สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรมวิชาการเกษตรแจงไม่เคลียร์ พร้อมซื้อเวลาแบน 3 สารวัตถุอันตรายต่อไป

กรมวิชาการเกษตรแจงไม่เคลียร์ พร้อมซื้อเวลาแบน 3 สารวัตถุอันตรายต่อไป

จากประชาชาติธุรกิจ

ไม่เคลียร์! กรมวิชาการเกษตรยืดเวลารวบข้อมูลแบน 3 สารวัตถุอันตราย จ่อชงบอร์ดแบนเฉพาะพาราควอต-ควอร์ไพริฟอส ไร้ไกลโฟเซต จี้ผู้ประกอบการรายงานแผนนำเข้าส่งออกพื้นที่ใช้ให้ครอบคลุม

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการพิจารณายกเลิก 3 วัตถุอันตราย ที่ประกอบไปด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หลังจัดประชุมรวบรวมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องรอบด้าน อิงข้อมูลวิชาการและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ล่าสุด เห็นควรให้จำกัดการเฉพาะใช้ “ไกลโฟเซต” และไม่มีแนวทางยกเลิกตามข้อเสนอ แต่ให้ผู้ประกอบการรายงานการนำเข้า การผลิต การส่งออก การจำหน่าย พื้นที่การใช้ และปริมาณคงเหลือ และต้องระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากวัตถุอันตรายควบคุมการโฆษณา ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ส่วนอีก 2 ชนิด คือ พาราควอตและควอร์ไพริฟอส ต้องส่งเรื่องหารือไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมข้อมูลด้านพิษวิทยาของสาร ด้านประสิทธิภาพในการใช้ ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านการห้ามใช้ในต่างประเทศ และด้านการห้ามใช้ตามข้อตกลงของอนุสัญญาประกอบกับข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากกรมฯ ยังไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณานำข้อมูลด้านสุขภาพอนามัยมาวินิจฉัยได้อย่างชัดแจ้งว่าสารดังกล่าวมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเห็นสมควรที่จะขอคำปรึกษาในเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ รวมไปถึงผู้แทนจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 7 โดยกรมวิชาการเกษตรมีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวัตถุอันตรายตามพ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 เท่านั้น

“กรมวิชาการจะนำเสนอข้อมูล 5 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น 1.การทบทวนค่าพิษวิทยา 2.การห้ามใช้ในประเทศต่างๆด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ 3.การปฏิบัติภายใต้อนุสัญญาประชาคมโลก 4 ข้อ 4.ผลการรับฟังความเห็น และ 5.ผลกระทบสุขภาพอนามัย ซึ่งยอมรับว่ายังติดขัดในข้อที่ 5 เพราะกรมวิชาการเกษตรไม่มีผู้เชี่ยวชาญและต้องอ้างอิงข้อมูลจากหลายภาคส่วนซึ่งไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันจึงต้องใช้เวลา”

นายสุวิชย์กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสาคัญในการลดการใช้สารเคมี และมีนโยบายที่จะ ผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะ สนับสนุนการลด ละ เลิก การใช้ เมื่อมีความจาเป็น โดยคำนึงถึงความเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จะศึกษาและเร่งรัดหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้สารดังกล่าวต่อไป กรมวิชาการเกษตรเองต้องพูดให้น้อยที่สุด เพื่อรับฟังความคิดเห็นทุกทางและจะหารือที่ประชุมเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งเร็วๆ นี้” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว


เครือข่ายต้านสารพิษโต้กลับกรมวิชาการยื้อเวลาแบนสารพิษ พร้อมนัดร่วมพล 19 ก.ย.นี้

จากประชาชาติธุรกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 ก.ย.) เวลา 11.00 น. หลังจาก ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้เปิดแถลงข่าวเรื่อง แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเสต จบลง ทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรและเครือข่ายต่างๆ มากกว่า 40 องค์กร ได้ออกแถลงการผ่านเพจเฟซบุ๊ก Thai-pan ตอบโต้การแถลงข่าวของกรมวิชาการเกษตรทันทีว่า รู้สึกผิดหวังต่อคำแถลงและผลการพิจารณาของกรมวิชาการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นอย่างยิ่ง ที่ยื้อการเพิกถอนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสออกไป ดังนี้

1) ตามที่นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ได้แถลงว่ากรมวิชาการเกษตรไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณาข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย จึงจะขอคำปรึกษาจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ทางเครือข่ายเห็นว่าเป็นการยื้อเวลา และหมกเม็ดให้มีการใช้สารพิษดังกล่าวออกไป เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบไปด้วย 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นมาพิจารณาผลกระทบโดยรอบด้าน และมีมติให้ยกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเนื่องจากผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค มีงานวิชาการที่ชัดเจนรองรับ ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรสามารถใช้อำนาจตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 มาตรา 25 คือ ใบอนุญาตที่ออกไปแล้ว หากมีเหตุสําคัญเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจออกใบอนุญาตมีอํานาจสั่งแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขในการอนุญาตได้ตามความจําเป็น แต่กรมวิชาการเกษตรมิได้กล่าวถึงประเด็นนี้แต่ประการใด

การผลักเรื่องนี้ออกไปทั้งๆ ที่สามารถดำเนินการระงับการใช้สารพิษทั้งสองชนิดได้ ไปให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเข้าทางบริษัทสารพิษ เนื่องจากในคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีกรรมการอย่างน้อย 2 คน เป็นตัวแทนของสมาคมของบริษัทสารพิษร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย โอกาสที่จะแบนสารพิษดังกล่าวจะเป็นไปได้ยากหรือยื้อเวลาต่อไปอีกหลายปี ดังที่ปัจจุบันคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่ได้ประกาศแบนคาร์โบฟูราน และเมโทมิล ทั้งๆ ที่กรมวิชาการเกษตรได้เสนอให้มีการแบนทั้งสองสารดังกล่าวมานานมากกว่า 4 ปีแล้วก็ตาม

2) กรณีการจำกัดการใช้สารพิษไกลโฟเซต โดยระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ทางกรมวิชาการเกษตรต้องมีมาตรการและกลไกมารองรับการจำกัดการใช้ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานตาม Road Map ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงได้วางแนวทางไว้

3) เพื่อสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข คือ ให้มีการยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เครือข่ายฯจะเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศตามกำหนดการเดิมในวันที่ 19 กันยายน 2560 หน้าทำเนียบรัฐบาลและศาลากลางทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป โดยเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปฏิเสธการต่อทะเบียนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสที่กำลังหมดอายุในต้นเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งเพิกถอนทะเบียนของสารพิษดังกล่าวตาม Road Map เพื่อให้มีการยุติการใช้สารดังกล่าวภายในปี 2562 อย่างไม่มีเงื่อนไข


เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษฯ ประกาศรวมพลังเคลื่อนไหวหน้าทำเนียบ 19 ก.ย.

จากประชาชาติธุรกิจ

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ประกาศรวมพลังเคลื่อนไหวใหญ่ หน้าทำเนียบรัฐบาลและใน 76 จังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 19 กันยายนนี้….จับตาคำแถลงของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์วันนี้ (12 กันยายน) เวลา 11.00 น.

เมื่อวานนี้ (11 ก.ย.) เวลา 13.00 น. เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ได้แถลงข่าว “รวมพลังสนับสนุนการแบนสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง” ที่เคยูโฮม ม.เกษตรศาสตร์

จากมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบไปด้วยคณะกรรมการจาก 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการดำเนินการเพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช “พาราควอต” และสารเคมีกำจัดแมลง “คลอร์ไพริฟอส” และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ต้นน้ำ ชุมชนและพื้นที่เปราะบาง เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก แต่ในอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ทะเบียนพาราควอตของบริษัทซินเจนทาจะหมดอายุลง ทำให้มีความเคลื่อนไหวของผู้เสียประโยชน์เพื่อที่จะต่ออายุทะเบียนและไม่ให้มีการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ ดังนั้นองค์กรที่ทำงานด้านเกษตร คุ้มครองสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจึงได้รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง” เพื่อแสดงเจตนารมณ์และสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) สรุปสถานการณ์ หลังจากที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศมติดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ทางกรมวิชาการเกษตรได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นมาเป็นลำดับ โดยข้อมูลส่วนใหญ่จากผู้เข้าร่วมเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นและการอ้างผลงานที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทำให้ขาดความน่าเชื่อถือทางวิชาการ ทางเครือข่ายจึงขอสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข คือ ให้มีการยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต โดยยุติการขึ้นทะเบียนในปี 2561 และยุติการใช้ภายในปี 2562 และยืนยันที่จะให้ทางกรมวิชาการเกษตรปฏิบัติตามมติโดยไม่มีการต่อทะเบียนที่กำลังจะหมดอายุลง และให้พิจารณายกเลิกทะเบียนที่ยังไม่หมดอายุให้เป็นไปตาม road map เพื่อเป็นการ phase out อย่างเร่งด่วน และเพื่อเป็นการยืนยันถึงความต้องการสนับสนุนมติเหล่านี้ ทางเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงจะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน 2560

นายเกษม บุญชนะ เลขานุการสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรสุขภาวะ จังหวัดชุมพร ขอประกาศเจตนารมณ์ของคนทำสวนยางที่ส่งผลต่อสภาวะด้านความเป็นอยู่

1) ขอสนับสนุนข้อเสนอกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย ขอให้สารเคมีที่อันตรายร้ายแรงต้องยกเลิก

2) ขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนทางเลือกให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง

3) ขอเรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรใช้อำนาจตามมาตรา 38 และ 40 เมื่อเห็นว่าสารเคมีนั้นอาจเป็นอันตรายต่อพืช สัตว์ และคน หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีผลให้สารเคมีนั้นไม่สามารถที่จะผลิต นำเข้า และส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง

4) ขอให้รัฐบาลมีมาตรการเด็ดขาดในการไม่ขึ้นทะเบียนหรือเพิกถอนสารเคมีที่อันตรายทั้งในปัจจุบันและอนาคต การแถลงข่าวนี้ขอยืนยันว่าถ้าหากรัฐบาลยังไม่มีมติที่เด่นชัด กระทรวงเกษตรยังไม่สามารถที่จะดำเนินการตามที่ประชาชนเสนอ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 43 (3) เราจะขยับขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลในเร็ววัน

นายธีระ วงศ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกร จังหวัดจันทบุรี ในนามของสภาเกษตรกรแห่งชาติคงยืนยันเจตนารมณ์เดิมตามที่ได้รับมอบหมายมาดำเนินการกับเรื่องที่มีผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกร ซึ่งในขณะนี้เราจะเห็นว่าพี่น้องเกษตรกรเราล้มป่วยด้วยมะเร็ง เบาหวาน โรคตับ โรคไต สารพัดโรค ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากการสะสมของสารพิษ แล้วเราก็พยายามที่จะเรียกร้องในเรื่องของอาหารปลอดภัย ในเรื่องของประเทศไทยเป็นครัวของโลก แต่เรายังไม่เห็นความเด็ดขาดของการดำเนินงานของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายในการสนับสนุนงบประมาณ เราเร่งในเรื่องของการผลิตและรายได้มากๆ แต่เราไม่ได้มองในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของพี่น้องเกษตรกรเราเลย อันนี้เป็นความละเลยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มองแต่สิ่งที่จะได้มา แต่ผลที่จะเกิดขึ้นเราไม่ได้มองเลย ขออนุญาตเรียกร้องกระทรวงเกษตรต้องมองทั้งสองด้าน และในส่วนหนึ่งของเงินงบประมาณห้าหมื่นห้าพันล้าน ตัดครึ่งหนึ่งได้ไหมเอามาทำในเรื่องของสุขภาพ เราผลักดันในเรื่องของเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างจริงจัง มิเช่นนั้นแล้วประเทศไทยจะตกอยู่ในห้วงหายนะ จะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสารพิษ และในปัจจุบันไม่ควรพัฒนาประเทศโดยใช้สารพิษนำหน้า ควรจะเป็นเมืองที่มีสุขภาวะดี สิ่งแวดล้อมดี และผู้คนมีความสุข ฉะนั้นวันที่ 19 จะมีการประชุมสัมมนาของสภาเกษตรกรแห่งชาติกลุ่มภาคกลางและภาคใต้ที่จังหวัดปทุมธานี ก็จะใช้เวทีนั้นร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของพี่น้องเครือข่ายให้ยกเลิกสารพิษทั้ง 3 ชนิด ในส่วนของจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัดที่สภาเกษตรกรแห่งชาติมีสำนักงานที่ตั้งก็จะได้มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ต่อไป

นางสาวคำพัน สุพรม ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก(ประเทศไทย) เราเป็นชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรยั่งยืนที่รักษาระบบนิเวศน์อยู่แล้ว จึงขอสนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข และขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเอาจริงเอาจังในเรื่องของการยกเลิกสารเคมีอันตราย และเราจะกลับมาส่งเสียงอีกครั้งในวันที่ 19 กันยายนที่จะถึงนี้

นายรุ่งอรุณ แจ่มจันทร์ สภาองค์กรชุมชน ขอให้การยืนยันในการสนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ในการเสนอระดับชาติให้มีการยกเลิกสารเคมี ในตัวแรกก็คือ พาราควอต ไม่ให้มีการต่ออายุในการใช้สารนี้ และสารเคมีทุกตัวที่จะมาทำลายสุขภาพคนไทย อยากจะให้ประเทศไทยนี้ปลอดจากการใช้สารเคมี สภาองค์กรชุมชนขอให้การยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนในการเลิกใช้สารเคมีทั้งประเทศ โดยจะเสนอผ่านเวทีของสภาองค์กรชุมชนให้เสนอเป็นทั้งนโยบายและออกเป็นกฎหมายบังคับใช้

นายพชร แก้วกล้า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคภาคประชาชน ในมุมของผู้บริโภค การตกค้างของสารเคมี 3 ชนิดนี้ ในสิ่งแวดล้อมและในห่วงโซ่อาหาร อยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง เพราะฉะนั้นเราจึงสนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เราจะร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายในวันที่ 19 โดยการเข้าร่วมยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี และทาง คอบช. จะทำจดหมายไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อที่จะขอให้พิจารณาพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และให้ดำเนินการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต และมีการหนังสืออีกฉบับหนึ่งส่งไปยังกรมวิชาการเกษตรเพื่อให้ยุติการต่อทะเบียนและยกเลิกทะเบียนเดิมของคลอร์ไพริฟอสและพาราควอต

ทันตแพทย์หญิงวรางคณา อินทโลหิต ผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดหนองบัวลำภู ในนามของสมัชชาสุขภาพซึ่งจับในเรื่องของสารเคมีเกษตรที่มีผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่ปี 57 เพราะเราเห็นข้อมูลปี 56 ว่ามีคนป่วยด้วยโรคหนังเน่าในหนองบัวลำภูที่เก็บสถิติมาตั้งแต่ปี 56-59 ปีละร้อยกว่าคน และหนองบัวลำภูถูก Zoning ให้เป็นพื้นที่ปลูกพืชพลังงาน เพราะฉะนั้นจากที่ปี 56ปลูกอ้อยจากแสนไร่ ปี 59 เพิ่มเป็นห้าแสนไร่ และจากการที่ขาดแรงงานในการกำจัดหญ้าก็เลยใช้สารเคมีเยอะ โดยอันดับหนึ่งก็เป็นพาราควอต ผู้ใหญ่บ้านต้องประกาศลูกบ้านห้ามลงน้ำ ลงน้ำแล้วจะพองเป็นโรคเยอะมาก เครือข่ายของพวกเราเองก็เจอในเรื่องของโรคหนังเน่าทั้งแขนและขา อันนี้เป็นอันดับหนึ่งของพิษจากสารเคมี ที่เรายังไม่สามารถตรวจการตกค้างในร่างกายได้ เห็นแต่พิษเฉียบพลัน แต่ในเรื่องของยาฆ่าแมลง หนองบัวลำภูตรวจเกษตรกรพบตกค้าง 50% แต่ผู้บริโภคที่เป็นส่วนราชการตกค้างอยู่ที่ 70-90% ไอคิวของเด็กประถมวัยก็เป็นอันดับสุดท้ายของเขต จึงมีการคุยกันในเครือข่ายสมัชชาสุขภาพว่าอยากส่งมอบแผ่นดินที่ปลอดภัยให้กับคนในอนาคตไม่อยากให้เป็นแผ่นดินอาบยาพิษ ก็เลยมีข้อเสนอให้ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีเกษตร โดยให้เป็นเกษตรอินทรีย์ ขอสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข เราในฐานะเครือข่ายสมัชชาก็จะสื่อสารในเรื่องของพิษภัยของสารเคมีเหล่านี้ให้กับผู้บริโภคทราบ ในวันพรุ่งนี้หนองบัวลำภูก็จะสำเนาสมุดปกขาวให้กับผู้สื่อข่าวทุกคนในจังหวัดหนองบัวลำภูที่เราจะมาประชุมกัน

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรและเครือข่ายต่างๆมากกว่า 40 องค์ได้ประกาศร่วมกันที่จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศในวันที่ 19 กันยายน 2560 นี้ โดยจะมีการรวมตัวกันเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และบริเวณศาลากลางของ 76 จังหวัดทั่วประเทศ และคาดว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ที่สุดของประชาชนในยุคคสช. หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ดำเนินการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงตามมติของกระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงาน 4 กระทรวงหลัก


eosgear,#eosgear,ไร่รักษ์ไม้,#victorinox,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง

Tags : กรมวิชาการเกษตร แจงไม่เคลียร์ ซื้อเวลาแบน สารวัตถุอันตรายต่อไป

view