จากประชาชาติธุรกิจ
เทศกาลฉลองปีใหม่ 2560 ไล่ยาวไปจนถึงเทศกาล "ตรุษจีน" หากจะบรรจุ "เมืองจันเสน" ให้เป็นเส้นทางน่าเที่ยวที่ออกนอกกรุงเทพฯไม่ไกลนัก ควบคู่ไปกับการเก็บเกี่ยวเมืองสำคัญในอดีต สนุกกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองเก่า
และปิดท้ายทริปท่องเที่ยวด้วยการไหว้พระขอพรที่ "วัดจันเสน-ศาลเจ้าพ่อนาคราช" ในคราวเดียวกัน ก็น่าจะเป็นการเริ่มศักราชใหม่ที่เสริมสิริมงคล และเติมพลังบวกให้ก้าวไปข้างหน้ากับปีนักษัตร "ระกา" ได้อย่างมั่นใจ
"เมืองจันเสน" เป็นชุมชนไทยโบราณที่เกิดขึ้นริมทางรถไฟในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ มีอายุยาวนานไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี ที่เคยเจริญรุ่งเรืองในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวารวดีตอนต้นที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง
และถือเป็นเมืองร่วมสมัยเดียวกับเมืองอู่ทองในลุ่มแม่น้ำท่าจีนและเมืองฟูนันในบริเวณใกล้ปากแม่น้ำโขงซึ่งเมืองดังกล่าวถูกค้นพบครั้งแรกจากภาพถ่ายทางอากาศและสำรวจเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2509
นอกจากนี้ "เมืองจันเสน" ยังเป็นเส้นทางการค้าขายที่สำคัญในลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก เชื่อมโยงศาสนาและความเป็นอยู่ของประชากรด้วยภูมิปัญญา
จากวันนั้นในอดีตจวบจนวันนี้ "เมืองจันเสน" เป็นเข็มทิศที่สำคัญในการศึกษาค้นคว้าแหล่งโบราณคดีของไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อปี 2500 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟจิตรลดามายังสถานีรถไฟบ้านตาคลี อำเภอตาคลี ในคราวนั้นคุณยายแปลก แซ่อึ๊ง คหบดีของชุมชนจันเสน ได้ทูลเกล้าฯถวายกระเช้าผลไม้แด่พระองค์ สร้างความปลาบปลื้มมาสู่พสกนิกรชาวชุมชนจันเสนเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญ อ.ตาคลี-จันเสนยังเป็นเส้นทางพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย
แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญเมื่อมาเยือน"เมืองจันเสน"ได้แก่"พิพิธภัณฑ์จันเสน"ที่ตั้งอยู่ในวัดจันเสนที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีที่สำคัญ จัดแสดงประวัติความเป็นมาของเมืองได้อย่างครบถ้วน
ล่าสุดพระครูนิวิฐธรรมขันธ์ หรือหลวงพ่อเจริญ เจ้าอาวาสวัดจันเสน ผู้สานต่อเจตนารมณ์ของพระครูนิสัยจริยคุณ หรือหลวงพ่อโอด ในการพัฒนาศาสนาและชุมชนให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ได้จัดตั้ง "ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช"เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาที่ผ่านมา โดยจัดให้เป็นพื้นที่สำหรับเป็นแหล่งรวบรวม อนุรักษ์ ถ่ายทอด สืบสานและใช้ประโยชน์องค์ความรู้มรดกปัญญาทางวัฒนธรรม โดยแบ่งพื้นที่ภายในศูนย์เป็นหมวดหมู่ อาทิ พื้นที่จัดแสดงพระราชกรณียกิจที่สำคัญในด้านศาสนาของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์, พื้นที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ของหลวงพ่อโอดซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของชาวจันเสน เป็นต้น
เมืองจันเสนมิได้มีเพียงร่องรอยทางประวัติศาสตร์เท่านั้น ที่นี่ยังเปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญาสู่รากฐานวิชาชีพ สมาชิกกลุ่มสตรีทอผ้าจันเสน เพื่อเป็นอาชีพเสริมหารายได้เพิ่ม หลังฤดูเก็บเกี่ยวให้กับกลุ่มแม่บ้าน โดยมีลวดลายเฉพาะ จ.นครสวรรค์
ปัจจุบันชุมชนจันเสนได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยว OTOP สามารถสร้างรายได้และต้นแบบการเรียนรู้ที่สำคัญในจังหวัดนครสวรรค์
ก่อนกลับแวะไหว้ "ศาลเจ้าพ่อนาคราช" เพื่อขอพรรับมงคลศักราชใหม่ ศาลแห่งนี้เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของชาวจันเสน ที่ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี 2544 และในอนาคตอันใกล้ศาลเจ้าแห่งนี้จะเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนภาษาจีนแก่ผู้สนใจทั่วไป และเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กเพื่อให้การรักษาคนในชุมชนอีกด้วย
ความเป็นมาในอดีตของ "ชุมชนจันเสน" ที่ผ่านมากว่า 2,000 ปี จนถึงวันนี้จึงเป็นมากกว่าขุมทรัพย์ในอดีตที่ส่งผลให้ถึงปัจจุบันเพียงอย่างเดียว หากยังสามารถต่อยอดมรดกทางปัญญาในการศึกษาและเรียนรู้ต่ออนุชนรุ่นหลัง การพัฒนาและจัดทำศูนย์การเรียนรู้ในมิติต่าง ๆ จนเป็นรากแก้วที่สำคัญในการวางรากฐานให้ชุมชนจันเสนในวันนี้แข็งแรงและยั่งยืน เป็นต้นแบบที่ดีให้กับชุมชนอื่น ๆ ของไทย อาทิ ในแง่มุมของการกระตุ้นการท่องเที่ยว การสร้างการเรียนรู้ทางโบราณคดี การสร้างวิชาชีพ ตลอดจนการรักและหวงแหนในทรัพยากรทางโบราณคดีของไทยต่อไป
นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ที่คนไทยควรจะเร่ง "ปักหมุด" ให้เป็นที่พักผ่อนที่มากกว่าการหย่อนใจ เพราะเที่ยวเมืองเก่า "จันเสน" นับเป็นการเสริมทัพรับบารมีปีไก่ทองไปพร้อม ๆ กัน
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส