จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
แฟนพันธุ์แท้รถไฟไทย ชี้ ภาพรถไฟหัวแหลมที่สถานีปาดังเบซาร์ ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง แต่เป็นรถไฟทางไกล นำเข้าจากจีน ความสะดวกสบายต่างกัน และรถจักรดีเซลยังคงมีใช้อยู่ ระบุ การพัฒนารถไฟไม่ใช่แค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นภาครัฐ ระบุถ้าแชร์เพื่อศึกษาเป็นเรื่องดี แต่ถ้าถากถางกันไม่มีประโยชน์
เฟซบุ๊กที่ชื่อ “Jaroensook Pone Limbanchongkit” ได้โพสต์ภาพจากทวิตเตอร์ @iamruj พร้อมระบุข้อความว่า “ขนาดเราเห็นภาพนี้ยังจุกอก อยากรู้จังคน รฟท. จะรู้สึกอย่างไร ป.ล. ภาพนี้ที่สถานีรถไฟปาดังเบซา ประเทศมาเลเซีย เมื่อรถไฟไทย จอดคู่กับรถไฟ ประเทศมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กเพจ “ทีมนั่งรถไฟ กับนายแฮมมึน” แฟนพันธุ์แท้ รถไฟไทย ปี 2013 ซึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงถึงกรณีที่มีการแชร์ภาพรถจักรดีเซลของไทย ที่ไปจอดข้างรถไฟของมาเลเซียที่เป็นรถไฟฟ้ารุ่นล่าสุด (ETS) ระบุว่า เป็นภาพจากสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ ในเขตประเทศมาเลเซีย ซึ่งเดินรถมาแล้วระยะหนึ่ง
การรถไฟมาเลเซีย (KTMB) มีแนวคิดที่จะทำให้ระบบรางเป็นระบบหลักของประเทศ จึงเริ่มทำทางคู่ติดสายส่งไฟฟ้าจากปาดังเบซาร์ - บัตเตอร์เวอร์ธ - กัวลาลัมเปอร์ - เกมัส และมีโครงการติดตั้งต่อไปจนถึงยะโฮร์บาห์รู แต่ถึงกระนั้น ในทางรถไฟสายตะวันออก จากตุมปัต (ฝั่งตรงข้าม อ.ตากใบ จ.นราธิวาส) จนถึงเกมัส ยังคงเป็นทางรถไฟแบบทางเดี่ยว ไม่มีระบบไฟฟ้าอยู่ ซึ่งทางที่ใช้ระบบไฟฟ้ามีเพียงแค่รูทฝั่งเดียว
ทั้งนี้ มาเลเซียได้ยกเลิกการเดินรถไฟแบบหัวรถจักรลากในเส้นทางตะวันตกของประเทศ มาเลเซีย ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และเดินรถด้วยรถไฟฟ้า ETS แทน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าแบบนั่ง ความยาว 6 คัน เคลื่อนที่ด้วยระบบไฟฟ้า ความเร็วสูงสุดในการให้บริการอยู่ที่ 140 กม./ชม. จากเดิมทีมาเลเซียวิ่งรถไฟด้วยความเร็วเพียง 80 กม./ชม. และมีการตัดทางคู่แนวใหม่ลัดเจาะอุโมงค์
อย่างไรก็ตาม รถไฟหัวแหลมที่เห็นในภาพนั้น “ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง” แต่เป็นเพียงรถไฟฟ้าทางไกล ที่เซอร์วิสแทนประเภทรถนอนนั่นเอง ผลิตในประเทศจีน ในเรื่องของห้องโดยสารนั้น ETS จะคล้ายคลึงกับ Sprinter และ Daewoo ของไทย แต่เบาะจะหมุนกลับทิศทางไม่ได้ ห้องน้ำไม่มีทุกตู้ อีกทั้งการออกแบบเก้าอี้ไม่สะดวกสบาย สำหรับรถจักรดีเซลของมาเลเซีย ก็ยังมีอยู่ และยังใช้งานเหมือนกับรถจักรดีเซลของไทย
เขากล่าวว่า เรื่องรถไฟไม่ใช่แค่เรื่องของหน่วยงานที่ชื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แต่เป็นเรื่องของประเทศที่เป็นนโยบายระดับชาติในการสร้างขนส่งมวลชนระบบราง ให้มีประสิทธิภาพ และเห็นว่า การลงทุน และการรับผิดชอบในโครงสร้างพื้นฐานนั้นควรเป็นของรัฐ ต่างกับประเทศไทยที่แต่ละหน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบเอง ทำให้เกิดปัญหาการเปิดใช้ไม่พร้อมกัน การเชื่อมต่อที่ไม่ครอบคลุม ระบบตั๋วแบบระบบใครระบบมัน รวมถึงระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ต่อเนื่อง (Feeder) ที่ไม่มีประสิทธิภาพ
อีกเรื่องคือ การสร้างทางรถไฟสายใหม่ รถไฟทางคู่ การซื้อรถจักรใหม่ รถไฟใหม่ เพราะมันคือระบบขนส่งมวลชนของรัฐ ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจและอนุมัติให้ซื้อหรือสร้าง คือ รัฐ ไม่ใช่ ร.ฟ.ท. หรือ รฟม. และมองว่า หากรัฐสนับสนุนระบบราง และประเทศไทยเราก็เริ่มมีการผลิตไฟฟ้าได้มีประสิทธิภาพขึ้น การเริ่มต้นเพื่อเป็นรถไฟฟ้าทางไกลก็ไม่ไกลเกินรอ ซึ่งระบบรถไฟฟ้าต้องใช้การลงทุนที่สูงมาก รวมถึงการส่งไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพด้วย
“การแชร์เพื่อทำความเข้าใจ ศึกษา และวิเคราะห์เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าใช้เพื่อถากถางกัน ผมก็เห็นว่าไม่สมควรเท่าไหร่ เพราะนอกจากไม่เกิดการวิเคราะห์แนวทางแล้ว การวิจารณ์ด้วยถ้อยคำรุนแรง ประกอบกับความรู้แค่ผิวเผิน มันไม่ได้สร้างมูลค่าหรือการต่อยอดใด ๆ ขึ้นมา เพราะระบบรางคือเรื่องของประเทศ ไม่ใช่แค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง การที่มันจะก้าวไปถึงจุดสูงสุดและความมีประสิทธิภาพ ก็ต้องอยู่ที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับแล้วล่ะ” เฟซบุ๊ก “ทีมนั่งรถไฟ กับนายแฮมมึน” กล่าว
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต