จากประชาชาติธุรกิจ
จังหวัดปราจีนบุรีเป็นแหล่งผลิตและแปรรูปสมุนไพรแหล่งใหญ่ของประเทศ ไม่เพียงแต่ผลผลิตจำนวนมาก ตรงตามความต้องการของตลาด และเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่หากมองด้านคุณภาพแล้ว ที่นี่เป็นแหล่งผลิตสมุนไพรออร์แกนิก หรือใช้วิธีการปลูกแบบอินทรีย์ ขนาดใหญ่ของประเทศ โดยในจังหวัดปราจีนบุรีมีเพียงบ้านดงบังแห่งเดียวที่ปลูกแบบออร์แกนิก และนับว่าเป็นต้นแบบของประเทศก็ว่าได้
"ประชาชาติธุรกิจ" ได้มีโอกาสลงพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และพูดคุยกับ "สมัย คูณสุข" ประธานที่ปรึกษากลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มสมุนไพรบ้านดงบังมีสมาชิกทั้งหมด 12 ครัวเรือน ประมาณ 30 คน แต่ปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานของสมาชิกเข้ามาสานต่อ ขณะนี้มียังสมาร์ทฟาร์มเมอร์แล้ว 13 คน มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 70 ไร่ เงินหมุนเวียนในกลุ่มอยู่ที่ 2 ล้านบาท/ปี โดยเฉลี่ยปลูกครอบครัวละ 5-6 ไร่ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ประมาณ 20,000-40,000 บาท/ครัวเรือน
"สมัย" กล่าวว่า กลุ่มดงบังปลูกสมุนไพรแบบออร์แกนิก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่เพียงแค่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี แต่จะต้องปลูกด้วยความหลากหลาย รักษานิเวศโดยรอบ และไม่ทำเป็นเกษตรกรเชิงเดี่ยว โดยสมุนไพรของกลุ่มบ้านดงบังได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากลอย่าง IFOAM ดังนั้นภาครัฐจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาให้ความรู้ ความเข้าใจกับเกษตรกร
ทั้งนี้ในกลุ่มปลูกสมุนไพรประมาณ 15 ชนิด ได้แก่ หญ้าปักกิ่ง เสลดพังพอนตัวเมีย ฟ้าทลายโจร เพชรสังฆาต หญ้าหนวดแมว ทองพันชั่ง อัคคีทวาร เถาวัลย์เปรียง ใบชะพลู รางจืด หญ้ารีแพร์ ขมิ้นชัน ว่านสาวหลง ชุมเห็ดเทศ และใบพลู และแนวโน้มเทรนด์ความต้องการมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยปี 2560 คาดว่าฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน และเพชรสังฆาต จะได้รับความนิยมสูง ขณะที่ราคาจำหน่ายหน้าสวนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 100-150 บาท/กิโลกรัม โดยจะส่งให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศรเท่านั้น เนื่องจากตลาดอื่นยังไม่มีความชัดเจนและแน่นอน
ขณะเดียวกันปราจีนบุรีได้มุ่งสู่เมืองแห่งสุขภาพและสมุนไพร แต่เกษตรกรในจังหวัดยังไม่ตื่นตัวของการเป็นผู้ผลิตที่ดีจึงมองว่าหน่วยงานภาครัฐควรจะต้องเข้ามาผลักดันให้เกิดความชัดเจนโดยเฉพาะกลุ่มอาชีพต่างๆได้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ที่จะเข้ามาแนะนำให้แต่ละบ้านเรือนปลูกสมุนไพรอย่างน้อย2-3 ชนิด แต่ปัจจุบัน อสม.ก็ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของวิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว ซึ่งบ้านดงบังเองก็พร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้
"สมัย" กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรจากที่อื่นให้ความสนใจปลูกสมุนไพรจำนวนมาก แต่บ้านดงบังเป็นได้เพียงพี่เลี้ยง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องจับมือกัน ทั้งอภัยภูเบศร กรมวิชาการ กรมส่งเสริม ฝ่ายพัฒนาชุมชน ต้องทำงานแบบบูรณาการ ต้องสร้างความชัดเจนให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องของรายได้ เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านสับสนว่าถ้าปลูกแล้วจะส่งให้ใคร ทั้งที่กรมส่งเสริมเข้ามาส่งเสริมให้ปลูก แต่ไม่ได้คุยกับผู้ซื้อ ทำให้ชาวบ้านไม่มีความเชื่อมั่น โดยรวมแล้วเกษตรกรเจ็บตัวเพราะภาครัฐ นี่คือปัญหาที่เกษตรกรกลัวมาก
พร้อมตั้งคำถามสำคัญว่า ในขณะที่เกษตรกรบ้านดงบังปลูกสมุนไพรออร์แกนิกส่งขาย แต่เกษตรกรรายอื่นยังคงปลูกแบบใช้สารเคมี แล้วจังหวัดปราจีนบุรีจะเป็นเมืองสมุนไพรได้อย่างไร
ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนซื้อสมุนไพรไปสต๊อกเก็บไว้เพื่อแปรรูปและจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่า ยังคงไม่มีความเข้าใจถึงรายละเอียด คุณสมบัติ การเก็บรักษา บางครั้งอาจจะเก็บนานเกินไปจนก่อให้เกิดโทษแทนประโยชน์ ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ยังไม่เข้าใจซื้อไปกินแล้วไม่ได้ผล ก็จะขาดความเชื่อมั่นในสมุนไพรไทยมากขึ้น เพราะฉะนั้นภาพรวมลึก ๆ จะต้องสกัดตั้งแต่ต้นทางที่มีการรับซื้อสมุนไพรให้กับบริษัทที่จะแปรรูป ซึ่งจะต้องมีที่มาที่ไปว่าสมุนไพรที่จะผลิตนำมาจากไหน
"อนาคตตลาดสมุนไพรก้าวสู่ระดับสากล มีความเป็นไปได้สูง ตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เมริกา ก็หันมาบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรออร์แกนิกกันหมด ดังนั้นภาครัฐจึงเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะวางทิศทางสมุนไพรของประเทศ"
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส