จากประชาชาติธุรกิจ
เนื่องเพราะพันธกิจของ “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” เกิดจากการจัดการความรู้ และการส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างเป็นระบบกว้างขวาง จนกระทั่งเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศ จึงทำให้การจัดการองค์ความรู้เหล่านี้ไม่เพียงเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ, สังคม, ชุมชน และสิ่งแวดล้อม หากยังเชื่อมโยงกับบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ด้วย
ยิ่งเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “SDGs-Sustainable Development Goals”ที่ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ มองว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก
ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” ทั้งในฐานะประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และในฐานะผู้ที่ทำงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังในการขับเคลื่อน SDGs โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 1 เรื่องการขจัดความยากจนในทุกรูปแบบและทุกที่ ไม่เพียงเกี่ยวเนื่องกับ “ความเหลื่อมล้ำ” เพียงอย่างเดียว หากยังเกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจโลกของนานาประเทศด้วย
เศรษฐกิจอนาคต Care and Share
“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” เริ่มต้นบอกว่าความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศไทย หากเป็นทั่วทั้งโลก ซึ่งรูปแบบเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์, โซเชียลิสต์ และแคปิตอลลิสต์ นำเรามาถูกทางหรือเปล่า ผมขอบอกเลยว่าทั้ง 3 รูปแบบนี้ไม่มีอะไรถูกทางเลย
“โดยเฉพาะแคปิตอลลิสต์หรือทุนนิยมที่มีมากว่า 200-300 ปี ดังนั้นหากดูประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย แม้ประเทศฝั่งตะวันตกจะยกให้ทุนนิยมเป็นสุดยอดของการบริหารโลก แต่ทำไมความเหลื่อมล้ำในสังคมจึงมีมากกว่าเดิม ตรงนี้เห็นได้จากฝั่งอเมริกาและยุโรป”
“ผมจึงเชื่อว่า SDGs ตอบปัญหาเหล่านั้นได้ แต่ SDGs จะต้องตอบอะไรมากกว่านี้ว่าต้องทำอย่างไร เราไม่ต้องไปเรียนรู้จากใคร ถ้าเปิดใจกว้างสักนิดจะรู้ว่าสิ่งที่ประเทศไทยทำมาโดยตลอดคือเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ”
“แม้เศรษฐกิจพอเพียงอาจมีใครไม่เข้าใจบ้าง แต่สำหรับผมคิดว่าเศรษฐกิจทั้ง 3 รูปแบบที่กล่าวมาเจ๊งแล้ว ดังนั้น นับจากนี้ไปในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่ยังเหลืออยู่คือเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมา ผมพูดเลยว่าเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ คือ Care and Share ผมขอยกตัวอย่างกรณี 13 หมูป่า อะคาเดมีที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลก ทุกอย่างมาโดยไม่มีการร้องขอ ทุกคนมาด้วยใจ เห็นอกเห็นใจกัน เสียสละแม้แต่ตัวเอง เพราะเขาอยากช่วย 13 ชีวิตหมูป่า นี่คือ Care and Share อย่างชัดเจนเลย”
เศรษฐกิจพอเพียงต้นทาง SDGs
นอกจากนั้น “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” ยังกล่าวถึงองค์กรในระดับสากลต่างมีความเห็นว่า SDGs และหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีมิติที่สอดคล้องกัน ผมขอบอกเลยว่า ทำไมทั้ง 2 เรื่องถึงคล้ายกัน เพราะผมเชื่อว่าโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในขณะนั้นมาเรียนรู้จากพระองค์ท่านแล้วนำไปปรับใช้ใน SDGs
“ผมมั่นใจ 100% เลยว่าโลกทั้งโลกมาเรียนรู้จากพระองค์ท่าน แม้ก่อนหน้านี้เขาอาจทำเรื่อง SDGs อยู่ก่อนแล้ว แต่เขามาเรียนรู้เพิ่มเติมโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และเมื่อเขาเรียนรู้ถึงจุดลึกซึ้ง เขาจึงนำเรื่องนี้ไปปรับใช้ และทำให้ SDGs มีบริบทของเศรษฐกิจพอเพียง หรือศาสตร์พระราชาตามที่ผมเรียกเลยก็ว่าได้ ผมเชื่อแบบนี้เลย”
“เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานมาตลอด 70 ปี ดังนั้น ในความคิดเห็นของผมพระองค์มีความลึกซึ้งมากกว่าชาวตะวันตก ผมเชื่อของผมแบบนี้”
ดึงเอกชนสร้างชุมชนอยู่ดีมีสุข
ผลตรงนี้ จึงทำให้ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” เล่าถึงแนวทางการทำงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ที่ไม่เพียงจะทำงานพัฒนาหรืองานชุมชนเท่านั้น หากยังทำงานทางด้านธุรกิจด้วย ดังนั้น ในอีกมิติหนึ่งของมูลนิธิปิดทองฯ จึงเชื่อมร้อยกับภาคธุรกิจ
“ผมเคยพูดกับบริษัทใหญ่ ๆ ว่า คุณต้องทำให้ชาวบ้าน เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า พวกคุณต้องช่วยเขา และสิ่งที่คุณช่วยนั้นคือช่วยตัวเอง เพราะถ้าเกษตรกรมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เขาก็มีเงินไปซื้อของ และของในตลาดเป็นของใคร ถ้าไม่ใช่ของบริษัทใหญ่ ๆ”
“คุณต้องทำให้ชาวบ้าน ชุมชน อยู่ดีมีสุขให้ได้ ถามว่าทำอย่างไร ก็นำองค์ความรู้ไปช่วยชาวบ้าน ถ้าทุกคนช่วยกันถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านการเกษตรให้กับพวกเขา ส่วนแรงงานเขาทำเอง และถ้าชาวบ้านรวยได้ เงินก็กลับมาที่คุณอีก และเค้กจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งสำคัญคือคุณต้องมีใจของพ่อค้าที่มีคุณธรรม คิดถึงคนอื่นก่อนเสมอ เพราะถ้าเขาอยู่ได้ คุณก็อยู่ได้ และถ้าเขาอยู่ไม่ได้ คุณจะเอาของมาจากไหนถ้าไม่ได้มาจากเกษตรกร”
เปลี่ยนการทำงานเป็นนโยบายรัฐ
สำหรับทิศทางการทำงานในอนาคตของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” บอกว่า ต่อไปเราจะเดินกับภาคธุรกิจมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเรายังช่วยเหลือชุมชนเหมือนเดิม ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเราวางแผนสำหรับการทำงานในอนาคต 2 ส่วนด้วยกัน อย่างแรกคือ การกระตุกต่อมคิดด้วยการเข้าไปทำงานกับชุมชน โดยเฉพาะเกษตรกรเพื่อให้เขาเพิ่มผลผลิตมากกว่าเดิมรวมถึงการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพดี 100%
“เราจึงต้องพัฒนาและยกระดับวิถีชาวบ้านและเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ตัวผลิตภัณฑ์จะต้องได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาด โดยเราเป็นตัวเชื่อมตรงกลางระหว่างบริษัท มูลนิธิ และชุมชน คอยดูแลไม่ให้บริษัทเอาเปรียบชาวบ้าน ขณะเดียวกัน เราก็จะไม่ให้ชาวบ้านเอาเปรียบบริษัทด้วย ดังนั้น เมื่อใดที่บริษัทกับชาวบ้านเดินด้วยกันได้ เราจะถอนตัวออกมาเลย เพื่อไปทำอย่างอื่นต่อไป ตรงนี้เป็นหน้าที่ของเรา”
“ส่วนอีกเรื่องหนึ่งผมคิดว่าสำคัญมากคือ การขยายผลให้กว้างขึ้น วิธีเดียวที่จะทำสำเร็จได้ต้องนำสิ่งต่าง ๆ ที่เราคิดและทำมาแปรรูปเป็นนโยบาย เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของทางราชการ ซึ่งการที่เราเข้าไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ คือการทำเป็นตัวอย่างให้เห็น ซึ่งต้องมีหลาย ๆ แห่ง ถ้ารัฐบาลเห็นว่าเราทำอะไร แล้วร่วมทำไปด้วยกัน ในที่สุดชาวบ้านจะยอมรับเอง และเขาก็จะขับเคลื่อนชุมชนของตัวเองอย่างมีศักยภาพต่อไป”
อันเป็นคำตอบของ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล”ผู้ที่เชื่อมั่นว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ในทุกมิติเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต