จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย วลัญช์ สุภากร
ตั้งอยู่ที่ชั้นล่างของ 'บ้านเจ้าพระยารามราฆพ' ริมชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
จะหาความรู้สึกพิเศษเช่นใดมาเทียม ไม่มีเหมือนอีกแล้ว สำหรับ ร้านน้ำชาพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ( Mrigadayavan Palace Tea Room) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานอายุ 94 ปี ริมชายหาดอำเภอชะอำของจังหวัดเพชรบุรี
ความจริงแล้ว ‘ร้านน้ำชาพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน’ มิได้สร้างขึ้นใหม่ ความเก่าแก่นั้นเดินทางมายาวนานเท่ากับอายุ ‘พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน’ เนื่องจากเปิดให้บริการที่ บ้านเจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากหมู่พระที่นั่งของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ประมาณ 600 เมตร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้าง 'พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน’ เป็นพระราชวังฤดูร้อนประจำรัชกาลในปีพ.ศ.2466 สำหรับเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับพักผ่อนพระอิริยาบถและรักษาพระองค์
ขณะเดียวกันก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘เรือนพัก’ สำหรับสมุหราชองครักษ์ของพระองค์ คือ เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เพื่อให้เป็นบ้านพักในยามที่ไม่ได้ถวายงานในเขตพระราชวัง
บ้านเจ้าพระยารามราฆพ ปลูกตามแบบบ้านพักตากอากาศที่นิยมในสมัยนั้น และกลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมของหมู่พระที่นั่งพระราชนิเวศน์ฯ โดยสร้างเป็นเรือนยกพื้นสูงท่วมศีรษะด้วย เสาคอนกรีต ทรงสี่เหลี่ยม ผนังเรือนชั้นบนก่อด้วย ซิเมนต์บล็อก โดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่รั ชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2456 ด้วยพระราชประสงค์ให้ประเทศไทยผลิตปูนซิเมนต์ใช้เอง ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อจัดสรรการใช้ทรัพยากรภายในประเทศอย่างคุ้มค่า
หลังคาทรงปั้นหยาผสมจั่ว มุง กระเบื้องว่าวสี่เหลียม สีเดียวกับหมู่พระที่นั่งพระราชนิเวศน์ฯ พื้นเรือน ประตู และหน้าต่าง เป็น ไม้สักทอง ประตูไม้สูง ออกแบบเป็นบานเกล็ดผสมบานทึบ บานหน้าต่างออกแบบซ้อนกันสองชั้น ชั้นนอกเปิดออกได้กว้างทั้งสองบานหากลมแรง และทำ ‘บานกระทุ้ง’ ซ้อนไว้ชั้นใน สำหรับใช้ในวันที่กระแสลมไม่แรงมาก
เรือนชั้นบนแบ่งเป็นปีกซ้ายและปีกขวา วางผังเหมือนกันทั้งสองปีก คือด้านติดทะเลเป็นห้องนอน ต่อด้วยห้องน้ำ ต่อด้วยห้องนอนอีกห้อง โดยห้องนอนทั้งสองห้องมีประตูเปิดสู่ห้องน้ำที่คั่นอยู่ตรงกลางเพื่อใช้ห้องน้ำร่วมกัน มีระเบียงกลางเรือนเชื่อมระหว่างห้องต่างๆ ไว้เดินถึงกันได้หมด ใจกลางเรือนเป็นห้องรับประทานอาหารขนาดใหญ่ ทำหลังคาทรงโดมยอดแหลมคลุมไว้
เรือนหันหน้าออกสู่ทะเล มีบันไดไม้สำหรับขึ้นเรือนทั้งปีกซ้ายและปีกขวา ออกแบบเป็นบันไดโค้งขึ้นมาพบกันตรงระเบียงกลางเรือนหน้าห้องรับประทานอาหาร หลังเรือนมีบันไดอีกชุดสำหรับขึ้นเรือน ออกแบบเป็นบันไดตรงขนาบห้องครัว
ชั้นล่างของบ้านแห่งนี้ หรือบริเวณใต้ถุนบ้านเจ้าพระยารามราฆพในเวลานี้ คือ ร้านน้ำชาพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเปิดให้บริการ ‘น้ำชาบ่าย’ ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2557 ปิดบริการชั่วคราวเพื่อบูรณะสภาพบ้านเมื่อปีพ.ศ.2558 และกลับมาเปิดบริการอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายปีพ.ศ.2559 ที่ผ่านมา
ร้านน้ำชาพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ให้บริการ ชุดน้ำชา มาคิยาจ แฟรส์ (Mariage Freres) ชาชั้นสูงแห่งฝรั่งเศสที่เริ่มต้นกิจการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2397 สามารถเลือกชาได้ 2 กลิ่นจากที่มีบริการ 6 กลิ่น คือ Jasmin Mandarin ชาเขียวจีนกลิ่นดอกมะลิ, The‘ A L’Opera ชาเขียวกลิ่นเบอร์รีสีแดงและสมุนไพรล้ำค่า, Marco Polo ชาดำกลิ่นผลไม้และดอกไม้จีนจากธิเบต, Earl Grey French Blue ชาดำรสนุ่มกลิ่นมะกรูดเจือความหอมของดอกรอยัลบลู(royal blue flowers), Rouge Bourbon ชาแดงรสละมุนกลิ่นเบอร์เบินวานิลลา, Darjeeling Master ปรุงจากใบที่เก็บในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เบลนด์กับใบชาที่เก็บในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ให้น้ำชากลิ่นหอมแรง
เสิร์ฟกับของว่างประเภท ‘ขนมไทย’ 4 รายการ คัดสรรอย่างดีจากคนทำขนมเจ้าอร่อยแห่งเพชรบุรี หมุนเวียนกันไประหว่าง หอมนวล ปั้นขลิบ อาลัว ฝอยทองรังนก วุ้นใบเตย วุ้นกุหลาบ ตะโก้ และ หม้อแกง กับ ‘เบเกอรี่’ 5 รายการ ฝีมือเพสตรี้เชฟระดับโรงแรมห้าดาว คือ สโคน (scone)ขนมอบต้นตำรับคู่น้ำชาบ่าย, ฟินองซิเยร์ (financier) ขนมฝรั่งเศสชิ้นเล็กๆ คล้ายอัลมอนด์เค้ก, เรด เวลเวต (red velvet) เบเกอรี่เนื้อสีแดงสดใส, มินิบลูเบอร์รีชีสเค้ก(mini blueberry cheese cake), คานาเล่ (canale) ขนมอบเนื้อหนึบคล้ายคัสตาร์ดข้น และ แซนด์วิช อีก 3 ชนิด คือ ไข่ แฮม แตงกวา
ร้านน้ำชาพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ให้บริการ ชุดน้ำชา มาคิยาจ แฟรส์ สำหรับ 2 คน ประกอบด้วย 2 กาน้ำชา(น้ำชา 2 กลิ่น) และแพลตเตอร์ขนมไทย 4 รายการ ขนมฝรั่ง 5 รายการ ในราคา 900 บาท บริการ ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์เวลา 09.00-16.30 น. รายได้จากการจำหน่ายชุดน้ำชาเพื่อการบูรณะพระราชนิเวศน์ฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลานี้ ทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน เวลา 13.00-16.30 น. ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน พ.ศ.2560 มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จัดกิจกรรมพิเศษ การเสวนาในโครงการ อ่านหนังสือพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ร่วมกับ มูลนิธิวิชาหนังสือ, นิตยสาร a day และ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้เข้าร่วมงานจะได้ฟังเนื้อหาที่เป็นมงคลชีวิต สารประโยชน์ และเรื่องราวที่ทำให้เกิดรอยยิ้ม จากผู้เชี่ยวชาญที่จะถ่ายทอดพระอัจฉริยภาพของ รัชกาลที่ 9 จาก ‘พระราชนิพนธ์’ ในมุมมองทาง อักษรศาสตร์ ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญ เห็นประโยชน์ของการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะการอ่านวรรณกรรมที่ดีมีคุณค่า
การเสวนาครั้งที่ 1 จัดขึ้นไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2560 ภายใต้ชื่อ เปิดโครงการ 'อ่านหนังสือพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9' โดย ผศ.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ อดีตคณบดี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.พิมพ์รำไพ เปรมสมิทธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการ
ผศ.ประพจน์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงใช้ภาษาที่เกลี้ยงเกลา อ่านง่าย และตรงประเด็น ในการทรงงานพระราชนิพนธ์ รวมทั้งการให้กระแสพระราชดำรัส ที่สำคัญทรงมีจุดมุ่งหมายแน่นอนในการทรงงานทุกประเภทและทรงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
"บางทีท่าน(รัชกาลที่ 9)รู้มากกว่าผู้เชี่ยวชาญอีก แต่ท่านจะถามก่อน และฟังว่าเขาว่าอย่างไร ถ้าไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ท่านก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ท่านส่งคนไปเรียน อย่างเรื่องหญ้าแฝก ท่านอ่านหนังสือเยอะ ต้นเรื่องอยู่ที่ ‘สมเด็จย่า’ รับสั่งถึงเรื่องหญ้าแฝก ท่านก็ไปทรงค้นเรื่องหญ้าแฝก ทรงอ่านหนังสือมาก"
“พระราชนิพนธ์ ‘นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ’ เท่าที่รู้มา คือทรงแปลอยู่นาน และแปลอย่างละเอียด ผู้เป็นที่ปรึกษาสำคัญคืออาจารย์ภาวาส(บุนนาค) ในแง่ของภาษาท่านปรึกษาอาจารย์ภาวาสมากทีุ่สด แต่ในแง่ความละเอียดจะเห็นว่าหนังสือเล่มนี้มีเครื่องหมายวรรคตอน เพราะป็นทางหนึ่งซึ่งคิดว่า ตามพระบรมราชประสงค์คือ ต้องการให้ใกล้เคียงกับฉบับเดิมมากที่สุด ทรงใช้วรรคตอนให้เหมือนเดิม"
ผศ.พิมพ์รำไพ ร่วมให้ข้อสังเกตว่า ช่วงเวลาที่พระราชนิพนธ์เล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาใหม่ๆ นักภาษามักพูดตลอดเวลาว่า “ภาษาไทยไม่มีเครื่องหมายวรรคตอน”
ผศ.ประพจน์ กล่าวให้ความเห็นว่า ไม่ได้หมายความว่าภาษาไทยไม่มีเครื่องหมายวรรคตอน แต่ภาษาไทยไม่นิยมใช้ รัชกาลที่ 6 ทรงใช้เครื่องหมายวรรคตอน อาจเป็นเพราะพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงพระอักษรที่ต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เครื่องหมายวรรคตอนในงานนิพนธ์
"การมีเครื่องหมายวรรคตอนไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ใช่การเสียเอกราช จริงๆ เป็นการกำหนดความคิดของตัวเอง ถ้าฟูลสต๊อปคือ ‘หมด’ แล้วนะ ถ้ายังคอมม่าอยู่แสดงว่าความคิดยังแล่นตลอด ซึ่งบางทีการเขียนมันสื่อไม่ได้”
ช่วงปีพ.ศ.2535 มีงานพระราชนิพนธ์ตีพิมพ์หลายเล่ม ผศ.ประพจน์ให้ความเห็นว่า อาจเป็นเพราะเป็นช่วงเวลาที่ ‘รัชกาลที่ 9’ ทรงงานมาแล้วกว่า 40 ปี ทรงเกิดความรอบรู้และพร้อมจะบอกเล่า
"พระราชนิพนธ์ 2-3 เรื่องที่เน้นคือ ‘นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ’ คือจะบอกให้คนรู้ว่า ทำไปเถอะ ไม่ต้องไปโฆษณามาก ที่จริงโบราณก็เตือนไว้ ทำบุญแล้วโฆษณา บุญเป็นของคนอื่น ความคิดนี้มีอยู่ในเรื่องนี้มาก สิ่งที่เน้นในเล่มนี้ของเดิม คือคนที่อยู่ข้างหลังสามารถทำให้เกิดอะไรซึ่งยืดยาวและมีอิทธิพลต่อมาได้นานมาก...
จริงๆ แล้ว ‘พระมหาชนก’ ไม่ใช่เรื่องแสดงวิริยบารมี ถ้าไปอ่านคำภาษาบาลี เป็นการแสดงเนกขัมมะ(การสละโลกย์) แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านฉีกออกไปจากเดิม(innovate) คือการเล่าเรื่องของท่าน สามารถฉีกออกไปได้ ความจริงชาดกเป็นนิทานพื้นเมืองอินเดีย ไม่เป็นของพุทธ พุทธนำชาดกมาเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตเพื่อแสดงตัวอย่างเรื่องกรรม พระมหาชนกตอนหลังมาเป็นเรื่องมหาวิทยาลัย สะท้อนท่านไม่ละเลยคนมีความรู้ และความรู้ในระบบเป็นเรื่องสำคัญ มีความรู้แล้วต้องตั้งมหาวิทยาลัย.."
อ่ีกประเด็นที่ผศ.ประพจน์กล่าวว่าอยากพูดถึงคือ รัชกาลที่ 9 เมื่อทรงงานใดๆ เกี่ยวหนังสือ ทรงคิดถึงบุคคลหลายระดับ ยกตัวอย่าง ‘พระมหาชนก’ ที่มีทั้งเล่มที่ทรงกำกับอักษรเทวนาครีไว้ในเรื่อง และเล่มการ์ตูนสำหรับเด็ก
"ที่เห็นชัดที่สุดคือ สารานุกรมฉบับเยาวชน เขียนละเอียดสำหรับเด็กโต และเรื่องเดียวกันจะเขียนให้ง่ายสำหรับเด็ก ท่านไม่ได้มองเห็นว่าการถ่ายทอดความรู้มีทางเดียว แต่มีหลายระดับ เพื่อเป็นปัจจัยให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งที่ยากขึ้น"
ผศ.ประพจน์ กล่าวไว้ตอนหนึ่งด้วยว่า หากจะทำความเข้าใจความคิดของ ‘รัชกาลที่ 9’ ในแต่ละประเด็น โดยเฉพาะ ‘รับสั่ง’ ที่พระราชทานในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ก็จะศึกษาได้ทั้งประวัติศาสตร์ ความคิดของผู้คนในช่วงเวลานั้น รวมทั้งเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นที่ทำให้ทรงรับสั่งเช่นนั้น
“พระบรมราโชวาทมีคนร่างก็จริง แต่เคยเห็นเปลี่ยนใหม่หมดก็เยอะมาก หรือขีด.. เปลี่ยนความคิด และเป็นประเด็นสำคัญที่ท่านบอกอย่าพูดอย่างนี้ ให้พูดอีกอย่าง เรื่องนี้ไม่ให้พูด คือไม่มีพระบรมราโชวาทที่ขึ้นไปแล้วไม่ได้ทรงพิจารณาหรือไม่มีพระบรมราชวินิจฉัย คือท่านเห็นเป็นเรื่องใหญ่ ในฐานะที่่ท่านเป็นผู้ใหญ่ออกมาพูด มันมีน้ำหนัก คนอย่างเราพูดไม่มีน้ำหนัก คนเป็นผู้ใหญ่ พูดอะไรก็มีน้ำหนัก ชมก็มีน้ำหนัก ติก็มีน้ำหนัก ทรงระวังมาก” ผศ.ประพจน์ กล่าวและว่า
“การได้อ่านพระราชนิพนธ์เป็นเรื่องใหญ่ ขอเพียงแต่ได้อ่าน เพราะการอ่านหนังสือดีๆ ย่อมทำให้ได้รับสิ่งดีๆ”
ใครสนใจฟัง การเสวนาในโครงการ อ่านหนังสือพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ยังมีการจัดงานอีก 5 ครั้ง คือ
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ : “พระราชานุกิจในรัชกาลที่ ๘” และ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์” พระราชนิพนธ์เมื่อต้นรัชกาลที่ ๙, วิทยากร ผศ.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล
วันที่ 18 มีนาคม : วาทศิลป์แห่งปัญญาในพระบรมราโชวาท, วิทยากร ธเนศ เวศร์ภาดา
วันที่ 22 เมษายน : พระมหาชนก, วิทยากร จักรกฤต โยมพยอม (ครูทอม คำไทย)
วันที่ 20 พฤษภาคม : นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ, วิทยากร รศ.ตรีศิลป์ บุญขจร
วันที่ 17 มิถุนายน : ติโต, วิทยากร ผศ.สุรเดช โชติอุดมพันธ์
ฟังเรื่องประทับใจเสร็จแล้วก็สามารถใช้เวลาดื่มด่ำในบรรยากาศประวัติศาสตร์ต่อได้ที่ ร้านน้ำชาพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน หรือจะไปตั้งแต่ช่วงเช้าก็ได้ ซึ่งบนเรือนจัดแสดงนิทรรศการ Recollections of Beach Forest-Paper Botanical, by Likay Bindery หรือผลงานชุดประติมากรรมกระดาษจากการสำรวจป่าชายหาด ในรูปแบบศิลปะจัดวางโดย ลิเก บายเดอรี่ สตูดิโอการออกแบบศิลปะบนกระดาษ ก่อตั้งโดยสองศิลปินนักออกแบบ มะลิ จุลเกียรติ และ พันทิพา ตันชูเกียรติ ผู้ริเริ่มจินตนาการจากความสนใจในวัสดุกระดาษและพื้นที่ภายในกระดาษ เริ่มต้นผลงานจากการเย็บหนังสือด้วยหลากหลายรูปแบบวิธี สร้างสรรค์ผลงานและรับแรงบันดาลใจจากวัสดุรอบตัว พร้อมทั้งเทคนิควิธีการต่างๆ นำมาซึ่งผลงานที่แปลกใหม่สวยงาม และเป็นเอกลักษณ์
----------------------------------------------
- พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดทำการทุกวัน ยกเว้นวันพุธ เวลาเปิดทำการ 08.30-16.30 น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา 16.00 น.
ค่าธรรมเนียมเข้าชมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน (เฉพาะด้านล่างและโดยรอบ) ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็กอายุ 10-14 ปี คนละ 15 บาท
ค่าธรรมเนียมขึ้นชมหมู่อาคารพระที่นั่ง ผู้ใหญ่และเด็ก คนละ 30 บาท
ตั้งอยู่ในค่ายพระราม 6 ถนนเพชรเกษม ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี www.mrigadayavan.or.th
- ร้านน้ำชาพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดให้บริการที่ บ้านเจ้าพระยารามราฆพ ทุกวันศุกร์-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.30 น. สอบถามและสำรองโต๊ะโทร.0 3250 8443 และโทร.08 1941 2185
eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต