จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“สตรอว์เบอร์รี่” ถือเป็นผลไม้ชนิดแรกๆ ที่มีการนำเข้ามาขยายพันธุ์เพื่อปลูกทดลอง และส่งเสริมเกษตรกรในที่สูง ทดแทนฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาเผ่าต่างๆ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเนื่องจากเป็นผลไม้ที่ได้รับพระราชทานพันธุ์มาเพื่อการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ และเสาะหาพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และภูมิอากาศของประเทศไทย การตั้งชื่อนำหน้าพันธุ์ที่ได้จากทุกงานวิจัยจึงใช้ชื่อว่า “พันธุ์พระราชทาน” แล้วจึงตามด้วยหมายเลขพันธุ์หรือหมายเลขแปลง
สำหรับการพัฒนาสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่นั้นต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ปี จึงจะพัฒนาได้ 1 สายพันธุ์ และปัจจุบัน สายพันธุ์ที่กำลังมีการส่งเสริมคือ สายพันธุ์พระราชทาน 60 และ 80 ซึ่งมีข้อแตกต่างคือ พันธุ์พระราชทาน 60 จะให้ผลผลิตต่อไร่ดีกว่า ส่วนพันธุ์พระราชทาน 80 จะให้สีและรสชาติดีกว่า
“สตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน 80” เป็นสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์ที่กำลังเป็นที่นิยม และสามารถหาชิมได้ตามท้องตลาด โดยเฉพาะที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นแหล่งที่มีการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ที่ใหญ่ที่สุดในไทย และเหตุที่ใช้ชื่อพันธุ์พระราชทาน 80 เนื่องจากได้พระราชทานมาเมื่อปี พ.ศ.2550 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา
สตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน 80 เป็นสายพันธุ์กินผลสด และเป็นพันธุ์ที่ต้องการอากาศหนาวเย็นมากกว่าพันธุ์อื่นๆ คือ ต้องปลูกในพื้นที่สูงตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 16-20 องศาเซลเซียสไม่น้อยกว่า 30 วัน ซึ่ง “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” จะเป็นพื้นที่ปลูกได้ผลดี เพราะมีความสูงประมาณ 1,400 เมตร เพื่อกระตุ้นการสร้างตาดอกอย่างต่อเนื่อง และให้ได้ผลผลิตในปริมาณมากและยาวนานขึ้น และยังเป็นพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนสและราแป้งได้ดี
นอกจากนี้ยังมีลักษณะเด่นกว่าพันธุ์อื่น ๆ ตรงที่ผลสุกมีกลิ่นหอม และมีรสชาติหวานกว่า เนื้อผลแน่น สีแดงสด และรูปร่างของผลสวยงาม จะซื้อกินเองหรือซื้อเป็นของฝากก็ถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน