จากประชาชาติธุรกิจ
“…ควรพิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำห้วยโสมง ทำเลที่สร้างเขื่อน พิกัด 48 PSA 806-585 แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ระวาง 5437 III โดยด่วน ทั้งนี้ควรพิจารณาเก็บกักน้ำอย่างเต็มที่เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรสองฝั่งห้วยโสมงในเขตอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคตลอดปี…”
คือส่วนหนึ่งจากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแนวทางการแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้กรมชลประทานนำไปดำเนินการ จนเกิดเป็นโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรืออ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ในปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา มีชื่อเดิมว่า โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขต “อุทยานแห่งชาติทับลาน” และ “อุทยานแห่งชาติปางสีดา” เป็นอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการนี้เป็นครั้งแรก โดยให้กรมชลประทานไปพิจารณาวางโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนห้วยพระปรง เขื่อนห้วยยาง และเขื่อนห้วยโสมง เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวเนื่องจากน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมถึงเป็นแหล่งน้ำให้ราษฎรไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี และต่อมาทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการนี้อีกรวมแล้ว 6 ครั้ง
การพัฒนาโครงการห้วยโสมงไม่สามารถทำได้ง่ายนัก เนื่องจากกรมชลประทานขาดงบประมาณดำเนินการ จนกระทั่งวันที่ 19 กันยายน 2532 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการศึกษา สำรวจ ออกแบบ กรมชลประทานจึงได้จัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จในปี 2538 และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์
กรมชลประทานได้ดำเนินการปรับปรุง รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จและจัดส่งรายงานให้สำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกครั้งในปี 2546 แต่ในปี 2548 การดำเนินการต้องล่าช้า เนื่องจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ก่อสร้างโครงการห้วยโสมงฯ
ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ กรมชลประทานจึงต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ โดยผนวกการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552
วันที่ 23 ตุลาคม 2552 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553-2561 รวม 9 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 8,300 ล้านบาท
เมื่อก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ กรมชลประทานได้ขอพระราชทานชื่ออ่างเก็บน้ำแห่งนี้ จากนั้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อว่า “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา” มีความหมายว่า “อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นับเป็นเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ
แห่งสุดท้ายที่ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และเป็นเขื่อน/อ่างเก็บน้ำแห่งแรกที่เปิดในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 ซึ่งมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560
อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.อ่างเก็บน้ำ เป็นเขื่อนดินสูง 32.75 เมตร กว้าง 9 เมตร ยาว 3,967.51 เมตร ความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2559 และกักเก็บน้ำมาแล้ว 1 ปี
2.ระบบชลประทาน สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานรวม 111,300 ไร่ ประกอบด้วย ระบบชลประทานฝั่งซ้ายความยาว 186 กิโลเมตร ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 94,800 ไร่ เขตตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี ตำบลต่อทอง ตำบลเมืองเก่า และเทศบาลตำบลกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี ระบบชลประทานฝั่งขวาความยาว 34 กิโลเมตร ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 16,500 ไร่ ในเขตตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2563
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สิ่งที่ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างใหญ่หลวงของกรมชลประทาน ในการสนองพระราชดำริดำเนินโครงการนี้คือ ที่ผ่านมาแม้ในขณะที่งานก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาก็สามารถเริ่มทำการกักเก็บน้ำได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 โดยมีปริมาณน้ำในอ่างเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน พ.ศ. 2559 จำนวน 242.384 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 82.16 ของความจุเก็บกัก ทำให้ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นที่อำเภอกบินทร์บุรี และไม่เกิดน้ำท่วมดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา
“นอกจากการป้องกันน้ำท่วมแล้ว ในฤดูแล้งที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาช่วยระบายน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ได้ระบายน้ำรวม 195.88 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ไม่เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำปราจีนบุรี เหมือนดังเช่นทุกปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน”
นอกจากความสำเร็จในการบำบัดความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว โครงการฯยังประสบความสำเร็จในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย ในกระบวนการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา
มีแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม 47 แผนงาน ระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ถึง พ.ศ. 2569 ซึ่งผลการดำเนินงานตามแผนงาน ส่งผลให้ในการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อติดตามสถานภาพการอนุรักษ์พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ชื่นชมผลการดำเนินงานของประเทศไทยด้วย เป็นเครื่องยืนยันถึงความเอาใจใส่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสนองพระราชดำริการพัฒนาอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา
ก่อนหน้านี้ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีต้องเผชิญความทุกข์ยากเนื่องจากปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็มรุกล้ำ และน้ำเน่าเสีย
เมื่อมีโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาเกิดขึ้นมา ปัญหาเหล่านั้นจึงคลี่คลายไป เห็นได้จากไม่มีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เหมือนที่เคยท่วม
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวปราจีนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง
ดังที่ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือได้ว่าเป็นมรดกสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ให้พสกนิกรไทยทุกคน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน