จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“... ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปีประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อยๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก...”
กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2536 นอกจากจะเป็นมิ่งขวัญและให้ความสำคัญแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้ว ยังสะท้อนพระวิสัยทัศน์ที่ลุ่มลึกในมิติของความมั่นคงทางอาหารอย่างหาที่เปรียบมิได้
เป็นความมั่นคงในมิติที่แตกต่างออกไปจากความนึกคิดของบรรดาขุนศึกนายพลและผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศในปัจจุบัน ซึ่งเติบโตมาท่ามกลางมิติของความมั่นคงแบบเดิม ที่เน้นย้ำเรื่องการมีอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้สร้างสมดุลแห่งความหวาดระแวง และอาจจะไม่มีความเข้าใจเลยจนพร้อมจะกล่าวล้อเล่นด้วยการไล่ชาวนาไปขายปุ๋ยแทน เมื่อถูกถามว่าจะแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำแต่ราคาปุ๋ยแพงอย่างไร
สติปัญญาในการแก้ปัญหาราคาข้าวที่ดำเนินอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบันกลายเป็นการผลิตซ้ำมาตรการที่คณะผู้บริหารชุดปัจจุบันพยายามจะชี้ว่ามีความผิดพลาดในอดีต แต่แล้วในที่สุดก็ด้อยความสามารถที่จะคิดหาวิธีในการแก้ไข เยียวยาให้ไปสู่มิติใหม่ที่ไปไกลกว่าเดิม
ข้อเท็จจริงของความคืบหน้าในการแก้ปัญหาว่าด้วยเรื่องข้าวในปัจจุบัน ก็คือ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการให้ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และกลไกของ คสช. ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบโรงสีและโกดังข้าว ควบคู่กับการพบเกษตรกร พร้อมกับมาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว
มาตรการที่ว่านี้ประกอบด้วย สินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาตันละ 13,000 บาท จากฐานการคำนวณที่ว่า ข้าวในปัจจุบันมีราคาอยู่ระหว่างตันละ 9,700-12,000 บาท จึงควรมีราคาเฉลี่ยที่ตันละ 11,000 บาท
โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะรับจำนำตามความเห็นชอบของ ครม. คือ แบ่งเป็นรับจำนำข้าวเปลือกที่ราคาตันละ 9,500 บาท ค่าเก็บเกี่ยว 2,000 บาท ค่ายุ้งฉางอีก 1,500 บาท รวมเป็น 13,000 บาท และหากไม่มียุ้งฉางรัฐบาลจะช่วยเก็บเกี่ยว และรักษาคุณภาพข้าวตันละ 2,000 บาท
ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะดิ้นรนหาทางรอดของกลุ่มเกษตรกรในภาวะราคาข้าวตกต่ำด้วยการแสวงหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางและโรงสีข้าว ที่นำไปสู่รวมกลุ่มกันสีข้าว แพ็ก และขายข้าวด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ แต่นั่นอาจไม่ใช่ทางรอดที่แท้จริงในระยะยาวของชาวนา
เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือ สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หากยังมีประเด็นว่าด้วยเรื่องของการตลาด การสร้างแบรนด์ หรือเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ส่วนใหญ่ผูกพันอยู่กับค่านิยมของความชอบข้าวที่ดูสวย ดูสะอาด แม้จะโฆษณาว่าข้าวจากชุมชนนี้ไม่ได้ขัดเอาวิตามินออกไป แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคก็ยังไม่ยอมรับเรื่องนี้มากนัก
อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวที่ว่านี้ในอีกด้านหนึ่ง อาจจะเป็นประหนึ่งการจุดประกายให้ชาวนารวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและมีความสามารถในการเข้าถึงตลาดได้ด้วยตัวเองมากขึ้น และทำให้ประสบการณ์จากชาวนาญี่ปุ่นได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็นบทเรียนตัวอย่างของการพัฒนานี้
การรวมกลุ่มของชาวนาญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้พัฒนาขึ้นมาเป็นกลุ่มสหกรณ์ชาวนาที่รู้จักกันในนามของ JA หรือ Japanese Agricultural Cooperatives ซึ่งปัจจุบัน บริหารสหกรณ์ 694 แห่งทั่วประเทศ มีสมาชิกอย่างเป็นทางการ 4.6 ล้านคน และสมาชิกเครือข่ายรวมแล้ว 5.4 ล้านคน บริหารสหกรณ์ระดับเทศบาลและจังหวัดทั่วประเทศ มีธนาคารเครดิตยูเนียน และธุรกิจประกันเป็นของตนเองด้วย
ความแข็งแรงของ JA ประกอบกับจำนวนสมาชิกของ JA ส่งผลให้ JA เป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการผลักดันและกำหนดนโยบายสาธารณะผ่านพรรคการเมืองที่พวกเขาเป็นฐานเสียง โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยการอุดหนุนและส่งเสริมผลิตผลทางการเกษตรให้มีเสถียรภาพทางราคาและปกป้องการรุกตลาดจากภายนอก
กระนั้นก็ดี ความสามารถในฐานะที่เป็นกลุ่มซึ่งมีบทบาทในทางการเมืองเช่นว่านี้ ย่อมมิได้ดำเนินอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือตัดขาดออกจากรากฐานและปัจจัยว่าด้วยมิติในเชิงวัฒนธรรมและพฤติกรรมการบริโภคที่หยั่งรากลึกในสังคมญี่ปุ่น หากดำเนินควบคู่และรังสรรค์ประโยชน์สอดคล้องไปพร้อมๆ กัน
ความเป็นไปของสหกรณ์ JA อาจให้ภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ หากในความเป็นจริง ประเทศไทยก็มีกิจกรรมสหกรณ์ในลักษณะที่ว่านี้มาเนิ่นนาน และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการพัฒนางานสหกรณ์ จนนำไปสู่การกล่าวถึงสหกรณ์ว่า “สหกรณ์ก้าวไกล ด้วยน้ำพระทัยในหลวง” อย่างแพร่หลาย
เนื่องเพราะพระองค์ทรงตระหนักว่า สหกรณ์มีบทบาทต่อประชาชนเป็นอย่างมาก และทรงเล็งเห็นว่าสหกรณ์จะเป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยประชาชนชาวไทยในทุกตำบล ทุกอำเภอ ในการที่จะสามารถยืนหยัดพึ่งพาตัวเองได้ด้วยอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำมาค้าขายให้ยืนอยู่ได้ภายใต้ชีวิตที่พออยู่พอกิน
งานทางด้านเกี่ยวกับสหกรณ์ ที่เจริญก้าวหน้าจนมาสู่ “สหกรณ์ก้าวไกล ด้วยน้ำพระทัยในหลวง” ก็สืบเนื่องจากว่า พระองค์ได้สนพระทัยงานสหกรณ์เป็นอย่างมาก ถ้าเปรียบเทียบแล้วงานด้านพัฒนาการเกษตรกับงานสหกรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้ดำเนินการพัฒนาที่ดินกับการพัฒนาอาชีพควบคู่กันไป พระองค์จะเน้นพัฒนาระดับรากหญ้าเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เมื่อเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ตรงไหนแล้ว พระองค์ก็มักจะใช้เรื่องสหกรณ์หรือหลักการสหกรณ์เข้าไปใช้กับชุมชนที่นั่น ได้นำไปใช้บริหารจัดการหรือว่าร่วมกันทำอยู่อย่างนั้น โดยใช้หลักการพึ่งพาตนเองแล้วก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นหลัก
ขณะเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลยังได้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย”
เนื่องด้วยรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสต่างๆ เกี่ยวกับข้าวหลายด้าน อีกทั้งมีพระราชดำริและทรงดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาข้าว การทดลองและวิจัยโครงการส่วนพระองค์ มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ทรงสนับสนุนงานวิจัยข้าว ทรงมุ่งมั่นทุ่มเทกำลังพระวรกายและทรงพระราชวิริยอุตสาหะในการปรับใช้ผลการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแก่พสกนิกรชาวไทย
การฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ก่อให้เกิดขวัญกําลังใจและความภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม ทรงค้นคิดวิธีเกษตรทฤษฎีใหม่ การทํานาขั้นบันได โครงการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาความแห้งแล้ง การแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่ต่างๆ ที่เรียกว่า “แกล้งดิน” การกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีสู่เกษตรกร ที่เรียกว่า “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน”
รวมทั้งยังทรงพระราชทานที่ดินเพื่อการวิจัยและพัฒนาข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาว ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรวิจัยและพัฒนาข้าว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้แก่มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ และพระราชทานทุนสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาข้าวให้แก่ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด
ความสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณและการน้อมรําลึกในพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย ในห้วงเวลาจากนี้ ควรนำไปสู่การเดินรอยตามเบื้องยุคลบาท เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเกษตรด้วยการน้อมนำกระแสพระราชดำรัสและพระราชดำริทั้งหลายมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
หาไม่แล้วก็คงเป็นประหนึ่งธุลีดิน หรือเมล็ดพันธุ์ที่ด้อยคุณภาพ ที่ไม่อาจงอกเงยยังประโยชน์ให้แก่ผืนดินและผู้คนได้ อย่างที่อาจปรากฏพบเห็นได้ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส