จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงอุทิศพระวรกาย ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ด้านต่าง ๆ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยให้แก่ประเทศและประชาชนชาวไทย
ถึงแม้ว่ากาลเวลาอาจจะพรากพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักของปวงชนไป แต่การน้อมระลึกถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ท่านจะยังคงอยู่ให้ประชาชนได้ศึกษาและเรียนรู้อย่างที่สถานที่อันเทิดพระเกียรติ “หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” จังหวัดปทุมธานี
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2539 อันเป็นปีมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี รัฐบาลได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะดำเนินการรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุ ที่เกี่ยวเนื่องในพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ มาจัดเก็บและอนุรักษ์ไว้ตามระบบมาตรฐานงานจดหมายเหตุ เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย
กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรจัดทำโครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นอนุสรณ์สถาน ในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก และได้รับพระราชทานชื่อว่า “หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”
รูปแบบของหอจดหมายเหตุฯ แห่งนี้ จะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สมัยรัชกาลที่ 9 มีลักษณะเป็นกลุ่มอาคาร 4 หลัง มีทางเชื่อมและลานอเนกประสงค์ ประกอบด้วย อาคารเก็บเอกสารจดหมายเหตุ เป็นอาคาร 9 ชั้น, อาคารให้บริการค้นคว้า และอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 2 หลัง
อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรตินี้จะอยู่ทางปีกซ้ายและปีกขวา แต่ละอาคารจะจัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติทั้ง 3 ชั้น เริ่มต้นกันที่ “อาคาร 3” ทางด้านปีกซ้ายเป็นอาคารแรก ซึ่งในชั้นแรกนั้นจะประกอบได้ด้วย 4 หัวข้อ คือ ส่วนที่ 1 “ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ”เป็นการนำเสนอวีดิทัศน์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ทรงครองราชย์
ส่วนที่ 2 “พสกนิกรจงรักภักดี” เป็นการจำลองบรรยากาศบ้านเรือน ร้านค้าในยุคสมัยต่างๆ และการแสดงออกถึงความจงรักภักดีของประชาชนในแต่ละยุคสมัย มีการประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ธงชาติและธงเฉลิมพระเกียรติ
ส่วนที่ 3 “ดินแดนเสด็จพระบรมราชสมภพ” จะเป็นส่วนในการแสดงพระราชประวัติตั้งแต่เมื่อครั้งเสด็จพระบรมราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น รัฐแมสซาชูเสตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้มีการจำลอง "จัตุรัสภูมิพลอดุลยเดช" (King Bhumibol Adulyadej of Thailand Square)" ที่ก่อสร้างขึ้น เพื่อระลึกถึงในหลวง พระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่ประสูติ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วนที่ 4 “พระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 7” จัดแสดงเกี่ยวกับพระเมตตาของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่ทรงมีต่อเจ้านายราชสกุล “มหิดล” ซึ่งเป็นราชสกุลที่สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ถัดจากชั้นแรก ขึ้นไปยังชั้นที่ 2 ของอาคาร 3 ประกอบด้วย 5 หัวข้อ ได้แก่ ส่วนที่ 1 “ณ วังสระปทุม” ซึ่งจัดแสดงเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ.2471 ที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงพาครอบครัวมหิดลเสด็จนิวัตประเทศไทย
ส่วนที่ 2 “ขณะเยาว์พระชันษา ณ วังสระปทุม” จัดแสดงพระราชจริยวัตรในวังสระปทุม และการอภิบาลเลี้ยงดูอย่างดีจากสมเด็จพระบรมราชชนนี เป็นส่วนจัดแสดงได้รับรู้ถึงความอบอุ่นของเจ้านายราชสกุล “มหิดล”
ส่วนที่ 3 “พระตำหนักในแดนไกล” เป็นส่วนจัดแสดงเหตุการณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระเชษฐา เสด็จขึ้นสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8
ส่วนที่ 4 “ตามเสด็จนิวัติพระนคร” จัดแสดงพระราชกรณียกิจต่างๆ ของรัชกาลที่ 8 โดยมีพระอนุชาโดยเสด็จด้วยเสมอ จนสวรรคต
และในส่วนที่ 5 ส่วนสุดท้ายของชั้นนี้ “เถลิงถวัลยราชสมบัติ” จัดแสดงเหตุการณ์การเสด็จขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๙ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีทรงผนวช
ต่อมาเดินขึ้นชั้นที่ 3 จะมีการจัดแสดง 2 หัวข้อ นั่นคือ “ดำรงราชย์ ดำรงรัฐ” จัดแสดงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความสำคัญและมีความผูกพันกับสังคมไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และส่วนที่ 2 “พระราชพิธีสำคัญในรัชกาล” ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับความหมายความสำคัญ รูปแบบและขั้นตอนของพระราชพิธีสำคัญๆ ที่มีในรัชกาล
จบจากอาคารที่ 3 แล้ว จึงเดินไปชมนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติใน “อาคาร 4” กันต่อ โดยในฝั่งปีกขวานี้ จะต้องเริ่มต้นชมจากชั้นที่ 3 เป็นชั้นแรก ซึ่งชั้น 3 ประกอบไปด้วย 7 ส่วนด้วยกัน นั่นก็คือ
ส่วนที่ 1 “ศูนย์แห่งการทดลอง ศึกษา และพัฒนา” จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ขณะประทับและทรงงานภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ต่อด้วยส่วน “พระราชปณิธานอันมั่นคง” แสดงจุดเริ่มต้นโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของราษฎร
ส่วนที่ 3 เกี่ยวกับ “โครงการพระราชดำริฝนหลวง” จัดแสดงพัฒนาการของโครงการฝนหลวงตั้งแต่พระราชทานพระราชดำริเมื่อ พ.ศ.2498 จนปัจจุบัน รวมทั้งวิธีและการพัฒนาในการทำฝนหลวงของพระองค์ ตามมาด้วยส่วนที่ 4 “การบริหารจัดการน้ำ” อันแสดงให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจ และแนวพระราชดำริในการบริหารจัดการน้ำ
จากนั้นเป็นส่วนที่ 5 ของ “ทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง” แสดงแบบจำลองทฤษฎีใหม่ในการบริหารจัดการดินและน้ำเพื่อการเกษตร แนวทางในการดำเนินงานทฤษฏีใหม่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต่อมาในส่วนที่ 6 “พระปรีชาสามารถด้านศิลปะ” นอกจากพระองค์จะทรงงานพระราชกรณียกิจมากมายแทบมิได้ว่างเว้น แต่พระองค์ยังคงมีพระปรีชาสามารถด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย หัตถกรรม ดนตรี วรรณศิลป์ และอีกมากมายให้ได้ชม และส่วนสุดท้ายของชั้นนี้ คือ “พระมหากรุณาธิคุณด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม”ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านดังกล่าวอีกด้วย
จากชั้นที่ 3 ไล่ลงมายังชั้นที่ 2 อันประกอบไปด้วย 4 ส่วนด้วยกันนั่นคือ คือ “สาธารณสุขมวลชน” แสดงพระราชกรณียกิจด้านการสาธารณสุข และรางวัลที่ทรงได้รับจากองค์การอนามัยโลก ส่วนที่ 2 “พระมหากรุณาธิคุณสู่ชายแดน” แสดงพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณต่อทหารและตำรวจตระเวนชายแดน ส่วนที่ 3 “ในหลวงกับการปกครอง” จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ และส่วนสุดท้ายในชั้นนี้คือ “เจริญพระราชไมตรี” ซึ่งจัดแสดงพระราชกรณียกิจในการเสด็จเยือนประเทศต่างๆ เพื่อเจริญพระราชไมตรี
จากนั้นเป็นส่วนแสดงในชั้นที่ 1 ของอาคารที่ 4 เป็นการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และมีพระราชดำริอันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการในพระราชดำริหลายโครงการ ณ พระตำหนักตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปฎิบัติพระราชกรณียกิจ และสุดท้ายก่อนจะจบการแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติเป็นส่วนของ “พระบารมีปกเกล้าชาวไทย” ซึ่งจัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ในหัวข้อ รูปที่ประชาชนชาวไทยทุกบ้านมีไว้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต และแสดงถึงความจงรักภักดี ความผูกพันของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพระเมรุมาศ รวมถึงงานประติมากรรมต่างๆ มาจัดแสดงถาวรที่หอจดหมายเหตุฯ โดยจะมีการสร้างอาคารหลังใหม่ที่จัดแสดงเรื่องราวการถวายพระเพลิงพระบรมศพ และทรงกรมศิลปากรจะรวบรวมข้อมูลในเชิงองค์ความรู้ เป็นจดหมายเหตุที่บันทึกเรื่องของพระราชพิธี ตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต จนกระทั่งถึงวันเสร็จสิ้นพระราชพิธี
“หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ตั้งอยู่ที่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เปิดให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0-2902-7940
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน