จับเทรนด์ธุรกิจดาวรุ่ง "คราฟต์เบียร์ไทย" เบื้องหลังความฮิต-โอกาสสะดุด-ฉุดพลังผู้ผลิต? (1)
จากประชาชาติธุรกิจ
รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.prachachat.net
หากนึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฟองสีขาวนุ่ม ดื่มเย็นๆ ยามอากาศร้อน แน่นอนว่าเครื่องดื่มที่หลายคนนึกถึงก็คือ “เบียร์” ที่คนไทยเราเองก็นิยมดื่มอยู่เป็นจำนวนมาก จนมีการประมาณการว่า ตลาดเบียร์กระแสหลักของไทยปี 2559 ที่มีผู้ผลิตอยู่ไม่กี่ราย มีมูลค่าสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท แต่ความนิยมดื่มเบียร์ของคนไทยไม่ได้มีอยู่แค่เบียร์กระแสหลักเท่านั้น ช่วงระยะหนึ่งที่ผ่านมา กระแส “คราฟต์เบียร์”เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อนักดื่มไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยรสชาติที่แตกต่าง คุณภาพ ความแปลกใหม่ ล้วนทำให้นักดื่มได้สัมผัสเบียร์ในมิติที่ลึกกว่าเดิม จนเกิดเป็นความนิยมขึ้นมา
โดยปี 2559 ที่ผ่านมา ผู้อยู่ในแวดวงคราฟต์เบียร์ไทยคาดว่ามูลค่าตลาดคราฟต์เบียร์อยู่ที่ 30 ล้านบาท แต่เชื่อว่าปี 2560 จะเพิ่มเข้าสู่หลักร้อยล้านบาท จากกระแสความนิยมคราฟต์เบียร์ที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามการเติบโตของชนชั้นกลาง
คราฟต์เบียร์ (craft beer) หากแปลคำว่าคราฟต์แบบตรงๆ ก็หมายถึง งานประดิดประดอย ซึ่งพอเป็นคราฟต์เบียร์แล้ว “เปี๊ยก” พิพัฒนพล พุ่มโพธิ์ แอดมินเพจ Craft Brewery is not a crime และผู้ผลิตคราฟต์เบียร์แบรนด์ Golden coins ที่เริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 2556 อธิบายว่า คราฟต์เบียร์ คือเบียร์ที่ทำในจำนวนน้อยๆ และทำแบบงานคราฟต์ คือทำแบบแฮนด์เมดด้วยความประณีต ซึ่งจะเรียกว่าโฮมบรู (home brew) คือทำกินเองที่บ้าน เมื่อผลิตปริมาณเยอะขึ้น มีความโปรเฟสชั่นนอลมากขึ้น ก็จะขยับขึ้นมาเป็น brewery ซึ่งในต่างประเทศจะมีกลุ่มคนทำที่จัดตั้งสมาคมขึ้นมา และกำหนดข้อตกลงว่าการเป็น brewery ห้ามผลิตเกินกี่ลิตรต่อปี ห้ามมีแชร์โฮลเดอร์เกินกี่คน เป็นต้น
หากพูดถึงชนิดของเบียร์แล้ว “พิพัฒนพล” บอกว่า ไม่ว่าจะเบียร์อะไรก็ตาม ส่วนผสมหลักที่ใช้คือ มอลต์ ฮอปส์ ยีสต์ และน้ำ ซึ่งหากแบ่งเบียร์ตามชนิดของยีสต์ที่ใช้หมัก จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ เบียร์ลาเกอร์ (Lager) เป็นเบียร์ที่ใช้ยีสต์แบบนอนก้น เมื่อหมักแล้วยีสต์จะจมลงที่ก้นถังหมักเบียร์ ซึ่งเบียร์ตามท้องตลาดจะเป็นเบียร์ประเภทนี้ ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือเบียร์เอล (Ale) เป็นเบียร์ที่ใช้ยีสต์แบบลอยผิว เมื่อหมักแล้วยีสต์จะลอยตัวขึ้นบนผิวหน้าของถังหมักเบียร์ ซึ่งส่วนใหญ่คราฟต์เบียร์จะเป็นเบียร์เอล
มอลต์ชนิดต่างๆ
แต่ที่ทำให้คราฟต์เบียร์แตกต่างจากเบียร์ตามท้องตลาด มีเสน่ห์จนเป็นที่นิยมนั้น เหตุผลหลักคงมาจากคุณภาพ ที่การทำคราฟต์เบียร์จะมีความพิถีพิถันในการคัดเลือกส่วนผสม นอกจากนี้ยังมีการเติมส่วนผสมอื่นๆ เช่น ช็อกโกแลต กาแฟ ดอกไม้ น้ำมะพร้าวฯลฯ ลงไปเพื่อสร้าง “สไตล์” การทำคราฟต์เบียร์จึงเปรียบเสมือนการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ถ่ายทอดจินตนาการของผู้ผลิต และสร้างสุนทรียภาพให้กับผู้ดื่ม จึงทำให้คราฟต์เบียร์อาจสนองแค่ผู้ดื่มเฉพาะกลุ่ม ไม่เหมาะกับการทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
พิพัฒนพล พุ่มโพธิ์
“เพราะการดื่มเบียร์ก็เหมือนการดื่มกาแฟ เวลาเราดื่มของมีคุณภาพกับไม่มีคุณภาพเข้าไป เราจะรู้เลยว่ามันต่างกัน ลองเปรียบเทียบกาแฟผงกับกาแฟที่ออกมาจากเครื่อง ถึงจะเป็นกาแฟเหมือนกัน แต่เราก็สัมผัสได้ว่ารสชาติมันต่างกัน ในทำนองเดียวกัน เบียร์ตามท้องตลาดก็ไม่ต่างจากกาแฟผง ที่คุณภาพต่ำกว่า เพราะไม่ได้ใช้มอลต์ 100% แต่จะผสมน้ำตาลข้าวโพดเข้าไปด้วย เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ขณะที่คราฟต์เบียร์จะใส่มอลต์ 100% ซึ่งตรงส่วนนี้ส่งผลให้คราฟต์เบียร์มีราคาแพงกว่าเบียร์ตามท้องตลาดด้วย” พิพัฒนพลระบุ
ทั้งนี้ คราฟต์เบียร์ไทยขนาดปริมาณ 330 มิลลิลิตร มีราคาอยู่ที่ราว 100 บาท และหน้าร้านเอาไปขายที่ 160-180 บาท ขณะที่เบียร์กระแสหลักในปริมาณเท่ากัน มีราคาอยู่ที่ประมาณ 34 บาทเท่านั้น
มองกระแสคราฟต์เบียร์ทั้งใน-นอกประเทศ
คราฟต์เบียร์เป็นเบียร์เจเนอเรชั่น 2 ถัดจากเจเนอเรชั่น 1 ซึ่งคือเบียร์ตามท้องตลาดที่ในยุโรปมีการผลิตมาหลายร้อยปีแล้ว ส่วนคราฟต์เบียร์เป็นเบียร์โลกใหม่ที่มีต้นกำเนิดมาจากทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว โดยเมื่อปี 2521 สหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายการผลิตเบียร์เพื่อบริโภคในชุมชนเล็กๆ ได้ จากนั้นกระแสคราฟต์เบียร์ในสหรัฐฯ ก็เริ่มเบ่งบาน และตลาดคราฟต์เบียร์ก็เริ่มบูมมากเมื่อ 10 ปีก่อน จนตอนนี้เรียกได้ว่าสหรัฐฯ เป็นเหมือนเมืองหลวงของโลกคราฟต์เบียร์ มีการพัฒนาสายพันธุ์ฮอปส์ขึ้นมากว่า 40-50 สายพันธุ์ มีการพัฒนาสไตล์ของเบียร์ให้หลากหลาย และมีร้านขายคราฟต์เบียร์ที่ผลิตคราฟต์เบียร์เองเป็นจำนวนมาก ประมาณการได้ว่าในสหรัฐฯ นั้น ใน 1 เมืองมีร้านขายคราฟต์เบียร์ประมาณ 10 ร้าน ใน 1 รัฐมีประมาณ 100 ร้าน รวมทั้งประเทศน่าจะมีอยู่กว่า 4,000 ร้าน มีมาร์เก็ตแชร์หรือส่วนแบ่งในตลาดเบียร์อยู่ 12%
ส่วนในไทย ความนิยมคราฟต์เบียร์เริ่มเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากเบียร์นำเข้าที่หลายร้านอิมพอร์ตเข้ามาขาย จนเมื่อใครๆ ก็อยากลองเพิ่มทางเลือกเบียร์รสชาติของตัวเองบ้าง 4-5 ปีก่อนนักดื่มชาวไทยจึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลจากกูเกิล ยูทูบ และเริ่มทำโฮมบรูกัน ซึ่งในสมัยนั้นทั้ง “เปี๊ยก” และ “ชิต” พ.อ.วิชิต ซ้ายเกล้าผู้ผลิตคราฟต์เบียร์แบรนด์ “ชิตเบียร์” และผู้ร่วมก่อตั้งคราฟต์เบียร์แบรนด์ “สโตนเฮด” คราฟต์เบียร์ไทยที่ได้รับการจัดอันดับเบียร์รสชาติดีจากซีเอ็นเอ็น เล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า สมัยนั้นวัตถุดิบการผลิตคราฟต์เบียร์หายาก ต้องสั่งจากสหรัฐอเมริกาเอง ซึ่งมีราคาสูง ขณะที่ในปัจจุบันมีคนนำเข้ามาขายแล้ว ทำให้หาซื้อวัตถุดิบได้ง่ายขึ้น และราคาถูกลง ส่วนอุปกรณ์หลายชิ้นก็ดัดแปลงด้วยตัวเอง และหลายชิ้นก็มีขายในไทยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีบางกลุ่มพยายามปลูกฮอปส์ด้วย
พ.อ.วิชิต ซ้ายเกล้า
จากแค่ความนิยมดื่ม ปัจจุบัน กระแสความนิยมทำคราฟต์เบียร์ในไทยได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีผู้ผลิตคราฟต์เบียร์แบบจริงจังราว 50-60 ราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยแบรนด์หลักๆ ที่เริ่มมีชื่อเสียง เช่น Stone Head, CHIT BEER, ชาละวัน, Golden coins, Sandport Beer เป็นต้น และคาดว่าจะมากขึ้น จากการที่ “วิชิต” เปิดคอร์สสอนการทำคราฟต์เบียร์ให้ผู้สนใจแบบไม่หวงวิชา ซึ่งมีผู้สนใจเข้ามาเรียนอยู่เรื่อยๆ
โดยพบว่ากลุ่มคนที่สนใจทำคราฟต์เบียร์นั้นมาจากคนหลากหลายกลุ่ม หลายอาชีพ ส่วนใหญ่อายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งมีทั้งคนที่อยากผลิตขายแบบจริงจัง และคนที่อยากผลิตเพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจตัวเอง เช่น ร้านอาหาร โดยต้นทุนการทำคราฟต์เบียร์อยู่ที่ราว 40,000-60,000 บาท แต่หากอุปกรณ์ครบแล้ว ต้นทุนการต้ม 20 ลิตรอยู่ที่ประมาณ 2,500 บาท กำไรครึ่งต่อครึ่ง
การตลาดด้วยปากต่อปากและโซเชียลมีเดีย
“พิพัฒนพล” ระบุว่า ส่วนหนึ่งที่ไม่ค่อยเห็นการทำมาร์เก็ตติ้ง เป็นเพราะยังมีไม่กี่แบรนด์ การแข่งขันไม่สูง จึงไม่ต้องทำการตลาดมากนัก อย่างแบรนด์ Golden coins ก็หาตลาดด้วยการไปติดต่อร้านที่ขายคราฟต์เบียร์ เอาเบียร์ไปให้เขาชิม ก่อนจะวางขาย นอกจากนี้ก็อาศัยโซเชียลมีเดียสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งทำให้ได้ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม
ขณะที่ “วิชิต” แห่งชิตเบียร์ ระบุว่า ไม่ค่อยได้ทำการตลาดมากนัก อาศัยการบอกปากต่อปาก โดยช่วงแรกเป็นชาวต่างชาติมาค้นพบและนำไปลงนิตยสาร ทำให้ลูกค้าที่ร้านเป็นชาวต่างชาติ 80% คนไทย 20%
ขณะที่คราฟต์เบียร์เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในไทย มีทั้งผู้ผลิต ผู้ดื่ม ผู้ขาย เกิดขึ้นมากมาย แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่า คราฟต์เบียร์ส่วนใหญ่ เริ่มต้นจากการไม่ถูกกฎหมาย แล้วทางออกของพวกเขาจะเป็นอย่างไร
จับเทรนด์ธุรกิจดาวรุ่ง "คราฟต์เบียร์ไทย" เบื้องหลังความฮิต-โอกาสสะดุด-ฉุดพลังผู้ผลิต? (2)
รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.prachachat.netจากตอนแรก (คลิกอ่าน จับเทรนด์ธุรกิจดาวรุ่ง “คราฟต์เบียร์ไทย” เบื้องหลังความฮิต-โอกาสสะดุด-ฉุดพลังผู้ผลิต (1) ) ที่พาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับคราฟต์เบียร์ เบียร์ทำเองที่กำลังฮิตในหมู่นักดื่มบ้านเราที่แสวงหาคุณภาพ ความแปลกใหม่ และต้องการสุนทรียภาพ จนหลายรายไม่เพียงแค่ดื่ม แต่หันมาผลิตเอง ดื่มเอง ขายเองด้วย อย่างเช่น “เปี๊ยก” พิพัฒนพล พุ่มโพธิ์ แอดมินเพจ Craft Brewery is not a crime และผู้ผลิตคราฟต์เบียร์แบรนด์ Golden coins และ “ชิต” พ.อ.วิชิต ซ้ายเกล้า ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์แบรนด์ “ชิตเบียร์” และผู้ร่วมก่อตั้งคราฟต์เบียร์แบรนด์ “สโตนเฮด” ที่ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ได้มีโอกาสพูดคุยถึงกระแสคราฟต์เบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ฮิตในหมู่ชนชั้นกลางไทยตอนนี้
และไม่ใช่แค่ 2 คนนี้เท่านั้นที่อยากจะเพิ่มรสชาติเบียร์ในแบบฉบับของตัวเอง แต่ปัจจุบันมีแบรนด์คราฟต์เบียร์ไทยเกิดขึ้นกว่า 50-60 ราย ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 6-7 ปี
ถึงแม้จะได้รับความนิยม แต่หนทางคราฟต์เบียร์ไทยนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อการทำคราฟต์เบียร์จำหน่ายยังเป็นเรื่องไม่ถูกกฎหมายของไทยเสียทีเดียว โดย "ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย" อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี นักวิชาการด้านเครื่องดื่มมีดีกรี ระบุว่า กฎหมายที่ตรงกับเรื่องนี้ที่สุด คือ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ.2543 ส่วนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องการทำและขายส่งสุราแช่ชนิดเบียร์และชนิดสุราผลไม้ ซึ่งในข้อ 7.1 ท่อนหนึ่งระบุว่า
“ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายไทยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ในกรณีที่เป็นโรงงานเบียร์ขนาดใหญ่ จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าผู้ใดจะทำโรงงานขนาดเล็ก ก็ต้องเป็นโรงงานเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี”
กติกาดังกล่าวทำให้บรูมาสเตอร์ หรือผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ชาวไทยหลายรายต้องใช้วิธีไปตั้งโรงงานผลิตเบียร์ในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม กัมพูชา หรือใช้วิธีไปจ้างผลิตในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน และนำเข้ามาขายในไทยทั้งแบบเบียร์สดและเบียร์ขวด ซึ่งทำให้พวกเขาแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น
ปัจจุบันประกาศดังกล่าวถูกศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนไปเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 เนื่องจากเห็นว่าการจะออกข้อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตผลิตสุรา จะต้องออกเป็นกฎกระทรวง การออกเป็นประกาศกระทรวงจึงเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการออกกฎทำให้ศาลปกครองตัดสินเพิกถอนซึ่งระหว่างรอกติกาฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติห่งชาติ(สนช.) ทำให้กฎเกณฑ์การผลิตคราฟต์เบียร์ยังอยู่ในช่วงสุญญากาศ
หรือที่ไม่ถูกกฎหมาย เพราะไม่มีการเรียกร้อง
ขณะที่คราฟต์เบียร์ยังดูเลือนราง ต่างจากเหล้าชุมชนที่ถูกกฎหมายแล้ว ซึ่ง ผศ.ดร.เจริญระบุว่า การที่เหล้าชุมชนผ่านเป็นกฎหมายได้เนื่องจากในยุคหนึ่งชาวบ้านออกมาเรียกร้อง มีการชุมนุมเป็นเครือข่าย แต่คนทำคราฟต์เบียร์ไม่มีใครออกมาต่อสู้ เพราะคนที่ทำคราฟต์เบียร์มีอาชีพการงานของตัวเอง ไม่มีใครอยากเอาการงานเข้าไปเสี่ยง คราฟต์เบียร์จึงเป็นเหมือนงานอดิเรกของพวกเขาเท่านั้น ซึ่งหากไม่มีการเรียกร้อง การที่รัฐจะส่งเสริมด้านกฎหมายจึงเป็นไปได้ยาก
ด้าน “พิพัฒนพล” มองว่า เหล้าชุมชนเป็นธุรกิจชุมชน ใช้วัตถุดิบในไทย เปรียบเสมือนโอท็อป แต่คราฟต์เบียร์ไม่ใช่ ไม่มีอะไรที่ใช้ของไทยเลย การผ่านกฎหมายให้คราฟต์เบียร์จึงเป็นเรื่องยาก และก็เชื่อว่าไม่มีทางที่ภาครัฐจะแก้ไขกฎหมายให้ เพราะหากมองภาพรวมประเทศไทยแล้ว การจะแก้กฎหมายนั้น จะต้องมีเหตุให้ตัวกฎหมายถูกเอามาพิจารณา ซึ่งมองว่าคนทั่วไปอาจจะรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้อยากให้มีคราฟต์เบียร์หรือมีอะไรเกิดขึ้นมา บางคนอาจกังวลด้วยซ้ำว่าทำแล้วอาจเละเทะ เพราะบางคนยังมีทัศนคติว่าเบียร์เป็นสิ่งเสพติด
พิพัฒนพล พุ่มโพธิ์
“เพจ Craft brewery is not a crime ที่เป็นเพจความเคลื่อนไหวในวงการเบียร์ การจัดการประกวดเบียร์ เลยมีความคิดว่าไม่อยากพูดเรื่องกฎหมาย คือเราทำได้แค่เบียร์ เราเหมือนเด็กที่ครูด่ามากๆ ว่าเธอไม่มีทางเอาดีได้หรอก ซึ่งเด็กทำอะไรไม่ได้ จะงอแง ลาออก เกเร มันก็ไม่ใช่ สิ่งที่ทำได้คือ ต้องทำให้ได้ ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าได้ดีได้ และเราทำอะไรไม่ได้นอกจากเบียร์ หากเบียร์เราขายดี ไปชนะการประกวดที่นู่นที่นี่ มีคนตามมากิน ก็เป็นการพัฒนาประเทศ และเชื่อว่าเขา (ภาครัฐ) อาจจะหันกลับมามอง” พิพัฒนพลระบุ
ขณะที่ “วิชิต” มองว่า กรณีที่กลุ่มทำคราฟต์เบียร์ไม่มีการต่อสู้เพื่อพยายามผลักดันกฎหมายนั้นก็คงใช่ เพราะแค่ทำเบียร์อย่างเดียวก็ยากแล้ว การเดินแบบเส้นตรง เห็นปัญหาแล้วแก้เลย มักจะไม่ค่อยสำเร็จ นี่คือวิธีการต่อสู้ของตนที่ไม่จำเป็นจะต้องแบกโลกทั้งใบไว้คนเดียว ไม่ต้องมีอัศวินขี่ม้าขาว เราแค่ทำเบียร์ เพื่อให้เบียร์พูดแทนเรา แล้วบอกเคล็ดลับให้คนอื่นๆ ออกไปทำกัน เชื่อว่าจะทำให้ภาครัฐเห็นความตั้งใจและความต้องการของประชาชน
“กฎหมายถ้าเปิดใจก็เป็นไปได้ สำหรับคนทำคราฟต์เบียร์ เราแค่พิสูจน์ว่าสิ่งที่เราทำเป็นศาสตร์และศิลป์ ถูกหลักอนามัย ใช้ศักยภาพของวัตถุดิบท้องถิ่น ภาครัฐอาจจะสนับสนุนด้วยการสร้างสตอรี่ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นก่อน เพื่อให้เกิดการกระจายตัวจากท้องถิ่น เพราะหากมีแรงหนุนจากท้องถิ่น มันก็จะแข็งแรงได้ นอกจากนี้ การมีเรื่องราวยังไปหนุนการท่องเที่ยว เหมือนเวลาเราไปญี่ปุ่น เราก็อยากไปกินสาเก ดังนั้น มองว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง สุดท้ายโลกก็จะบีบให้เราเปลี่ยนแปลงอยู่ดี” วิชิตกล่าว
กระแสความนิยมที่ยังไม่กระทบเบียร์หลัก
ถึงแม้จะเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่า คราฟต์เบียร์ก็ยังเป็นเครื่องดื่มในหมู่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น โดย อ.เจริญ มองว่าความนิยมคราฟต์เบียร์จะไม่กระทบต่อตลาดเบียร์กระแสหลัก เพราะคนส่วนใหญ่ยังดื่มเบียร์กระแสหลัก และมีประชากรจำนวนมากที่ไม่ได้สนใจคราฟต์เบียร์ แต่เชื่อว่าหากเริ่มมีผลกระทบเมื่อไหร่ ก็จะมีการกระตุ้นให้กรมสรรพสามิตหันไปกวดขันคราฟต์เบียร์มากขึ้นแน่นอน
ด้าน “วิชิต” ระบุว่า มูลค่าตลาดคราฟต์เบียร์ไทยนั้นน้อยมาก หากเทียบกับเบียร์กระแสหลักที่มีมูลค่าตลาด 1.8 แสนล้านบาท คราฟต์เบียร์คงเป็นเพียงแค่ฝุ่นผง โดยปี 2559 ที่ผ่านมา คาดว่ามูลค่าตลาดคราฟต์เบียร์อยู่ที่ 30 ล้านบาท แต่เชื่อว่าปี 2560 จะเพิ่มเป็น 100-200 ล้านบาทได้ จากกระแสความนิยมคราฟต์เบียร์ที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามการเติบโตของชนชั้นกลาง
“การดื่มคราฟต์เบียร์เป็นการดื่มเพื่อสุนทรียภาพ ซึ่งคนใช้แรงงานที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังไม่มีกระบวนการรับรู้พอที่จะจินตนาการถึงความสุขที่เกิดจากตรงนี้ได้ เพราะพวกเขาไม่ว่างพอ ดังนั้น การที่จำนวนคนชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตลาดก็จะโตตามคนชนชั้นกลาง ถึงแม้จะมีคนชนชั้นกลางอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงก็ตาม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเพิ่งเริ่มตลาดคราฟต์เบียร์ จึงยังมีโอกาสให้เราได้โตอีก 50-100% เลยทีเดียว ขณะที่สหรัฐอเมริกาที่ตลาดเริ่มอยู่ตัวแล้วก็ยังโตปีละ 20% จากในช่วงแรกที่โต 100%”
มองอนาคตวงการคราฟต์เบียร์ไทย
ถึงแม้เรื่องของกฎหมายจะยังคลุมเครือ แต่เมื่อรถไฟขบวนคราฟต์เบียร์ไทยยังวิ่งต่อ จึงทำให้อดสงสัยถึงทิศทางอนาคตของคราฟต์เบียร์ไม่ได้ว่าจะมุ่งไปทางใด
“ปี 2560 เราจะเห็นการยกระดับของเบียร์ผิดกฎหมาย เป็นเบียร์ถูกกฎหมายมากขึ้น” เป็นคำกล่าวของ “พิพัฒนพล” ที่เล่าให้ฟังถึงอนาคตคราฟต์เบียร์ อย่างไรก็ตาม การถูกกฎหมายที่ว่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นการถูกกฎหมายจากการไปผลิตในต่างประเทศและนำเข้ามา เพราะเชื่อว่ากฎหมายไม่น่าจะปรับเปลี่ยนไปจากเดิม นอกจากนี้ สิ่งที่จะเห็นมากขึ้นแน่นอนคือร้านขายคราฟต์เบียร์นั่นเอง
ขณะที่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีไปผลิตในต่างประเทศและนำเข้า แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้ถูกกฎหมาย และมีสถานที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งก็คือ “โรงเบียร์มิตรสัมพันธ์” ที่ “วิชิต” บอกว่ากำลังก่อสร้างบนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะขอใบอนุญาตแบบเดียวกับโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง คือ สามารถต้ม ดื่ม และขายในสถานที่ผลิต โดยตั้งใจว่าจะผลิตให้เกิน 100,000 ลิตร/ปี แต่ไม่เกิน 1,000,000 ลิตร/ปี
วิชิต ซ้ายเกล้า
“แต่ที่แตกต่างคือ เราจะเป็นโรงเบียร์เปิด (open source brewery) คือเป็นโรงเบียร์ที่อนุญาตให้ใครก็ได้มาต้มที่นี่ สร้างแบรนด์ที่นี่ และขายที่นี่ โรงเบียร์จึงเป็นแค่อินฟราสตรัคเจอร์ ซึ่งหากมองแล้วเรามีทั้งการสอน มีสถานที่ให้ทำ และมีตลาดให้ จึงเปรียบเสมือนเป็นอีโคซิสเต็มเดียวกัน นี่จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ใต้ดินที่มีอยู่กว่า 60 แบรนด์ กลายเป็นแบรนด์ที่ถูกกฎหมายได้ ส่วนจะทำได้ตามนั้นหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ต้องดูกันต่อไป
นอกจากนี้ จะมีการจัดอันดับแบรนด์ขายดีโดยให้ตลาดเป็นตัวตัดสิน ซึ่งแบรนด์ที่ได้ 5 อันดับแรก ก็จะแนะนำให้ไปผลิตที่กัมพูชา แล้วส่งกลับมาขายที่ไทย รวมถึงส่งขายไปทั่วโลกอีกด้วย”
อย่างไรก็ตาม “วิชิต” มองว่า ถึงแม้จะมีแบรนด์ที่ถูกกฎหมายแล้ว แต่แบรนด์ใต้ดินก็ยังคงมีอยู่ เพราะการเป็นใต้ดินจะทำให้เกิดการทดลอง เกิดอินโนเวชั่นใหม่ๆ ขึ้นนั่นเอง
จึงต้องติดตามต่อไปว่า สุดท้ายแล้วหนทางคราฟต์เบียร์ไทยจะมุ่งไปทางไหน บนความพยายามของพวกเขาที่ต้องการจะทำให้ “ศิลปะ” ที่พวกเขาสร้าง เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส