สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชมวัดบ่อแก้ว ตำนานศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าเเก้ว เมืองน่าน อลังการอารามกลางขุนเขา

จากประชาชาติธุรกิจ

ขอบคุณที่มาจากหนังสือ อนุสาร อสท. นิตยสารท่องเที่ยวยอดนิยมของเมืองไทย ฉบับเดือนกันยายน คอลัมน์ เเวะชมสมบัติศิลป์ เรื่องโดยภาคภูมิ น้อยวัฒน์


ในเมืองเล็ก ๆ แสนเงียบสงบกลางโอบล้อมของผืนป่าเขียวขจีและทิวเทือกเขาอันสลับซับซ้อน ศาสนสถานงดงามอลังการด้วยลวดลายปูนปั้นสุดแสนวิจิตรยืนหยัดอยู่อย่างเงียบ ๆ ทว่าสง่างามโดดเด่นสะดุดตาในฐานะอุโบสถหลังใหม่ของวัดบ่อแก้ว ศูนย์กลางแห่งศรัทธาของชาวบ้านบ่อแก้ว ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน

แต่เดิมบ้านบ่อแก้วเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อว่าบ้านเมืองหิน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2390 (ตรงกับในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นสำหรับเป็นศูนย์รวมจิตใจและใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม ให้ชื่อว่า "วัดศรีมาราม"

ภายในบริเวณวัดมีบ่อน้ำอยู่ หลังจากสร้างวัดแล้วได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น โดยทุกวันพระจะปรากฏดวงแก้วส่องแสงสว่างสุกใสลอยออกมาจากบ่อน้ำภายในวัด สร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก จึงช่วยกันสร้างพระเจดีย์ครอบบ่อน้ำเอาไว้ แล้วเปลี่ยนชื่อจากวัดศรีมารามเป็น "วัดบ่อแก้ว" รวมทั้งชื่อหมู่บ้านด้วย เพื่อระลึกถึงปรากฏการณ์มหัศจรรย์อันเป็นมหามงคล


บนฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระประธาน เบื้องบนสุดประดิษฐานพระเจ้าแก้ว ประดับรัศมีไฟกะพริบ

ปูชนียวัตถุสำคัญที่สุดของวัดบ่อแก้วคือ พระเจ้าแก้ว พระพุทธรูปเนื้อแก้วใส ปางประทับยืนอุ้มบาตร สูงประมาณ 1 คืบ มีตำนานเล่าถึงที่มาว่า เมื่อร้อยกว่าปีก่อนมีตากับยายทำไร่อยู่ที่ม่อนเขาแก้ว (บริเวณใกล้กับวัดชัยมงคลในปัจจุบัน) วันหนึ่งขณะกำลังช่วยกันดายหญ้า แวก (จอบขนาดเล็ก) ที่ใช้อยู่ได้ไปกระทบกับบางสิ่งที่โผล่พ้นดินขึ้นมา ด้วยความสงสัยสองตายายจึงพากันขุดลึกลงไปอีก จนพบว่าสิ่งที่แวกไปกระทบเข้านั้นเป็นยอดพระเกศของพระพุทธรูปที่จมดินอยู่ จึงขุดขึ้นมาล้างดินโคลนที่ห่อหุ้มออก ปรากฏเป็นองค์พระพุทธรูปแก้วใสสวยงาม จึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดบ่อแก้ว

จากนั้นได้เกิดปาฏิหาริย์ พระเจ้าแก้วได้เสด็จออกไปในสถานที่ต่าง ๆ โดยแต่ละครั้งมีชาวบ้านไปพบเห็นมาเล่าลือกัน เช่น ริมลำน้ำหินบ้าง ใต้โคนต้นเดื่อใหญ่ในหมู่บ้านบ้าง ในโบสถ์ที่วัดปง (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพงษ์) บ้าง บนแท่นพระเจ้าหลวงวัดนาหวายบ้าง บางครั้งเสด็จไปไกลถึงวัดบ้านล้อง หรือวัดร้อง ในตำบลสถาน ผู้เฒ่าแสนใจยาวาของหมู่บ้านจึงสร้างบุษบกไว้ถวายให้เป็นแท่นที่ประทับ นับแต่นั้นมาพระเจ้าแก้วก็ไม่เสด็จไปที่ไหนอีก

เจ้าผู้ครองนครน่านองค์หนึ่งได้ทราบถึงเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าแก้วได้จัดส่งขบวนช้างม้าพร้อมทหารมาอัญเชิญพระเจ้าแก้วขึ้นหลังช้างเพื่อนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดหลวงในเมืองน่าน แต่เมื่อขบวนเดินทางไปถึงบริเวณที่เรียกว่า "แพะไก่เถื่อน" เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก เป็นวิปริตอาเพศ จนขบวนไม่สามารถเดินทางไปต่อได้ ต้องอัญเชิญกลับมาไว้ที่วัดบ่อแก้วตามเดิม พระเจ้าแก้วจึงถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวอำเภอนาหมื่น ในวันวิสาขบูชาและวันสำคัญทางพุทธศาสนาจะอัญเชิญออกมาให้ประชาชนสรงน้ำเป็นประจำทุกปี

อุโบสถสุดอลังการนี้นับเป็นอุโบสถหลังที่3ของวัด หลลังดั้งเดิมแรกสุดเป็นสถาปัตยกรรมไม้ เสาต้นซุงขนาดใหญ่ หลังคามุงแป้นเกล็ดแบบล้านนา ถูกรื้อออกไปเมื่อหลายปีก่อน แล้วสร้างอุโบสถหลังใหม่ก่ออิฐถือปูนบนพื้นที่เดิมเป็นหลังที่สอง ด้วยรูปแบบเรียบง่าย ยังไม่มีการประดับประดาอย่างวิจิตร เพียงมีลักษณะเด่นประการหนึ่ง คือ ข้างหลังโบสถ์ด้านนอกทางทิศตะวันตกทำเป็นวิหารน้อยขนาดเล็ก ตั้งบนเสาสูง 4 ต้น เหมือนกับหิ้งพระติดอยู่กับผนัง สำหรับประดิษฐานพระเจ้าแก้ว


สถาปัตยกรรมอันงดงามด้วยลวดลายปูนปั้นสีมุกอันวิจิตรของอุโบสถวัดบ่อแก้ว

กระทั่งเมื่อ3 ปีก่อน (ประมาณปี พ.ศ. 2556) ทางวัดบ่อแก้วจึงได้มีการบูรณะก่อสร้างอุโบสถใหม่อีกครั้ง โดยใช้ช่างจากจังหวัดเชียงราย แปรสภาพสู่อุโบสถอันวิจิตรตระการตาด้วยลวดลายปูนปั้นเต็มผนังอุโบสถ ด้านนอกตลอดจนหน้าต่างซุ้มโขงข้างละ 4 บาน เข้ากันกับตัวบานหน้าต่างที่ก็จำหลักไม้เป็นลวดลายสิบสองนักษัตร เหนือหน้าต่างขึ้นไปเป็นประติมากรรมเทวดานางฟ้าถือพานเหาะมาโปรยปรายดอกไม้ ลวดลายทั้งหมดแลดูเงางามเป็นประกายด้วยสีมุกที่ทางวัดเลือกใช้

การพ่นสีโบสถ์ทั้งหมดด้วยสีมุก นอกจากจะทำให้ดูมีมิติสวยงาม ไม่ขาวโพลนจนเกินไปแล้ว ยังช่วยให้มีความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะน้ำฝนไม่สามารถซึมเข้าในพื้นผิวจนก่อให้เกิดเป็นราหรือตะไคร่น้ำให้ลดทอนความงดงามของอุโบสถลงได้

สองฝั่งราวบันไดตกแต่งด้วยประติมากรรมพญานาคใหญ่แผ่พังพานนำขึ้นไปยังซุ้มประตูโขงด้านหน้าอุโบสถทางทิศตะวันออกประดับลายปูนปั้นละเอียดยิบ บนยอดประตูใหญ่ถึงกลางปั้นเป็นเจดีพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ล้อมรอบด้วยเทวดานางฟ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บานประตูจำหลักไม้เป็นเรื่องราวเหตุการณ์ในพุทธประวัติ เช่น ตอนมารผจญ ตอนปราบองคุลีมาล และอื่น ๆ บานละ 4 ตอน สองฟากฝั่งประตูประดับด้วยประติมากรรมเทพบุตรเทพธิดายืนพนมมือ ระบายสีสันอย่างสวยงาม ด้านหลังอุโบสถททางทิศตะวันตกก็มีลักษณะคล้ายกัน ผนังระเบียบทุกด้านล้วนแล้วแต่ประดับประดาด้วยปูนปั้นในเรื่องราวพุทธประวัติจนแทบไม่มีที่ว่าง

ภายในอุโบสถก็ตระการตาไม่ยิ่งหย่อนบนฐานชุกชีทำเป็น3 ชั้น บนสุดประดิษฐานพระเจ้าและชั้นสุดท้ายประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยและพระพุทธชินราชจำลองรุ่นใหม่ลดหลั่นผลังหลังพระประธานเป็นปูนปั้นพุทธประวัติ3ตอนสำคัญ คือ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เรียงกันจากซ้ายไปขวา ส่วนผนังทางด้านหน้า ด้านซ้ายและขวารายรอบด้วยปูนปั้นนูนต่ำเล่าเรื่องมหาเวศสันดรชาดก


ภาพบน-ประติมากรรมปุนปั้นนูนต่ำ ภาพงามบุญประเพณีประจำปีบนฐานเจดีย์ลงสีสันอย่างงดงาม
ภาพล่าง-ประติมากรรมยักษ์นั่งไขว่ห้างถือกระบองเฝ้าเชิงบันไดเจดีย์อย่างสบายอารมณ์


เจดีย์ประธานฐานย่อมุมองค์ระฆังกลมแบบล้านนาของวัดก็ได้รับการประดับประดาด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นเรื่องราวของประเพณีงานบุญในเทศกาลต่างๆตลอดทั้ง 12 เดือน รอบฐานทั้ง 4 ด้านพุ่นสีสันสดใสสะดุดตา เชิงบันไดทั้ง 4 ด้านยังประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นแตกต่างกัน ทางทิศตะวันออกเป็นหงส์ ทางทิศเหนือและใต้เป็นสิงห์ และทางด้านตะวันตกเป็นยักษ์อ้วนถือกระบอง นุ่งโจงกระเบนสีชมพูดูน่ารัก

แม้จะดูเหมือนอยู่ห่างไกล แต่ความงดงามที่กล่าวทั้งหมดนี้ รับรองว่าคุ้มค่ากับการดั้นด้นมาชื่นชมให้เพลิดเพลิงเจริญใจด้วยสายตาของท่านเองอย่างแน่นอน

คู่มือนักเดินทาง

วัดบ่อแก้วตั้งอยู่ที่เลขที่ 129 หมู่ 5 บ้านบ่อแก้ว ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน จากตัวเมืองน่านใช้ทางหลวงหมายเลข 101 (ถนนยันตรกิจโกศล) ไปเข้าทางหลวงหมายเลข 1026 ที่อำเภอเวียงสา ผ่านอำเภอนาน้อย เข้าสู่อำเภอนาหมื่น ผ่านหน้าศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนบ้านบ่อแก้ว ที่อยู่ทางขวามือ แล้วเลี้ยวซ้ายที่สี่แยก ผ่านหน้าตลาดสดบ่อแก้วไปจนถึงวัดบ่อแก้วที่อยู่ทางซ้ายของถนน รวมระยะทางประมาณ 77.4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที


ขอบคุณที่มาจากหนังสือ อนุสาร อสท. นิตยสารท่องเที่ยวยอดนิยมของเมืองไทย ฉบับเดือนกันยายน คอลัมน์ เเวะชมสมบัติศิลป์ เรื่องโดยภาคภูมิ น้อยวัฒน์


อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส

Tags : ชมวัดบ่อแก้ว ตำนานศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าเเก้ว เมืองน่าน อลังการ อารามกลางขุนเขา

view