรียกกันว่าอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

 หมายความว่าในช่วงของการปลูก การกรีด ไปจนถึงการแปรรูปขั้นต้น จัดว่าเป็นงานต้นน้ำ หลังจากนั้นก็มีการนำยางไปแปรรูปต่อตั้งแต่เป็นน้ำยางสด น้ำยางข้น ยางแห้ง จนได้ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มต่างๆ ต่อไปซึ่งอาจไม่เหลือเค้าเดิมของยางพาราเลยก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของกลางน้ำและปลายน้ำตามลำดับ

 นอกจากเรื่องของผลิตภัณฑ์จากน้ำยางแล้วยังมีไม้ยางและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราเข้ามาเกี่ยวข้องอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้อย่างมากอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์

 ในการกำหนดยุทธศาสตร์วิจัยเรื่องยางพาราของ ประเทศครั้งนี้ ได้นำยุทธศาสตร์หลักที่สภาอุตสาหกรรมวางไว้มาเป็นตัวตั้งต้น เนื่องจากว่าเป็นเรื่องของความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยตัว จริง แล้วจึงมองว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการวิจัย

 สิ่งที่หน่วยงานต่างๆ เห็นตรงกันก็คือการที่จะต้องร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ซึ่งได้แก่ยางล้อ และอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำยางข้นเป็นหลัก ได้แก่ ถุงมือยาง ด้ายยางยืด และถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหญ่ของประเทศ และควรต้องมีการพัฒนาเพื่อให้ไทยสามารถก้าวหน้าขึ้นมายืนอยู่ในอันดับต้นของ โลกให้ได้

 การพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังต้องการงานวิจัยสนับสนุนอีกมาก อย่างเช่นอุตสาหกรรมยางล้อ ซึ่งเรายังไม่อยู่ในอันดับต้นของโลก ก็คงต้องเริ่มจากสิ่งที่เราสามารถทำได้ก่อน อย่างเช่นให้ความสำคัญกับยางล้อรถบรรทุกโดยเน้นที่ยางเรเดียล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่คนไทยเป็นเจ้าของก่อน หากพัฒนาได้ดีขึ้นแล้วก็จะไต่อันดับขึ้นไปเป็นยางล้อรถยนต์นั่ง ซึ่งปัจจุบันครองตลาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เนื่องจากเทคโนโลยีของเรายังก้าวไปไม่ถึง

 ทว่า หากมีการกำหนดทิศทางการพัฒนาให้ดี เมืองไทยก็มีโอกาสที่จะสร้างแบรนด์ของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกได้ เพราะเรามีข้อได้เปรียบคือเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบคือยางธรรมชาติรายใหญ่ที่ สุดของโลกในปัจจุบันครับ!

รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ


เกษตรยุคใหม่ - สถานการณ์ยางพาราไทย

คมชัดลึก : ราคายางพาราช่วงนี้เป็นที่น่าพอใจของหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสวนยาง แต่ว่าจะเป็นอย่างนี้ตลอดไปหรือไม่ คงต้องเฝ้าดูกันต่อไป เพราะหากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ไม่สามารถอยู่ได้เพราะราคายางธรรมชาติสูงเกินไปจนทำให้ไม่สามารถแข่งขันใน ตลาดโลกได้ ก็อาจมีการเปลี่ยนมาใช้ยางสังเคราะห์แทน
ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นปัญหาเรื่องราคายางพาราตกต่ำก็จะเกิดขึ้น และคงแก้ไขได้ยาก

อย่างไรก็ตามความต้องการยางพาราของ ตลาดโลกก็ยังมีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์สำคัญที่ใช้ยางเป็นองค์ประกอบก็คือบรรดายางรถ ยนต์ทั้งหลาย หากสภาพเศรษฐกิจของโลกหรือของประเทศดี ก็จะทำให้รถยนต์ขายได้มากขึ้น

และแน่นอนว่าความต้องการยางรถยนต์ก็มากขึ้นตามไปด้วย จากสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ปรากฏอยู่ในสรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2553 และแนวโน้มปี 2554 ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าปริมาณยางรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยโดยรวมในปี 2550 มีประมาณ 23 ล้านเส้น และเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านเส้นในปี 2553 ที่ผ่านมา และในบรรดายางรถยนต์เหล่านี้ใช้ในประเทศถึง 76% นอกจากยางรถยนต์แล้ว ยางรถจักรยานและจักรยานยนต์ก็เป็นตลาดใหญ่อีกเช่นกัน เพราะว่าในปี 2553 มีการผลิตมากถึง 44 ล้านเส้น ซึ่งใช้ในประเทศครึ่งหนึ่ง ที่เหลือส่งออก

ความจริงแล้วยางรถยนต์หรือจักรยานยนต์แต่ละเส้นไม่ได้ประกอบด้วยยาง ธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่ว่ามีองค์ประกอบอื่นที่ไม่ใช่ยางอยู่ด้วยมากกว่าครึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพวกเส้นลวดโครงยาง ผ้าใบ คาร์บอน และยังรวมถึงยางสังเคราะห์บางส่วนด้วย แต่ว่าอย่างไรก็ตามความต้องการยางธรรมชาติก็ยังเพิ่มสูงตามปริมาณยางรถยนต์ ที่ผลิตได้ และปริมาณยางรถยนต์ที่จะผลิตขึ้นมา ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณรถยนต์ที่ผลิตขึ้นมาจำหน่าย ซึ่งไปอิงอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศหรือของโลก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความต้องการยางพาราใน การนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ยังต้องอิงอยู่กับปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก และมีโอกาสที่จะใช้ยางสังเคราะห์แทนได้บางส่วนในหลายกรณี

ตลาดใหญ่ของยางพาราอีก ส่วนหนึ่งคือเรื่องของการนำไปทำถุงมือยางทางการแพทย์ ที่มีความต้องการมากเช่นกัน ปริมาณการผลิตถุงมือยางของไทยเพิ่มขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปีที่แล้วที่ผลิตได้มากถึง 12,000 ล้านชิ้น ซึ่งใช้ในประเทศเพียง 6% เท่านั้น ที่เหลือก็ส่งออกโดยภาพรวมเราส่งออกในรูปของยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้นและยางพาราอื่นๆ ซึ่งเป็นการส่งออกวัตถุดิบมีมูลค่าประมาณ 2.2 แสนล้านบาทในปี 2553 แต่ว่าส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็นมูลค่าถึง 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งในบรรดาผลิตภัณฑ์นี้เป็นยางยานพาหนะถึง 7.7 หมื่นล้านบาท และถุงมือยางอีก 2.9 หมื่นล้านบาท

  ถ้าวิเคราะห์สถานการณ์ยางพาราไทย แล้วก็จะเห็นว่ายังค่อนข้างสดใสโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้เศรษฐกิจโลกกำลัง ขยายตัว ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมามีบทบาทมากอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็แน่นอนว่าความต้องการยางรถยนต์ก็ต้องเพิ่มมากขึ้น ส่วนเรื่องถุงมือยางก็ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะว่านอกจากใช้ในวงการแพทย์แล้ว ยังต้องใช้ในวงการอื่นเช่นอุตสาหกรรมอาหารเป็นต้น
ข้อที่ต้องระวังคือกรอบความตกลงเอฟทีเอ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและ ผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวมากขึ้นได้ แต่ก็มีผลในทางกลับกันคือ ยังทำให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นหากคนไทยยังนิยมผลิตภัณฑ์จากเมืองนอก ตรงนี้คือปัญหาครับ นอกจากว่าคนไทยยอมรับในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยที่ส่งขายได้ทั่วโลก และสนับสนุนสินค้าไทยให้มากขึ้น ปัญหาเรื่องราคายางตกต่ำในอนาคตอาจผ่อนคลายได้ครับ

Tags : ยุทธศาสตร์ยางพารา

view