จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ตามรอยฟ้า
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2554ชุมชมบ้านเขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ได้รับผลพวงจากมหาอุทกภัยไม่ต่างจากพื้นที่อื่น ๆ โดยเวลานั้นน้ำได้ไหลบ่าเข้าสู่ชุมชน และท่วมขังสูงเกือบ 3 เมตร กินระยะเวลานานถึง 3 เดือน ก่อนที่บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) จะเข้ามาร่วมช่วยเหลือชุมชนหมู่ 1, 2 และ 3 ของ ต.เขาสมอคอน ในเดือน ม.ค. 2555
ช่วงแรกของการดำเนินงานเป็นกิจกรรมฟื้นฟูหลังน้ำลด ด้วยการเร่งซ่อมแซม และฟื้นฟูชุมชนให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้สมาชิกชุมชนบ้านเขาสมอคอนสามารถดำเนินชีวิตประจำวัน ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพได้ตามเดิม
แม้การฟื้นฟูอาคารบ้านเรือน และพื้นที่ทำกินที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะเสร็จสิ้นลง แต่ด้วยเจตนารมณ์ของบ้านปูที่ต้องการให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว จึงเกิดการต่อยอดสู่การจัดทำโครงการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งได้วางแผนงาน 5 ปี แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ
จากระยะแรกที่เป็นการพลิกโฉมชุมชนให้กลับสู่ภาวะปกติ ตามด้วยระยะกลางที่เป็นกิจกรรมมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน และปิดท้ายด้วยกิจกรรมระยะยาวกับการพัฒนาบ้านเขาสมอคอนให้เป็นชุมชนต้นแบบในการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน
ทั้งนั้น โครงการมองถึงความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง และเพื่อให้ชุมชนปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จึงได้แนะนำให้ทำเกษตรกรรมด้านอื่น นอกเหนือจากการปลูกข้าวตามปกติ พร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพ ทั้งการทำน้ำหมัก ปุ๋ย และฮอร์โมนชีวภาพ รวมถึงการปลูกมะนาว ชะอม และข้าวสินเหล็ก ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนั้นยังมีการสนับสนุนเกษตรกรไปเปิดโลกทัศน์กับชุมชนอื่น ๆ
ขณะเดียวกันยังพัฒนาทักษะชุมชนให้มีความพร้อม เตรียมรับภัยพิบัติ และปัญหาน้ำแล้ง ตลอดจนพัฒนาด้านสาธารณสุขมูลฐานควบคู่กันไป
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักคือชาวบ้านไม่มีเงินเก็บ และต้องกู้เงินตลอดสำหรับไปซื้อปุ๋ย จึงมีการจัดตั้งกองทุนปุ๋ย ภายใต้ชื่อ "กลุ่มสัจจะชาวนาบ้านเขาสมอคอน" โดยบ้านปูตั้งต้นเงินกองทุนกว่า 2.4 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกได้กู้ยืมปุ๋ยไปใช้ในการทำนา แล้วนำเงินค่าปุ๋ยมาคืนกองทุนหลังจากขายผลผลิตได้ ซึ่งปัจจุบันกองทุนนี้มีเงินทุนหมุนเวียน โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนสนับสนุนจากบ้านปูอีก
นอกจากการดำเนินงานโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งแล้ว ยังมีคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนอย่างจริงจัง โดย "อาริต รวบรวม" นักพัฒนาชุมชนผู้รับผิดชอบกองทุนปุ๋ย เล่าว่า ปัจจุบันกองทุนปุ๋ยมีสมาชิก 40 กว่าคน ตอนนี้ทำเรื่องการให้กู้ยืมปุ๋ยเป็นหลัก และมีการรับซื้อข้าวสินเหล็กจากเกษตรกรแล้วนำไปแปรรูป ซึ่งได้สำรวจความต้องการของสมาชิกเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง และมีแผนงานว่าอาจจะมีการให้กู้ยืมเมล็ดพันธุ์ในอนาคต
"การบริหารงานกองทุนดีขึ้นตามลำดับ มีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น อีกทั้งเรามีคณะกรรมการที่เข้มแข็ง มีการวางกฎระเบียบที่ชัดเจน รวมถึงสมาชิกมีความรับผิดชอบและซื่อสัตย์ในการส่งเงินเมื่อยืมปุ๋ยไป จึงมองว่านี่เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการขยับกองทุนให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในวงกว้างกว่าเดิม กระนั้นเราต้องรักษาความมั่นคงของกองทุนให้ได้ก่อน และทำให้เป็นที่ยอมรับของชุมชน ซึ่งเมื่อมีความเข้มแข็งมากขึ้นก็จะนำไปสู่การขยายเครือข่ายสมาชิกเพิ่มเติม"
หลังจากประสบความสำเร็จกับกิจกรรมในระยะกลางแล้ว บ้านปูจะดำเนินการต่อเนื่อง กับการเพิ่มศักยภาพของชุมชนในการบริหารจัดการตนเองผ่านโครงการนาอินทรีย์ข้าวสินเหล็ก เขาสมอคอน ที่ทำให้เกษตรกรมีแบรนด์สินค้าของตัวเอง อีกทั้งยังช่วยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ตั้งแต่การริเริ่มโครงการ การวางแผนการดำเนินงาน และการบริหารจัดการอื่น ๆ
"สนอง สอาดเอี่ยม" หัวหน้ากลุ่มนาอินทรีย์ ชุมชนบ้านเขาสมอคอน บอกว่า หลังจากผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์เข้ามาให้ความรู้ และแนะนำพันธุ์ข้าวให้เลือกปลูก ผมและครอบครัวจึงตัดสินใจเปลี่ยนจากนาเคมีมาสู่นาอินทรีย์ และทดลองปลูกข้าวพันธุ์สินเหล็ก แม้จะต้องให้ความสำคัญในการดูแลเอาใจใส่ในรายละเอียดค่อนข้างมากกว่า และได้ผลผลิตน้อยกว่าการปลูกข้าวพันธุ์อื่น ๆ ก็ตาม
"ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่น่าทดลอง ซึ่งผลที่ได้รับนั้นคุ้มค่า โดยได้ข้าวที่มีคุณภาพ และดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ต้นทุนลดลง เพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อสารเคมีราคาแพง รายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากขายได้ราคาดี อีกทั้งคุณภาพชีวิตดีขึ้นจากการที่ไม่ต้องคลุกคลีกับสารเคมี นอกจากนี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้ทำให้ผม และชาวบ้านสามารถทำเกษตรกรรมแบบพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน"
จากการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน ส่งผลให้ชุมชนบ้านเขาสมอคอน หมู่ 1 ได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับพออยู่พอกิน โดยเป็น 1 ใน 9 ชุมชนจากจำนวนทั้งหมด 128 ชุมชน ของ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ซึ่งมีการยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นรากฐานของชีวิต 6 ด้าน ได้แก่ การลดรายจ่าย, การเพิ่มรายได้, การประหยัด, การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน, การเรียนรู้ และด้านความเอื้ออารีต่อกัน
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต