สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อรัชกาลที่ 5 มีพระราชหัตถเลขาครั้งเสด็จประพาสยุโรป ใครมาก็มีแต่จะรุมดูไม่ปราณีปราไสย

จากประชาชาติธุรกิจ

ในหนังสือวาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์ โดยสำนักพิมพ์มติชน ระบุถึง ข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี ขณะเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450

----

"ใครมาก็มีแต่จะรุมดูไม่ปราณีปราไสย"


"---ใครแปลกหน้าเป็นคนต่างประเทศมาแล้ว ถูกตอมด้วยกันทั้งนั้น ตอมเหมือนแมลงวันตอม ไม่เจ็บไม่ปวดอันใด เป็นแต่ให้รำคาญเท่านั้น---"

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี ขณะเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 ทรงเท่าถึงอุปนิสัยเด่นที่ไม่เหมือนชาวเมืองอื่นของชาวเมืองอิตาลี ที่ทรงสังเกตเห็นตลอดระยะเวลาที่เสด็จประพาสและประทับอยู่

ในการเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2450 ทรงขึ้นบกครั้งแรกในยุโรปที่ประเทศอิตาลีและประทับที่เมืองซันเรโม เพื่อจะได้ปรับพระองค์ให้เคยชินกับอากาศหนาว ซึ่งจะต้องทรงพบต่อไปเมื่อเสด็จฯ ขึ้นไปทางเหนือของยุโรป และเมื่อจะเสด็จฯกลับประเทศไทย ก็ทรงต้องกลับมาประทับอิตาลีอีกระยะหนึ่ง เพื่อรอเวลาประทับเรือพระที่นั่ง

ระหว่างประทับที่อิตาลีนั้น โปรดเสด็จประพาสหัวเมืองใกล้เคียงและเมืองสำคัญอื่น ๆ ของอิตาลีเป็นการส่วนพระองค์ จึงสามารถเสด็จฯไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งในเมืองและชนบท โปรดทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของสามัญชนชาวอิตาลีในเมืองทั้งใหญ่และเล็ก จนอาจกล่าวได้ว่าทรงรู้จักอิตาลีโดยเฉพาะชีวิตสามัญชนคนอิตาลีพอควร มีหลายสิ่งในอิตาลีที่ทรงชื่นชมและชื่นชอบ เช่น ศิลปะที่งดงาม ดอกไม้ที่สวยสด ภูมิประเทศที่หลากหลาย และภูมิอากาศที่เย็นสบายไม่ร้อนไม่หนาวมาก

แต่สิ่งหนึ่งในอิตาลีที่ทรงกล่าวถึงอย่างไม่สบพระอารมณ์อยู่บ่อยๆ คืออุปนิสัยหรือกิริยาอาการที่ชาวเมืองอิตาลีแสดงออกกับชาวต่างชาติซึ่งแตกต่างจากชาวเมืองอื่น ๆ คือถ้าสนใจใครแล้วเป็นต้องรุมจ้องดูไม่วางตาชนิด "---ใครมาก็มีแต่จะรุมดูไม่ปราณีปราไสย--ดูแล้วดูราวกับว่าจะเจาะให้ทลุด้วยไนยตา---"


พระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปที่ร้านค้าในเมืองริเวียรา ทรงพบกับการรุมดูจากชาวเมืองอิตาลี (ภาพจาก ให้ดำรง ครั้งไกลบ้าน , 2540)

เมื่อเสด็จประทับที่เมืองซันเรโมในประเทศอิตาลีครั้งแรกเป็นเวลา16 วัน วันแรก ๆ โปรดการเสด็จประพาสในเมืองเพื่อทอดพระเนตร ศิลปะและสินค้าต่าง ๆ ที่ทรงสนพระทัย แต่ก็ทรงพบกับการรุมดูจากชาวเมืองอิตาลีจนทรงหงุดหงิดพระทัย ดังที่ทรงเขียนบ่นว่า

"---ถ้าลงเดินเที่ยวหาเป็นไม่ได้ คนตอมกันแน่น มันจะดูเอานรกฤาสวรรค์ เพราะดูไม่รู้แน่--"

บางสถานที่โดยเฉพาะตามห้างร้านเป็นอันเสด็จเข้าไม่ได้ เพราะ "---ถ้าขืนเข้าไปก็ยิ่งกว่ามีโนรา 5 โรง จะรุมกันดูแน่นที่หน้าร้านนั้น---" ทรงเล่าว่า "---พอเดินออกจากร้านหนึ่งจะไปเข้าร้านที่ 2 คนมาดูอยู่ที่น่าร้านเต็มเสียแล้ว---" จนบางครั้งต้องประทับอยู่แต่ภายในโฮเตล เพราะ "---ไม่มีที่จะไปไหน เหตุด้วยไปไม่รอด---" ด้วยเหตุว่าข้างหน้าโฮเตลเต็มไปด้วยผู้คนมาออกันอยู่หน้าประตู ดังที่ทรงเล่าว่า "---น่าโฮเตลมีคนประจำอยู่เสมอทั้งกลางวันกลางคืนหลายร้อยคนไม่รู้ว่ามันมาอยู่ดูทำอะไรกัน นานนานจะได้เห็นสักอึดใจหนึ่ง---"

ทรงใช้สำนวนบอกอากัปกิริยาของผู้ที่มาออกันอยู่หน้าประตูไว้อย่างเห็นภาพพจน์ว่า"---ผู้คนละเล้าละลุมเกาะประตูคอยดูอยู่เป็นนิจ---" ทำให้การออกจากที่ประทับแต่ละครั้งเต็มไปด้วยความยากลำบากอย่างน่ารำคาญ บางครั้งต้องใช้อุบายให้เจ้านายพระองค์อื่นแสดงตัวเป็นพระองค์เสด็จออกด้านหน้าขึ้นรถพระที่นั่ง ส่วนพระองค์เองโปรดให้รถธรรมดามารับด้านหลังที่ประทับ มีบางคราวการณ์ก็มิได้ราบรื่น เพราะมีฝรั่งที่เคยไปอยู่เมืองไทยคนหนึ่งรู้เรื่องนี้ ทรงเรียกฝรั่งนายนี้ว่า "ฝรั่งหูบอน" นำข่าวการเสด็จออกด้านหลังไปบอกผู้คน ทำให้ผู้รู้ข่าวไปดักรอเฝ้าอยู่ด้านหลังเป็นจำนวนมาก ดังที่ทรงเล่าว่า "---ออกกลแตก แต่ต้องดันมันไปดื้อ ๆ ขึ้นรถได้ก็ให้ขับไป---"

การมุงดูของชาวอิตาลีมีหลายวิธีและหลายอาการ เช่น การมุงดูที่หน้าร้านขายของ เมื่อเสด็จออกมาก็คำนับ "---คำนับแล้วก็เข้ามาจ้อง ใกล้เข้ามาทุกที ๆ จนตกลงเราอยู่กลางวง ถ้าไม่หลีกไปก็เบียดกันจนถึงตัว การเบียดเช่นนี้เป็นสันดานของพวกอิตาลี---"


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ่ายกับผู้ที่ตามเสด็จ (ภาพจากไกลบ้าน)


อีกวิธีหนึ่งเกิดที่เมืองโกโมขณะทรงรอรถไฟที่สถานีผู้คนมารุมดูกันมาก ทรงสังเกตเห็นชาย 5-6 คนคอยติดตามพระองค์อย่างกระชั้นชิดชนิด "---คอยเดินตามไม่ว่าเราจะกระดิกตัวไปข้างไหน---" จนทรงเข้าพระทัยว่าเป็นตำรวจลับที่คอยดูแลอำนวยความสะดวก และป้องกันอันตราย แต่กิริยาอาการของชายดังกล่าวทำให้ทรงสงสัย เพราะ "---ไม่เห็นป้องกันคนดูอย่างไรได้---ท่ามันเหมือนกลับจะคอยจับว่าเมื่อไรเราจะขโมย มากกว่าป้องกันเราให้พ้นคนอื่น---" แต่ก็ทรงให้อภัยในพฤติกรรมเช่นนั้นของชาวเมืองอิตาลี เพราะทรงตระหนักพระทัยเสียแล้วว่า เป็นอุปนิสัยประจำชาติ ยิ่งเมื่อทรงได้เห็นการปฏิบัติตัวของชาวเมืองที่ทำกับพระเจ้าแผ่นดินของตน ทรงเล่าว่า "---แต่ราษฎรแปลกกับเมืองอื่น คือกล้าตอมดูเบียดเสียดแวดล้อมโดยความสนุก ถึงเจ้าของเขาเองก็ไม่พ้น กลับต้องเอาอกเอาใจเปิดหมวกไม่หยุด ถ้าจะได้ดูแล้วดูจนใกล้กับหัวไหล่สีกัน แลเดินตามเป็นพรวนไม่รู้แล้วรู้รอด---"

จากการที่ทรงสังเกต และจากประสบการณ์ในการพบปะชาวบ้านชาวเมืองอิตาลีของพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสามารถสรุปลักษณะอุปนิสัยโดยรวมของชาวอิตาลีไว้ในพระ ราชหัตถเลขาหลายครั้ง สำนวนที่ทรงใช้ทำให้เห็นภาพอุปนิสัยอาการของชาวอิตาลีชัดเจน เช่น "---อยู่ข้างจะชอบร้องเวิ้กว้ากอึง ได้จะดูอะไรแล้วดูเอาจริงเอาจัง---" และ "---เป็นธรรมดาของชาวเมืองถ้าเห็นคนต่างประเทศเข้าแล้วหวานจะเที่ยวไต่ตอมขายของขอทาน---"

ทรงสรุปลักษณะกิริยาท่าทางของชาวอิตาลีไว้ว่า"---เสลือกสลบลนลานตามแบบของพวกอิตาลี---" และ "---คนมันทะลึ่งทะลั่งทะเลือก---"


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ่ายกับดุ๊กออฟเจนัว และเจ้านายอีก 3 พระองค์ที่ซันเรโม (ภาพจาก ไกลบ้าน)

ในการประทับที่อิตาลีครั้งหลังเพื่อรอประทับเรือพระที่นั่งเสด็จฯกลับสยามก็ยังทรงพบกับการมุงดูของชาวเมืองอิตาลี แต่ครั้งนี้น่าจะทรงเกิดความเคยชินจากการต้อนรับของชาวเมืองต่าง ๆ ในยุโรปมามากแล้ว จึงไม่ใคร่มีพระอารมณ์หงุดหงิด มีบางครั้งยังทรงมองเห็นส่วนดีของชาวอิตาลี เช่น ทรงพบว่ามีบางเมืองในอิตาลีที่ชาวเมืองมีกิริยาในการต้อนรับอาคันตุกะอย่างสุภาพ ดังเช่น ที่กรุงโรม ทรงเล่าว่า "---คนที่นี่ในเชิงอิตาเลียนด้วยกันแล้วนับว่าดีกว่าที่แห่งอื่นหมด เป็นอย่างรู้ มีสัมมาคารวะไม่สู้อุกอาจทะลึ่งทะลั่ง---" และที่เกาะชิชิลีทรงเล่าว่า "---คนที่นี่แปลกจากที่อื่น คือไม่สู้ตอมโนราและกิริยายิ้มแย้มแจ่มใสอ่อนหวานต่อคนที่ขึ้นมา---" ซึ่งกิริยาอาการของชาวเมือง 2 เมืองนี้ ควรที่จะทำให้ทรงมองชาวอิตาลีในแง่ดีขึ้นบ้าง ดังที่ทรงบรรยายว่า "---ความจริงชาวเมืองนี้ปรารถนาดีทั้งนั้น แต่หากเขาฟรีกันเช่นนั้นเองได้ดูแล้วดูราวกับว่าจะเจาะให้ทลุด้วยไนยตา---" และยังทรงพยายามมองชาวอิตาลีอย่างมีพระอารมณ์ขันว่า "---ถ้าจะไปดูอะไรก็ต้องเสียเงินไปเสียทุกอย่าง นี่ดูเปล่าไม่ต้องเสียเงิน---"

อุปนิสัยประจำชาติของชาว อิตาลีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตเห็นทั้งพบเห็น ด้วยสายพระเนตรและประสบเหตุการณ์ด้วยพระองค์เองนั้น นับเป็นการสังเกตที่ลุ่มลึกและเฉียบคม เพราะเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับกันแม้ในปัจจุบันชาวอิตาลีก็ยังคงได้รับคำ นิยามเกี่ยวกับอุปนิสัยและกิริยาท่าทางว่า "ทะลึ่งทะลั่งเสลือกสลนเวิ้กว้าก"


[จากศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 33 ฉบับที่ 11 (กันยายน 2555)]


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เมื่อรัชกาลที่ 5 พระราชหัตถเลขา เสด็จประพาสยุโรป ใครมา มีแต่จะรุมดู ไม่ปราณีปราไสย

view