จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
|
|
ศาลปกครองกลาง พิพากษายกฟ้อง ชาวบ้านวังสะพุง จ.เลย ฟ้อง รมว.อุตสาหกรรม และเหมืองแร่ทุ่งคำ ชี้ ประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ชอบด้วยกฎหมายซ้ำ ยังไม่พบการประกอบกิจการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม หรือ เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือ ทรัพย์สิน
วันนี้ (28 ธ.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นายสราวุธ พรมโสภา พร้อมพวก 598 คน ซึ่งเป็นชาวบ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ยื่นฟ้อง รมว.อุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 3 กรณีขอให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ 5 ฉบับ ใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ที่ 1/2552 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2552 และการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมดังกล่าว เนื่องจากกิจการดังกล่าวก่อให้เกิดมลพิษส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้อันตรายต่อสุขภาพ โดยศาลให้เหตุผลว่า บริษัท ทุ่งคำ ได้ดำเนินการตามที่หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วก่อนที่จะได้รับประทานบัตร ทั้งการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่ง คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโครงการเหมืองแร่ ได้มีมติเห็นชอบจนเป็นที่มาของการที่อธิบดีกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำตามคำขอประทานบัตร ส่วนการเข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีมติอนุมัติให้บริษัท ทุ่งคำ ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามคำขอประทานบัตรดังกล่าวแล้ว กรณีจึงถือได้ว่าการออกประทานบัตรที่พิพาทของ รมว.อุตสาหกรรม เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว สำหรับกรณีการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้แก่บริษัท ทุ่งคำ นั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงพบว่า ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ออกใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้กับบริษัท ทุ่งคำ มีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 122 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 และเมื่อไม่ปรากฏเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการอื่นอีก ดังนั้น การที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ออกใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ที่ 1/2552 ลงวันที่ 13 ส.ค. 52 และต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมดังกล่าวให้แก่บริษัท ทุ่งคำ จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนกรณีที่อ้างว่า การทำเหมืองแร่ทองคำด้วยวิธีการดังกล่าวของบริษัท ทุ่งคำ เป็นวิธีการที่สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่คุ้มค่านั้น เห็นว่า กระบวนการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ เป็นการทำเหมืองโดยวิธีเหมืองหาบซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลจะต้องมีแผนการดำเนินการเพื่อปรับภูมิทัศน์บริเวณเหมืองแร่ภายหลังสิ้นสุดการทำเหมืองแร่ให้กลับคืนสู่สถานะเดิม หรือใกล้เคียงสถานะเดิมมากที่สุด อีกทั้งบริษัท ทุ่งคำ มีภาระผูกพันที่จะต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามแผนงานที่ได้เสนอไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น ปัญหาที่อ้างจึงเป็นเรื่องที่รมว.อุตสาหกรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขไว้ล่วงหน้าแล้ว ข้ออ้างนี้จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน
ส่วนการที่ รมว.อุตสาหกรรม ไม่เพิกถอนประทานบัตรที่พิพาท และไม่เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ที่ 1/2552 ลงวันที่ 13 ส.ค. 52 เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ เห็นว่า สภาพบริเวณเหมืองแร่ทองคำของบริษัท และพื้นที่โดยรอบภายหลังบริษัทเปิดการทำเหมืองแร่ทองคำ เป็นพื้นที่ที่มีปริมาณไซยาไนด์ และสารหนูปะปนอยู่ค่อนข้างสูง อันเป็นสาเหตุให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การแพร่กระจายตัวและสาเหตุของการปนเปื้อนโลหะหนัก รวมทั้งประเมินการปนเปื้อนของโลหะหนัก ในเขตพื้นที่เหมืองแร่ทองคำของบริษัท ซึ่งผลการศึกษาพบว่า มีการกระจายของสารหนูในดินและตะกอนท้องน้ำครอบคลุมทั้งพื้นที่ที่ศึกษา แสดงให้เห็นว่า สารหนูมีค่าภูมิหลังในพื้นที่ค่อนข้างสูง ส่วนไซยาไนด์ พบว่า มีการกระจายตัวหลายจุดในน้ำผิวดินในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน แต่จะมีปริมาณลดลงอย่างชัดเจนในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง และไม่พบการกระจายตัวลงสู่น้ำใต้ดินยกเว้นพื้นที่ภายในเหมือง บ่งชี้ว่า สารไซยาไนด์อาจถูกชะล้างจากหลายพื้นที่ลงสู่ลำน้ำในช่วงฤดูฝน ไม่ได้รั่วไหลออกมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัท
ซึ่งผลการตรวจสอบของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม สอดคล้องกับผลการตรวจสอบของกลุ่มกำกับและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2 สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำบริเวณเหมืองแร่ทองคำบริษัท ภายหลังจากเปิดเหมืองแล้ว เปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ. 2553 ถึงปี พ.ศ. 2556 พบว่า ในช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน พื้นที่บริเวณดังกล่าวจะมีปริมาณสารไซยาไนด์สูงเกินมาตรฐานมากกว่าในช่วงอื่นๆ
ส่วนการประกอบโลหกรรมของบริษัทฯ ตามใบอนุญาต ที่ 1/2552 ในกระบวนการประกอบโลหกรรมอาศัยหลักของการละลายแร่หรือโลหกรรมการละลาย และมีการใช้สารเคมีในกระบวนการประกอบโลหกรรม ได้แก่ ใช้ปูนขาวในขั้นตอนการบดสินแร่ กรดซัลฟูริกในขั้นตอนการลอยแร่ สารละลายโซเดียมไซยาไนด์ ในขั้นตอนการละลายทองคำออกจากสินแร่ ถ่านกัมมันต์ ในการดูดซับทองคำ และ กรดเกลือ โซเดียมไฮดรอกไซด์ โซเดียมไซยาไนด์ บอร์แรกซ์ ซิลิกา โซดาแอซ โปแตสเซียมไนเตรต ในกระบวนการลอกทอง จับทอง อบ และหล่อทอง โดยเฉพาะในขั้นตอนการละลายแร่ทองคำออกจากสินแร่จะกระทำโดยใช้สารละลายโซเดียมไซยาไนด์เป็นตัวทำละลาย ปริมาณ 3.8 - 4.8 เมตริกตันต่อวัน สำหรับสินแร่ซัลไฟด์ และ 1.0 - 5.9 เมตริกตันต่อวัน สำหรับสินแร่ออกไซด์ และมีอัตราการใช้สารละลายโซเดียมไซยาไนด์ในกระบวนการลอกทองและจับทอง 0.7 เมตริกตันต่อรอบหรือ 3.5 - 7.8 เมตริกตันต่อเดือน
ซึ่งหากสารละลายโซเดียมไซยาไนด์ดังกล่าวรั่วไหล หรือแพร่กระจายออกสู่ภายนอกย่อมจะเกิดอันตรายต่อสภาวะแวดล้อมตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงเหมืองแร่ทองคำ และเมื่อพิจารณาถึงลักษณะการประกอบโลหกรรมของบริษัทที่ใช้วิธีบำบัดโลหะหนักโดยวิธี Cyanide detoxification ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่มี การปล่อยน้ำจากการประกอบการออกสู่ธรรมชาติแล้ว โดยหลักการสารประกอบไซยาไนด์จากการประกอบการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ไม่อาจแพร่กระจายออกสู่สภาพแวดล้อมได้ ดังจะเห็นได้จากผลการตรวจสอบของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 9 ที่ได้เก็บตัวอย่างน้ำในแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดินบริเวณน้ำซึมติดสันเขื่อนบ่อกักเก็บกากแร่ ซึ่งเป็นบริเวณที่น่าจะมีการตรวจพบสารไซยาไนด์มากที่สุด หากมีการรั่วไหล พบว่า ปริมาณสารหนู แมงกานีส และทองแดง มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่ไม่มีค่าไซยาไนด์เกินเกณฑ์มาตรฐาน
ดังนั้น ค่าไซยาไนด์ที่ตรวจพบมากในช่วงฤดูฝนดังกล่าว จึงน่าจะมาจากสภาพการใช้สารเคมีที่มีไซยาไนด์เป็นส่วนประกอบโดยทั่วไปในพื้นที่มากกว่าจะเกิดจากการรั่วไหลจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เนื่องจากหากมีการรั่วไหลจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำจริง ปริมาณไซยาไนด์ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในกระบวนการประกอบโลหกรรมของบริษัท จะต้องมีค่าสูงกว่าผลการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ร่วมตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณพื้นที่โดยรอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ส่วนสารหนูที่พบว่ามีปริมาณเกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นจำนวนมากบริเวณโดยรอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ก็สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารหนูค่อนข้างสูง ข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า บริษัทประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและประกอบโลหกรรมในลักษณะที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม หรือเกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือ ทรัพย์สิน
ส่วนกรณีที่มีการตรวจพบสารปรอทในเลือดของประชาชนกลุ่มตัวอย่างเกินมาตรฐานร้อยละ 6.6 ในปี พ.ศ. 2553 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและการประกอบโลหกรรมของบริษัท ไม่มีการใช้สารปรอทในกระบวนการผลิต ปริมาณสารปรอทในเลือดกลุ่มตัวอย่างที่เกินมาตรฐาน จึงไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของผู้บริษัทฯแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ รมว.อุตสาหกรรม ไม่เพิกถอนประทานบัตรทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว และการที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ไม่เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรมดังกล่าวของบริษัทจึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส