จาก เดลินิวส์ออนไลน์
ภาค เกษตร คือภาคการผลิตพืชอาหารที่สำคัญ แต่ด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศทำให้ภัยธรรมชาติมีความรุนแรงและมี ความถี่มากขึ้น โดยพืชที่ได้รับผลกระทบในวงกว้างได้แก่ ข้าว ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย จีน เวียดนาม รวมทั้งไทย ล้วนประสบปัญหาภัยธรรมชาติจนกระทบการผลิตข้าว ดังนั้นจึงส่งผลให้สต๊อกข้าวของโลกลดลงอย่างแน่นอน นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้นานาประเทศหวั่นวิตกว่าจะกระทบกับความมั่นคงทางอาหาร ของโลก
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว ว่า ประเทศสมาชิกเอเปกได้จัดการประชุม รัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปกขึ้น เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของสมาชิกเอเปกในการดำเนินงานและร่วมมือกันเรื่องความ มั่นคงอาหารอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในแง่การผลิต อาหารอย่างยั่งยืน และการลดอุปสรรคทางการค้าของสินค้าอาหารในภูมิภาคเอเปก ซึ่งผลการประชุมแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ การรับรองปฏิญญานิอิกาตะว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปกและแผนปฏิบัติการความ มั่นคงอาหารเอเปก และการรับทราบสถานการณ์ความมั่นคงทางด้านอาหาร ของโลก
สาระสำคัญ คือ การพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน เป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยการเพิ่มปริมาณอาหารในภูมิภาคด้วยการสร้างเสริมความสามารถการผลิต การส่งเสริมการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับภัยพิบัติภาคเกษตร การพัฒนาชุมชนชนบท การเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน การค้าและการตลาด เป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าอาหารและสินค้าเกษตร การสร้างเสริมความเชื่อมั่นในตลาดสินค้าเกษตร การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และการปรับปรุงข้อปฏิบัติด้านความมั่นคงอาหาร
โดยภาพรวมของปฏิญญานิอิกาตะฯ สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาภาคเกษตรของไทย ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันทิศทางการพัฒนาภาคการเกษตรในการสร้างความมั่นคงด้าน อาหารของไทย โดยได้ดำเนินการโครงการ ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาระบบ ชลประทาน รวมทั้งการจัดแหล่งน้ำในไร่นา เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้ตลอดทั้งปี และ การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตอาหาร โดยพัฒนาพันธุ์พืชชนิด ต่าง ๆ เพื่อให้มีผลผลิตสูง ทนแล้ง ทนต่อสภาพดินเค็ม รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบการปลูกข้าวเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของเพลี้ย กระโดดสีน้ำตาล อันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานชีวภาพที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความ มั่นคงอาหาร เช่น การผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ และการนำชานอ้อยไปทำเป็นเชื้อเพลิงใน การผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
นายอภิชาต กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทย ได้บรรจุโครงการ ด้านความมั่นคงด้านอาหารของไทยภายใต้กรอบเอเปกไว้จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย การสร้างเสริมการผลิตพืชอาหารของเอเปกให้เพียงพอต่อความต้องการ สร้างความสามารถสำหรับเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาด้านความมั่นคงทางอาหาร การแลกเปลี่ยนข้อมูลว่าด้วยการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ผัก พื้นบ้าน การปรับตัวของเกษตรกรรองรับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การผลิตสัตว์อย่างยั่งยืน การค้าเชื้อเพลิงชีวภาพ และการจัดรูปแบบฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ใช้ระบบ HACCP โดยโครงการต่าง ๆ มีระยะเวลาดำเนินการในช่วงปี ค.ศ. 2010-2015
การร่วมมือกันของประเทศสมาชิก เอเปกในครั้งนี้ น่าจะเป็นการสร้างศักยภาพความมั่นคงทางอาหารยิ่งขึ้นระหว่างสมาชิก เอเปก อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ว่าช่วงนี้ภาคเกษตรจะเจอมรสุมหนัก แต่เราก็ยังมีความสามารถในการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรในประเทศ และยังพร้อมที่จะเป็นครัวของโลก.