สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดตำนาน เลิดสะมันเตา คนแรกที่ปั้นน้ำเป็นตัว ทำเรือเมล์-รถเมล์ ทายาทเพิ่งขายอู่รถเมล์ไปหมื่นกว่าล้าน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เปิดตำนาน “เลิดสะมันเตา” คนแรกที่ปั้นน้ำเป็นตัว ทำเรือเมล์-รถเมล์ ทายาทเพิ่งขายอู่รถเมล์ไปหมื่นกว่าล้าน!

พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) และ โรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ

      เป็นข่าวที่ตื่นตะลึงวงการธุรกิจพอควร เมื่อบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เจ้าของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายนที่ผ่านมาว่า ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโครงการปาร์คนายเลิศ ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ซึ่งประกอบด้วยอาคารโรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ รวมเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ในราคา ๑๐,๘๐๐ ล้านบาท เพื่อจะปรับปรุงเป็นศูนย์บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพแบบครบวงจรแห่งแรกของเอเซีย ซึ่งที่ดินผืนนี้มีตำนานมายาวนานกว่า ๑๐๐ ปี เริ่มจากเป็นอู่รถเมล์สายแรกของกรุงเทพฯ และบ้านของ นายเลิศ เศรษฐบุตร คนเกิดในยุค ร.๕ ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นทั้งคนดีและคนเก่งของกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าของฉายาโด่งดังแห่งยุค “เลิดสะมันเตา”
       
        นายเลิศมีชื่อเดิมว่า “เลิด” คล้องจองกับพี่ชายคือ “ลัด” หรือ มหาอำมาตย์โท พระยานรเนติบัญชากิจ แต่นายเลิศเลือกทางเดินต่างจากพี่ชาย แม้จะมีความเชื่อกันในยุคนั้นว่า “๑๐ พ่อค้าก็ไม่เท่ากับ ๑ พระยาเลี้ยง” คือรับใช้เจ้าขุนมูลนายดีกว่ามาเป็นพ่อค้าที่ไม่มีหลักประกันที่แน่นอน
       
        เมื่อจบการศึกษาหลักสูตรครูจากโรงเรียนสุนันทาลัยในวัย ๑๖ ปี แทนที่จะยึดอาชีพครู นายเลิศกลับไปสมัครเป็นเสมียนฝึกหัดงานกับห้างวินเซอร์ของฝรั่ง ซึ่งเรียกกันว่า “ห้างสี่ตา” ถูกใช้ให้ทำงานสารพัด แม้ว่าจะไม่สมกับความรู้ที่ร่ำเรียนมานายเลิศก็ยอม ด้วยความหวังที่จะเรียนรู้การเป็นนายห้างกับเขาบ้าง แต่ทนทำอยู่เป็นปีก็ไม่ได้รับการบรรจุ และไม่ได้รับเงินเลย จึงขอลาออก
       
        จากห้างสี่ตา นายเลิศไปสมัครทำงานที่โรงภาษี แต่ได้รับคำตอบว่าคนเต็มแล้ว นายเลิศบอกไม่รับเงินก็ได้ ขอแค่ฝึกงานก็พอ เลยได้เรียนรู้งานที่โรงภาษีอีกแห่ง และทนทำงานแบบไม่ได้เงินอีก ๘ เดือน รวมทำงานหลังจบการศึกษามา ๑ ปี ๘ เดือนแบบไม่ได้ทั้งเงินและไม่เห็นอนาคต นายเลิศเห็นว่าทำงานแบบนี้ไม่ไหวแน่ จึงหันไปหางานที่ได้เงินทำ และได้รับการบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนสุนันทา สถานศึกษาที่จบมานั่นเอง ได้รับเงินเดือนถึงเดือนละ ๑๐ บาท ซึ่งอยู่ในขั้นไม่เลว
       
        แม้จะยอมเป็นครู แต่ความฝันที่จะเป็นนายห้างของนายเลิศก็ยังไม่ยอมล้มเลิก มาได้จังหวะเมื่อแหม่มแมคฟาแลนด์ หรือที่เรียกกันว่า “แหม่มฟ้าลั่น” มิชชันนารีอเมริกัน มาชวนให้ไปทำงานกับบริษัทสิงคโปร์สเตรท ซึ่งต่อมาก็คือ บริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ ในแผนกจำหน่ายน้ำหวานและโซดาที่เรียกว่า “น้ำมะเน็ด” เครื่องดื่มยอดนิยมในยุคนั้น นายเลิศจึงลาออกจากอาชีพครูไปล่าหาความฝันทันที และได้รับเงินเดือนๆ ละ ๑๕ บาท
       
        หลังจากทำงานกับบริษัทสิงคโปร์สเตรทอยู่ ๖ ปี มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท และเก็บเงินได้พอควร นายเลิศจึงตัดสินใจขอเป็น “นายห้าง” บ้าง เปิดห้างของตัวเองในชื่อ “ห้างนายเลิด” ขึ้นในปี ๒๔๓๗ จำหน่ายสินค้าต่างประเทศ เช่นเครื่องกระป๋อง รวมทั้งจักรเย็บผ้า ต่อมาก็จำหน่ายน้ำมะเน็ด น้ำมันมะพร้าว และหนังสือต่างประเทศ
       
        ชีวิตคนเก่งอย่างนายเลิศไม่ได้ราบรื่นไปทุกก้าว การจำหน่ายน้ำมะเน็ดที่มีประสบการณ์มาจากห้างสิงคโปร์สเตรท ก็ประสบปัญหาจนต้องเลิกขาย และมาขาดทุนย่อยยับจากการขายสังกะสี แต่นายเลิศเป็นคนที่ไม่ยอมจำนนง่ายๆ มองหาช่องทางที่จะก้าวใหม่อยู่เสมอ ตอนนั้น “รถไบซิเคิล” หรือ “รถถีบ” ซึ่งก็คือรถจักรยานสองล้อกำลังเป็นที่นิยม นายเลิศจึงสั่งจักรยานเข้ามาขายบ้าง แต่กว่าสินค้าที่สั่งจะมาถึง จักรยานก็เต็มตลาดเสียแล้ว ต้องขาดทุนซ้ำซ้อนอีก
       
        คนที่ไม่ยอมจำนนเท่านั้นที่ยังมีโอกาส นายเลิศมองหากิจการใหม่ๆ ที่คนยังตามไม่ทันบ้าง ตอนนั้นเริ่มมีฝรั่งเข้ามาตั้งโฮเตลในกรุงเทพฯหลายแห่งแล้ว โรงแรมโอเรียนเต็ลของกลาสีชาวเดนมาร์กนับว่าทันสมัยที่สุด มีไฟฟ้าใช้ นายเลิศจึงตั้งโรงแรมบ้างที่สี่พระยา ไม่ไกลจากโอเรียนเต็ล นับเป็นโรงแรมแห่งแรกที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ สถานที่ก็คือตึกที่เป็นห้างนายเลิดนั่นเอง ปัจจุบันตึกหลังนี้ก็ยังอยู่ และประสพความสำเร็จด้วยดี นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโรงแรมปาร์คนายเลิศในเวลาต่อมา

เปิดตำนาน “เลิดสะมันเตา” คนแรกที่ปั้นน้ำเป็นตัว ทำเรือเมล์-รถเมล์ ทายาทเพิ่งขายอู่รถเมล์ไปหมื่นกว่าล้าน!

ตึกนายเลิดที่สี่พระยา ซึ่งเคยเป็นทั้งห้างนายเลิดและโรงแรม

      ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า คนไทยเพิ่งรู้จักน้ำแข็งเมื่อ ๑๕๐ กว่าปีมานี่เอง เมื่อมีเรือเมล์ชื่อ “เจ้าพระยา” เดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพฯกับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแหล่งถ่ายทอดอารยะธรรมจากตะวันตก มีผู้นำน้ำแข็งใส่หีบกลบด้วยขี้เลื่อยเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานตอกน้ำแข็งออกแจกจ่ายข้าราชบริพารให้ลองลิ้มชิมรส ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้ราชสำนักสยามมาก ส่วนชาวบ้านที่ได้กิติศัพท์ความแปลกของน้ำแข็ง หลายคนก็ไม่ยอมเชื่อว่าจะทำให้น้ำเป็นก้อนได้ จึงเกิดสำนวน “ปั้นน้ำเป็นตัว” ซึ่งหมายถึงเรื่องหลอก
       
       ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๘ สมัยรัชกาลที่ ๕ นายเลิศจึงได้ตั้งโรงน้ำแข็งขึ้นเป็นแห่งแรก ในชื่อ “น้ำแข็งสยาม” ชาวบ้านเรียกกันว่า “โรงน้ำแข็งนายเลิศ” เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยในสมัยนั้นมาก แวะเวียนไปดูความแปลกของน้ำแข็งซึ่งใช้ดับร้อนได้ชะงัด ที่นิยมกันมากก็คือเอาน้ำแข็งมาไสเป็นเกล็ด แล้วอัดลงถ้วยให้เป็นแท่ง เอาไม้เสียบถือ ราดด้วยน้ำหวาน เรียกว่า “น้ำแข็งกด” เป็นของแปลกกินแล้วชื่นใจคลายร้อน ต่อมาจึงมีคนปั้นน้ำเป็นตัวตามนายเลิศ และร่ำรวยกันทุกราย

เปิดตำนาน “เลิดสะมันเตา” คนแรกที่ปั้นน้ำเป็นตัว ทำเรือเมล์-รถเมล์ ทายาทเพิ่งขายอู่รถเมล์ไปหมื่นกว่าล้าน!

โรงน้ำแข็งนายเลิด

       ตอนนี้เรามีการเดินเรือในคลองแสนแสบและผดุงกรุงเกษมเพื่อช่วยบรรเทาการจราจรที่คับคั่งของกรุงเทพฯ นายเลิศ เศรษฐบุตรก็เป็นคนแรกที่ริเริ่มการคมนาคมทางในคลองแสนแสบนี้ไว้เช่นกัน โดยเปิดเดินเรือเมล์กว่า ๓๐ ลำ รับ-ส่งสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “เรือขาว” และได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้เกิดชุมชนการค้าขึ้นตามริมคลองหลายแห่ง เช่น ตลาดประตูน้ำเฉลิมโลก ตลาดคลองตัน ตลาดวัดตึก ตลาดบางกะปิ ตลาดบางเตย ตลาดหลอแหล ตลาดบางชัน ตลาดมีนบุรี ตลาดคู้ ตลาดเจียรดับ และตลาดหนองจอก อย่างที่เคยเล่าไว้เมื่อไม่กี่วันมานี้ในเรื่องบางกะปิย้ายบาง
       
        กิจการอีกอย่างที่นายเลิศคิดขึ้นมา ก็คือบริการรถม้าให้เช่า โดยคิดเป็นชั่วโมง ถ้าเทียมม้าตัวเดียวก็ราคาชั่วโมงละ ๗๕ สตางค์ ถ้าม้าคู่ชั่วโมงละ ๑ บาท กิจการไปด้วยดีเหมือนกัน แต่นายเลิศไม่ค่อยพอใจนัก เพราะรู้สึกว่าเป็นการทรมานสัตว์ ต่อมาเมื่อมีการสั่งรถยนต์เข้ามา นายเลิศจึงเปลี่ยนรถม้าเป็นรถยนต์ และเมื่อเห็นว่าบ้านเมืองขยายตัวออกกว้างขวางขึ้น จึงริเริ่มทำรถเมล์

เปิดตำนาน “เลิดสะมันเตา” คนแรกที่ปั้นน้ำเป็นตัว ทำเรือเมล์-รถเมล์ ทายาทเพิ่งขายอู่รถเมล์ไปหมื่นกว่าล้าน!

รถม้าให้เช่าของนายเลิศ

      ความจริงรถเมล์สายแรกของกรุงเทพฯเริ่มขึ้นในปี ๒๔๒๘ แล้ว โดยใช้รถเทียมม้า แต่ก็เรียกกันว่า “รถเมล์” ตามเรือเมล์ที่วิ่งในคลองระหว่างเมือง แต่วิ่งกันอยู่ ๒ ปีก็ต้องเลิกเพราะมีรถรางขึ้นมาแข่ง จนในปี ๒๔๕๐ โดยนายเลิศจึงหันมารื้อฟื้นรถเมล์ขึ้นมาใหม่ เริ่มจากสะพานยศเส หรือสะพานกษัตริย์ศึก ไปตลาดประตูน้ำ ซึ่งเป็นต้นทางเรือเมล์ของนายเลิศในคลองแสนแสบ และไม่มีรถรางในเส้นทางนี้ แรกเริ่มก็ใช้ม้าลาก เมื่อเห็นว่ากิจการไปได้ดี ในปี ๒๔๕๖ นายเลิศจึงนำรถยี่ห้อฟอร์ดมาใช้ ซึ่งขนาดของรถก็ไม่ใหญ่ไปกว่ารถม้านัก เป็นรถมี ๓ ล้อ ที่นั่งเป็นม้ายาว ๒ แถว นั่งได้ประมาณ ๑๐ คน ขณะวิ่งไปตามถนนจะมีเสียงโกร่งกร่างไปตลอดทาง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “อ้ายโกร่ง” ตัวรถทาสีขาว มีเครื่องหมายกากบาทสีแดงในวงกลม คล้ายขนมกง แต่คนคิดกันว่าเป็นเครื่องหมายกาชาด เรียกกันว่า “รถเมล์ขาวนายเลิศ” และขยายเส้นทางไปถึงบางลำพู ย่านการค้าที่สำคัญของยุคนั้น
       
        รถเมล์สายแรกของไทยได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนโยบาย “สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรน้อย บริการผู้มีรายได้น้อย” กิจการรถโดยสารของรายเลิศจึงขยายเส้นทางออกไปเรื่อยๆ และพัฒนาเป็นรถ ๔ ล้อ โดยออกแบบเอง มีที่นั่ง ๒ แถวด้านข้างเช่นกัน จนได้รับสัมปทานเดินรถประจำทางในกรุงเทพฯถึง ๓๖ สาย มีรถประมาณ ๗๐๐ คัน มีพนักงานถึง ๓,๕๐๐ คน นับเป็นบริษัทรถเมล์ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ แต่ก็ต้องเลิกกิจการไปในปี ๒๕๑๘ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายรวมกิจการรถเมล์ทุกสายมาเป็นรัฐวิสาหกิจ

เปิดตำนาน “เลิดสะมันเตา” คนแรกที่ปั้นน้ำเป็นตัว ทำเรือเมล์-รถเมล์ ทายาทเพิ่งขายอู่รถเมล์ไปหมื่นกว่าล้าน!

อนุสรณ์ “รถเมล์ขาว” ในปาร์คนายเลิศ

       อนุสรณ์อู่รถเมล์ขาวของนายเลิศ ก็ถือสถานที่ตั้งของโรงแรมปาร์คนายเลิศ ที่ถนนวิทยุ ติดคลองแสนแสบ ซึ่งเซ็นสัญญาจะซื้อจะขายไปในราคาหมื่นกว่าล้านนั่นเอง
       
        จากการที่เป็นผู้ริเริ่มกิจการหลายอย่างซึ่งล้วนแต่ให้ประโยชน์แก่สังคม ทำให้ชื่อเสียงของนายเลิศโด่งดังไปทั้งเมือง และเป็นที่ชื่นชมว่าเป็นคนเก่งเหนือกว่าคนทั่วไป จนทำให้เกิดคำแสลงที่รู้กันไปทั่วว่า “เลิดสะมันเตา” หมายถึงเลิศอย่างสุดยอด
       
        นายเลิศทำธุรกิจแบบไม่ได้หวังกอบโกยกำไร มีโอกาสก็จะตอบแทนสังคมอยู่เสมอ อย่างการเดินเรือเมล์ในคลองแสนแสบ ทำให้นายเลิศเป็นที่รู้จักมักคุ้นกับผู้คนในย่านนั้น ซึ่งนายเลิศก็มีความเอื้ออาทรพร่ำแนะนำกับผู้คนว่าให้ห่วงใยการศึกษาของบุตรหลานให้มาก ทำให้หลายคนนำบุตรหลานมาฝากฝังกับนายเลิศให้มีโอกาสได้ร่ำเรียน นายเลิศจึงได้ตั้งโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญขึ้นที่มีนบุรี ริมคลองแสนแสบ ให้เป็นแหล่งศึกษาของเด็กๆในย่านนั้น เมื่อรัฐบาลให้แยกโรงเรียนชายกับโรงเรียนหญิง ก็มาเปิดอีกแห่งที่ถนนรามอินทรา แยกเป็นโรงเรียนชายและหญิง
       
        เมื่อนายเลิศได้ย้ายครอบครัวมาสร้างบ้านริมคลองแสนแสบ ที่เป็นปาร์คนายเลิศขณะนี้ ก็ได้ปลูกต้นไม้และสร้างสนามพร้อมสระว่ายน้ำ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจให้คนเข้าไปเที่ยวได้ ลูกเสือซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ใช้เป็นที่ฝึกภาคสนามและหัดว่ายน้ำ ใช้ระเบียงบ้านเป็นที่นอน โดยไม่รังเกียจความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในบ้าน
       
        ในปี ๒๔๖๘ เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ นายเลิศยังใช้ทั้งเรือเมล์และรถเมล์ช่วยเหลืออพยพชาวบ้านและสัตว์เลี้ยงให้พ้นจากการจมน้ำตายอีก

เปิดตำนาน “เลิดสะมันเตา” คนแรกที่ปั้นน้ำเป็นตัว ทำเรือเมล์-รถเมล์ ทายาทเพิ่งขายอู่รถเมล์ไปหมื่นกว่าล้าน!

บ้านพักของนายเลิศในปาร์คนายเลิศ

       ด้วยความดีงามที่ได้ทำมาอย่างสม่ำเสมอนี้ ในปี ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายเลิศ เศรษฐบุตร มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภักดีนรเศรษฐ ซึ่งมีความหมายว่า “เศรษฐีที่มีคนรัก”
       
        พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ สิริรวมอายุ ๗๔ ปี นอกจากทิ้งมรดกที่มีค่ามหาศาลไว้ให้ทายาทแล้ว ยังเป็นแบบอย่างที่น่ายกย่องสำหรับนักธุรกิจที่สำนึกในบุญคุณของสังคม


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : เปิดตำนาน เลิดสะมันเตา ทำเรือเมล์ รถเมล์ ทายาท เพิ่งขาย อู่รถเมล์ หมื่นกว่าล้าน

view