จากประชาชาติธุรกิจ
การประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ครั้งที่ 2/2560 ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผลทำให้สถานการณ์ของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้รับประทานบัตรแร่ทองคำในจังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ 1,549-1-85 ไร่ กับจังหวัดพิจิตร เนื้อที่ 2,176-1-55 ไร่ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีแนวโน้มว่า บริษัทอัคราฯอาจจะได้กลับมาดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำอีกครั้ง
ใช้ ม.44 ปิดเหมืองชาตรี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกคำสั่งที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 โดยคำสั่งดังกล่าวอาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) สั่ง “ระงับ” การอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ การต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ และให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตร-ใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ “ระงับ” การประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560
แน่นอนว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ครั้งนี้ มุ่งไปที่การทำเหมืองแร่ทองคำที่เหลืออยู่เพียงบริษัทเดียวในประเทศ คือ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ถึงผลกระทบจากการทำเหมืองในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด (พิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก) ทั้งในด้านของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ จนกลายมาเป็นความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องและยาวนาน หลังจากที่รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมือนแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส ในเดือนเมษายน 2559 ได้ข้อสรุปเบื้องต้นที่ว่า “พื้นที่ในการทำเหมืองเป็นแหล่งที่มีโลหะหนักและสารหนูอยู่ในปริมาณที่สูง”
โดยในประเด็นนี้มีข้อน่าสังเกตว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯไม่ได้ระบุว่า “โลหะหนักและสารหนู” ที่ตรวจพบในปริมาณที่สูงจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนนั้น เกิดมาจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ
กำกวมและไม่ชัดเจน
ผลจากข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการไม่สามารถระบุได้ว่า “แมงกานีส-สารหนู-ไซยาไนด์” ในระดับที่เกินกว่าค่ามาตรฐานในพื้นที่ “มาจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯหรือไม่” นั้น ได้กลายเป็น “ข้อผิดพลาด” ครั้งสำคัญของการใช้คำสั่งที่ 72/2559 ตามมาตรา 44 จนกลายมาเป็น “ความกำกวม” บังคับให้บริษัทอัคราฯ “ระงับ” การทำเหมืองแร่ทองคำ โดยใช้คำว่า “เพื่อประโยชน์ของสังคมและประชาชนเป็นส่วนรวม และแก้ปัญหาความแตกแยกของประชาชนในชุมชน”
ทั้ง ๆ ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เองก็ “ยอมรับ” ออกมาแล้วว่า “ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนเกิดจากการทำเหมือนแร่ทองคำของบริษัท”จนความไม่ชัดเจนและกำกวมนี้ได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่ บริษัท คิงส์ฯเกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท อัครา ยกขึ้นมา “ต่อสู้” ทางกฎหมายกับรัฐบาลไทย
ข้อพิพาทภายใต้ TAFTA
นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากบริษัทถูกสั่งให้ “ระงับ” การทำเหมืองแร่ทองคำ หลังวันที่ 30 ธันวาคม 2560 บริษัทแม่ (คิงส์เกต) ก็ได้เริ่มกระบวนการเจรจากับรัฐบาลไทย โดยบริษัทคิงส์เกตฯได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการมายังรัฐบาลไทย ใน
วันที่ 3 เมษายน 2560 เพื่อแจ้งให้รัฐบาลไทยได้ทราบว่า คำสั่ง “ระงับ” การทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทตามมาตรา 44 นั้น “ขัด” กับความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) และบริษัทขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทโดยคิงส์เกตยังไม่ใช้ “อนุญาโตตุลาการ”
แถลงการณ์ของบริษัทคิงส์เกตฯที่ออกตามมาระบุไว้อย่างชัดเจนว่า บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการเสาะแสวงหาแนวทางต่าง ๆ เพื่อแก้ไขและเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นกับเหมืองแร่ทองคำชาตรี รวมไปถึงการเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐบาลไทย จากการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี TAFTA
ซึ่งตีความได้ว่า 1) บริษัทอัคราฯต้องการกลับมาทำเหมืองทองชาตรีต่อไป 2) รัฐบาลไทยจะ “เยียวยา” ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกระงับการทำเหมืองไป 10 เดือนอย่างไร และ 3) มีประเด็นที่บริษัทจะต้องเรียกร้อง “ค่าชดเชย” จากการที่รัฐบาลไทยได้ “ละเมิด” ข้อตกลง TAFTA ด้วย
และภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทของ TAFTA ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการ “พูดคุย” กัน ในคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัทคิงส์เกตฯ ต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน
แน่นอนว่าการใช้คำสั่ง “ระงับ” การทำเหมืองแร่ทองคำของรัฐบาลไทย ภายใต้มาตรา 44 นั้น “ไม่เป็นที่ยอมรับได้” ของบริษัทคิงส์เกตฯ จากเหตุผลที่ว่า
1) บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ถูกตั้งขึ้นมาภายใต้ข้อตกลง TAFTA ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเปิดเสรีการค้า-การลงทุน 2) บริษัทอัคราฯได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากรัฐบาลไทย ในฐานะ “นักลงทุน” ชาติออสเตรเลีย ที่ถูกชักชวนให้เข้ามาทำเหมืองแร่ 3) บริษัทอัคราฯได้รับ “ประทานบัตร” และใบอนุญาตในการทำเหมือง-โรงโลหกรรมแร่ทองคำ “ถูกต้อง” ตามเงื่อนไขที่กฎหมายไทย (พ.ร.บ.แร่) ได้กำหนดไว้ และ 4) ไม่มีข้อพิสูจน์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ว่า สารโลหะหนักและสารหนูที่ตรวจพบนั้น เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท
คิงส์เกตฯต้องการอะไร
โดยบริษัทคิงส์เกตฯได้ยื่นข้อเรียกร้องในระหว่างการเจรจาภายใต้คณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทฯ ประกอบไปด้วย 1) หลักประกันในการที่บริษัทอัคราฯ จะกลับเข้ามาประกอบการทำเหมืองแร่ทองคำในระยะยาวต่อไป 2) การต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรม และ 3) การชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูก “ระงับ” การทำเหมืองแร่ทองคำในประเด็นข้อเรียกร้องเหล่านี้ นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานฯ กล่าวถึงหลักประกันที่ว่าก็คือ ข้อตกลงหรือมติของคณะกรรมการที่เห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษร มีเงื่อนไขระบุอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไทยจะไม่มีคำสั่งระงับการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทในระยะยาวอีก และจะต้องต่ออายุใบอนุญาตประกอบโรงโลหกรรมให้บริษัท จากข้อเท็จจริงที่ว่า “ประทานบัตร” ในการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ยังมีอายุจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 และเดือนกรฎาคม 2571 หรือมีเวลาทำเหมืองอีก 11 ปีกับปริมาณคาดการณ์ทองคำที่เหลืออยู่ประมาณ 40 ตัน
ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น “บริษัทอัคราฯมีรายได้และยอดขายทองคำประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี” นายเชิดศักดิ์กล่าว
คำสั่ง คนร.เปิดทางเหมืองทองคำ
ล่าสุด นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ทำหนังสือถึงบริษัทอัคราฯ แจ้งมติคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำภายใต้กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ภายใต้กลไกของ คนร. ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559
หรือนี่จะเป็นการ “เปิดทาง” ให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส “กลับมา” ทำเหมืองทองคำได้อีกครั้ง ?
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต