สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มันมากับตัวไรอ่อน!! เตือนเที่ยวป่าหน้าหนาว เสี่ยง ไข้รากสาดใหญ่ รุนแรงถึงขั้นตาย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

มันมากับตัวไรอ่อน!! เตือนเที่ยวป่าหน้าหนาว เสี่ยง ไข้รากสาดใหญ่ รุนแรงถึงขั้นตาย

        กรมควบคุมโรค เตือน "นักท่องเที่ยว" เที่ยวป่าหน้าหนาวระวัง "ไข้รากสาดใหญ่" ภัยเงียบมาพร้อมกับ "ตัวไรอ่อน" ชี้หลังกลับจากป่ามีไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ มีแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ ให้รีบพบแพทย์ หวั่นอาการรุนแรง ทำปอด-สมองอักเสบถึงขั้นตายได้ แนะกางเต็นท์นอน แต่งกายมิดชิด
       
       วันนี้ (29 พ.ย.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ช่วงฤดูหนาวมักมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสกับอากาศเย็นตามสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น บนยอดดอยหรือตามป่าเขา เป็นต้น จึงขอแนะนำประชาชนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) หรือไข้รากสาดใหญ่ โรคนี้มีตัวไรอ่อนซึ่งอาศัยอยู่ในหนูเป็นพาหะ ติดต่อทางบาดแผลที่ถูกตัวอ่อนของไรอ่อนกัด ส่วนใหญ่มักพบในผู้ใหญ่ตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป และสามารถพบได้ตลอดปีแต่จะพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว มักพบในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน นักล่าสัตว์ นักท่องเที่ยวป่า ทหาร และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า โดยตัวไรแก่จะชอบอาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน เมื่อฟักเป็นตัวอ่อน ไรอ่อนจะกระโดดเกาะสัตว์ เช่น หนู กระแต กระจ้อน หรือคนที่เดินผ่านไปมา เพื่อดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร
       
       จากรายงานสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม - 12 พ.ย. 2559 มีผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส จำนวน 5,779 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด เรียงตามลำดับคือ 45-54 ปี (18.17%) 35-44 ปี (16.21%) และ 25-34 ปี (14.90%) จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก เชียงใหม่ และพังงา พื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคสครับไทฟัสมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคใต้
       
       นพ.เจษฎา กล่าวว่า ในป่าทึบจะมีตัวไรอ่อนอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ และกินน้ำเหลืองของสัตว์เลือดอุ่น เช่น นก หนู สัตว์เลื้อยคลาน รวมทั้งคน ส่วนใหญ่จะถูกกัดบริเวณในร่มผ้า เช่น ขาหนีบ เอว ลำตัว รักแร้ โดยผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวในทันทีว่าป่วยเป็นโรคนี้ แต่จะแสดงอาการหลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ตาแดง ปวดกระบอกตา ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 50 จะพบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ บริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด ลักษณะมีสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ พบประมาณ 1 ใน 5 เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม แม้โรคนี้จะยังไม่มีวัคซีนป้องกันแต่มียารักษาให้หายได้ โดยการกินยาปฏิชีวนะตามคำสั่งแพทย์ ดังนั้นหลังกลับออกจากเที่ยวป่าภายใน 2 สัปดาห์ แล้วป่วยมีไข้ขึ้นสูง มีอาการปวดศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าให้แพทย์ทราบเพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
       
       ทั้งนี้ แนวทางการป้องกันโรคสครับไทฟัสสามารถทำได้โดย สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด สวมรองเท้า สวมถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกง ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บชายเสื้อเข้าในกางเกง หากตั้งแคมป์ไฟหรือกางเต๊นท์นอนในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ ทายาป้องกันแมลงกัดตามแขนขา หลังออกจากป่าให้รีบอาบน้ำให้สะอาด และซักเสื้อผ้าที่สวมใส่ทันทีเพราะตัวไรอาจติดมากับเสื้อผ้าได้


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : มันมากับตัวไรอ่อน เตือน เที่ยวป่าหน้าหนาว เสี่ยง ไข้รากสาดใหญ่ รุนแรงถึงขั้นตาย

view