สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นวัตกรรมแปรรูปลองกอง เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)


วว.เปิดตัวนวัต กรรมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลองกอง เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร กระทรวงวิทย์จับมือธนาคารอิสลามฯ นำร่องแก้ปัญหาผลผลิตชายแดนใต้ตกต่ำ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดตัว “เครื่องล้างและปลิดขั้วลองกอง   เครื่องคั้นน้ำลองกอง” พร้อมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลองกอง “เครื่องดื่ม   แยม   เยลลี่   ลองกองลอยแก้ว และลองกองแช่อิ่มอบแห้ง” ด้านกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ลงนามความร่วมมือกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ส่งเสริมและสนับสนุนพี่น้องเกษตรกร 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำร่องโครงการด้วยเทคโนโลยี วว. เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตลองกอง สนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาความยากจนของกลุ่มเกษตรกร

 ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวชี้แจงว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับภาคเอกชน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยผ่านคลินิกเทคโนโลยี เข้าไปช่วยแก้ปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล

 ช่วงแรกของการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือนี้ จะนำนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลองกองผลงานวิจัยของ วว. ไปสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา  สตูล  ปัตตานี   ยะลา  และนราธิวาส) เพื่อเป็นการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ด้วยการแปรรูปลองกองแทนการจำหน่ายผลสดทั้งในและนอกฤดูกาล

 ทั้งนี้เนื่องจากลองกองเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งเกษตรกรชาวไทยมุสลิมในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทยนิยมปลูก แต่มักประสบปัญหาผลผลิตการเกษตรลองกองล้นตลาด รวมทั้งการเสื่อมคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวเร็ว ทำให้ราคาจำหน่ายตกต่ำ ดังนั้นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตลองกองด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดให้แก่เกษตรกร ในช่วงฤดูกาลแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตนอกฤดูกาลให้มีมูลค่าสูงขึ้น   ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย  อันจะช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงและประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

 นายธีรศักดิ์   สุวรรณยศ   กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้ ธนาคารอิสลามฯ จะมีบทบาทในการคัดสรรผู้ประกอบการเพื่อรับการถ่ายทอดนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ แปรรูปจากลองกองผลงานของ วว. สู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ นอกจากนั้นจะจัดหากลุ่มเกษตรกรใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเข้าร่วมโครงการในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบหลักคือ ลองกอง

 ทั้งจะมีการฝึกอบรมอาชีพในการแปรรูปผลผลิตลองกองระดับชุมชนและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาลองกองล้นตลาดในช่วงฤดูกาล และเพิ่มมูลค่าลองกองในช่วงนอกฤดูกาล

 นางเกษมศรี   หอมชื่น   ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ”โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลองกอง” มีระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (พ.ศ. 2522-2555) โดย วว. มุ่งวิจัยและพัฒนาผลผลิตลองกองอย่างครบวงจร   โดยนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลองกองเป็นผลสำเร็จหนึ่งของโครงการซึ่ง วว. วิจัยสำเร็จและเปิดตัวเป็นครั้งแรก

 ประกอบด้วย  เครื่องล้างและปลิดขั้วลองกอง   มีประสิทธิภาพแยกก้านและผลลองกองออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ โดยผลลองกองไม่แตกช้ำเสียหาย  มีกำลังการผลิต 300 กิโลกรัม/ชั่วโมง เหมาะสำหรับเกษตรกรและกลุ่มแม่บ้านที่ต้องการแปรรูปลองกอง ซึ่งต้องผ่านกระบวนการปลิดขั้วจากช่อและล้างทำความสะอาดด้วยระบบน้ำหมุนเวียนก่อนปอกเปลือกลองกอง สำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป

 เครื่องคั้นน้ำลองกอง  มีประสิทธิภาพคั้นน้ำลองกอง โดยสามารถแยกกากและน้ำออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์  สะอาด ถูกสุขอนามัย โดยไม่ทำให้เมล็ดแตก  มีกำลังการผลิต 300 ลิตร/ ชั่วโมง    สามารถประยุกต์ใช้เครื่องกับผลไม้ที่มีลักษณะเนื้อนุ่มอีกหลายชนิด  เช่น   องุ่น มะม่วง สับปะรด ลำไย ลิ้นจี่ มะเม่า และมะเขือเทศ เป็นต้น เหมาะสำหรับวิสาหกิจชุมชนเพื่อนำไปใช้ในการแปรรูปผลไม้เป็นน้ำผลไม้พร้อม ดื่ม

 ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลองกอง พัฒนาขึ้นเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาลองกองให้ สามารถบริโภคนอกฤดูกาล ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการ อุดมด้วยวิตามินบี ซี ฟอสฟอรัส แคลเซี่ยม  และสารแทนนิน  มีจำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่  เครื่องดื่มน้ำลองกอง  มี 2 แบบ คือ  1.แบบพลาสเจอร์ไรซ์บรรจุขวด มีอายุการเก็บรักษาไม่น้อยกว่า 1 เดือนที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส

 และ 2. แบบสเตอริไรซ์บรรจุกล่อง มีอายุการเก็บรักษาไม่น้อยกว่า 1 ปี ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส  แยมและเยลลี่ลองกอง  พัฒนาจากเนื้อและน้ำลองกอง จากกระบวนการผลิตเครื่องดื่มน้ำลองกอง เหมาะกับวิถีชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบัน   ลองกองลอยแก้ว   มีอายุเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง 1-2 เดือน รสชาติกลมกล่อม ลองกองแช่อิ่มอบแห้ง   เนื้อสัมผัสผลิตภัณฑ์นุ่ม รสชาติหวานน้อยและสะดวกต่อการบริโภค

 ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า  นอกจากจะประสบผลสำเร็จพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลองกองแล้ว วว. ยังศึกษาสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชต่อการชะลอการหลุดร่วงผลลองกองหลังการเก็บเกี่ยวพบว่า การฉีดพ่นช่อลองกองด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโตชนิด 2,4-D สามารถชะลอการหลุดร่วงได้ โดยไม่มีผลต่อขนาด  น้ำหนัก  สีผิว และความหวานของผลลองกอง  รวมทั้งศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาในส่วนเนื้อ-เปลือก-เมล็ดของลองกองพบว่า สารสกัดจากเปลือกและเมล็ดลองกอง  มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ   ต้านการอักเสบ  ต้านแบคทีเรียก่อโรค ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์   และไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อ DNA

 “ในปีงบประมาณ 2554 วว. อยู่ในระหว่างดำเนินการวิจัยและพัฒนาแยกสารสำคัญในสารสกัดจากเปลือกลองกองและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น อาหาร เครื่องดื่มและเครื่องสำอางจากสารสกัดและ/หรือสารสกัดที่แยกได้จากผลลองกอง  อีกทั้งกำลังวิจัยและพัฒนาเครื่องปอกเปลือกลองกอง ซึ่งจะทำให้กระบวนการแปรรูปลองกองมี ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ใช้แรงงานคนน้อยลง ผลิตผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานและมีจำนวนมาก จะช่วยลดต้นทุนการผลิตในด้านการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ” นางเกษมศรี   หอมชื่น  กล่าวสรุป

ผู้สนใจนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลองกอง    สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม   ได้ที่ Call center วว.   โทร. 02 579 3000  หรือที่    ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร  วว.   โทร. 0 2577  9000  โทรสาร  0 2577 9009   ในวันและเวลาราชการ หรือที่  E- mail : tistr@tistr.or.th

Tags : นวัตกรรม แปรรูปลองกอง เพิ่มมูลค่า ผลผลิตการเกษตร

view