จากประชาชาติธุรกิจ
อีกหนึ่งนิทรรศการดีๆ ที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับงานนิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ Great and Good Friends (เกรท แอนด์ กู๊ด เฟรนด์ส เอ็กซิบิชั่น) จัดขึ้นโดย สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 200 ปีความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและราชอาณาจักรไทย ในรูปแบบการจัดแสดงของขวัญที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 9 และที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง
นิทรรศการนี้เป็นการแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1818 เป็นต้นมา รวมทั้งสิ้น 79 ชิ้น ที่หาชมได้ยากและบางชิ้นไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน โดยภายในงานนี้แบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน เริ่มจากชั้น 2 เป็นโซนจัดแสดงความสัมพันธ์ 100 ปีแรก และชั้น 1 โซนจัดแสดงความสัมพันธ์ 100 ปีหลังจนถึงปัจจุบัน เราจึงรวบรวมไฮไลท์สำคัญที่ไม่ควรพลาดในการเข้าชมงานครั้งนี้
1. จดหมายจากพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) เขียนถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร ในปี พ.ศ.2361 เพื่อติดต่อด้านการค้ากันทางจดหมายเป็นครั้งแรกระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยเขียนเป็นภาษาโปรตุเกส ซึ่งเป็นภาษาทางการทูตที่ใช้ในราชอาณาจักรไทยสมัยนั้น ส่งผ่านกัปตันเรือชาวอเมริกันนายสตีเฟน วิลเลียมส์ ที่นำสินค้ามาแลกเปลี่ยนน้ำตาลที่กรุงเทพฯ นี่เองที่ถือเป็นจุดกำเนิดแห่งมิตรภาพของสยามและสหรัฐอเมริกามาจนถึงทุกวันนี้
ภาพจดหมายจากพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค)
2. สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ เป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่กรุงรัตนโกสินทร์ลงนามกับสหรัฐอเมริกา และเป็นฉบับแรกที่ประเทศในทวีปเอเชียลงนามกับสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2376 ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับพระราชลัญจกรรูปไอราพต เป็นการให้สัตยาบันอย่างสมบูรณ์ พร้อมกันกับรัฐสภาสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีมาร์ติน แวน บิวเรน โดยต้นฉบับม้วนหนังสือที่มีความสูงกว่าสามเมตรครึ่ง ถูกเก็บรักษาไว้ที่องค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จนถึงทุกวันนี้ และได้ถูกนำมาจัดแสดงในงานครั้งนี้
ภาพร่างสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์
3. เครื่องถมทองพระราชทานจากพระบาทสมเด็จสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นงานศิลปหัตถกรรมไทยดั้งเดิมที่มีมาอย่างน้อยตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มอบให้แก่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ ในปี พ.ศ.2399 ซึ่งเครื่องถมทองเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันประทับใจเมื่อได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระเจ้าอยู่หัว เมื่อได้ชมความงดงามของเครื่องถมทอง ตลอดจนเครื่องยศต่างๆ ของผู้คนในราชสำนัก การให้เครื่องถมทองเป็นของขวัญหมายถึงทรงเชื้อเชิญแขกเมืองให้มายังราชสำนักสยามนั่นเอง
ภาพเครื่องถมทองพระราชทานจากพระบาทสมเด็จสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
4. ภาพเหมือนประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ชิ้นนี้สันนิษฐานว่าเป็นผลงานของเรมบรันต์ พีล ของขวัญจากประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.2399 ซึ่งผลงานปัจจุบันถูกเก็บไว้ที่กรมศิลปากร งานนี้ยกผลงานจริงมาให้ชมกันอย่างใกล้ชิด
ภาพเหมือนประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน
5. จดหมายตอบกลับเรื่องพระราชทานช้างเผือก จากอับราฮัม ลินคอร์น ที่ขึ้นต้นหัวจดหมายด้วยคำว่า Great and Good Friends ถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานพระราชสาส์นไปยังประธานาธิบดีเจมส์ บูแคนัน โดยมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานช้างหนึ่งคู่เพื่อ “ไว้ให้สืบพืชพันธุ์ในทวีปอเมริกา” หลังจากพระองค์ทรงทราบว่าไม่มีช้างอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อพระราชสาส์นไปถึงกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. นายอับราฮัม ลินคอล์น ที่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ปฏิเสธอย่างสุภาพ ในปี พ.ศ.2405 โดยชี้แจงว่า “ภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกาไม่เหมาะแก่การขยายพันธุ์ช้าง” ถึงแม้ไทยจะไม่ได้ส่งช้างคู่นั้นเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังสหรัฐอเมริกา แต่น้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสารตอบกลับอันสุภาพจากประธานาธิบดีลินคอล์นก็ได้แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่ทั้งสองประเทศมีต่อกัน
ภาพจดหมายตอบกลับเรื่องพระราชทานช้างเผือก
6. นิตยสาร TIME ปกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระราชปฏิสันถารกับผู้คนที่มารอรับเสด็จ ในปี พ.ศ.2474 เมืองสการ์โบโร รัฐนิวยอร์ก พระราชดำรัสของพระองค์ในครั้งนั้นทำให้อเมริกันชนยกย่องชื่นชมพระองค์ และสนใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น หนังสือพิมพ์หลายฉบับรวมทั้งนิตยสารไทม์ซึ่งตีพิมพ์ทั่วประเทศ ลงข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเยือนของพระองค์ ซึ่งทำให้ประเทศสยามกลายเป็นที่รู้จักไปทุกหนแห่งในสหรัฐอเมริกา
ภาพนิตยสาร TIME ปกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
7. กล่องบุหรี่ประดับอักษรพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ในสมัยรัชกาลที่ 8 ช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดเหตุการณ์กองทัพญี่ปุ่นบีบให้รัฐบาลไทยประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา แต่ไทยไม่ส่งคำประกาศดังกล่าวแก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามระหว่างสองประเทศ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ส่งกล่องบุหรี่ทองประดับอักษรพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ มอบให้ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ เพื่อแสดงความขอบคุณผ่านทางเจ้าหน้าที่สำนักบริการด้านยุทธศาสตร์ในไทย สื่อถึงความปรารถนาดีของประเทศไทยในการมุ่งให้เกิดสันติภาพ แม้จะเป็นเพียงของขวัญเพียงเล็กน้อย แต่กล่องใส่บุหรี่ทองใบนี้สามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ไทยไม่ต้องเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
ภาพกล่องบุหรี่ประดับอักษรพระปรมาภิไธย
8. ฉลองพระองค์ครุย ของขวัญที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประทานแก่สถาบันสมิธโซเนียน ในปีพ.ศ.2490 ฉลองพระองค์ครุย นี้มอบให้เพื่อเจริญความสัมพันธ์ทางการทูต ขณะทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา เป็นสิ่งของมีค่าทางความสัมพันธ์อีกชิ้นหนึ่งซึ่งมีความเปราะบาง เนื่องจากเป็นงานปักถักด้วยเส้นทอง อันละเอียดอ่อน จึงเป็นสิ่งยากมากที่นำมาจัดแสดงโชว์ เพราะอาจจะทำให้เกิดการชำรุดได้ง่าย
ภาพฉลองพระองค์ครุย
9. นิทรรศการเหมือนจริงผ่าน Google Arts & Culture นิทรรศการนี้มีการนำสื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามาผสมผสานในการชมนิทรรศการผ่านช่องทางใหม่ๆ ผ่านการคิดค้นมาให้ง่ายต่อการใช้งานสำหรับทุกวัย สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมาชมหรือต้องการชมซ้ำอีกครั้ง ซึ่ง Google Arts & Culture สามารถรับชมภาพเสมือนจริงได้ทั้งนิทรรศการ พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับของขวัญจัดแสดงโชว์อย่างละเอียด สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ https://artsandculture.google.com/partner/queen-sirikit-museum-of-textiles
10. ห้องกิจกรรม และโซนภาพศิลปะ pixel art ที่สื่อถึงความสัมพันธ์ในปัจจุบัน ห้องนี้จะสื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ไทยและสหรัฐอเมริกาที่มีมายาวนานจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรม การเป็นอยู่ การดำเนินธุรกิจการค้า โดยสื่อผ่านกิจกรรมสลับภาพความสัมพันธ์ไทย-อเมริกา ผ่านรูปแบบเกมส์จับคู่ มุมถ่ายภาพสนุกๆ และมุมภาพศิลปะแบบ pixel art ที่เป็นการสร้างภาพจากจุดเล็กๆ จนกลายเป็นภาพขนาดใหญ่ด้วย post-it 3M สีสันต่างๆ พร้อมประทับตราสัญลักษณ์ ให้ทุกคนที่มาร่วมชมนิทรรศการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ร่วมแสดงความคิดเห็นของคำว่า friendship is หรือ ความหมายของความสัมพันธ์ในความคิดส่วนตัวคืออะไร แปะลงไปให้เต็มพื้นที่ก็จะกลายเป็นภาพจับมือกัน เพื่อสื่อถึงมิตรภาพอันดีระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกานั่นเอง
ภาพโซนกิจกรรม และโซนภาพ pixel art ที่สื่อถึงความสัมพันธ์ในปัจจุบัน
สิ่งของทั้ง 79 ชิ้นภายในงานถูกยกนำมาจัดแสดงทั้งหมด ถือว่างานนี้ได้รวบรวมของที่หาชมได้ยากมาไว้ในที่เดียว รับรองว่ามาแล้วจะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน โดยงานนิทรรศการ Great and Good Friends จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวังค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 150 บาท ผู้สูงอายุ 80 บาท นักเรียน นักศึกษา 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าฟรี เปิดทุกวัน 9.00 น. – 16.30 น. งานมีจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561
*รูปภาพทั้งหมดจาก https://www.greatandgoodfriends.com/ โซนชั้น 1 สามารถถ่ายภาพได้
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต