จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่มีอุบัติเหตุและความสูญเสียบนท้องถนนกลับมาเพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่รัฐบาลออกกฎเหล็ก “ดื่ม/เมา ขับขี่ ถูกยึดรถ” นั่นแสดงให้เห็นว่า... แม้กฎระเบียบจะเข้มแค่ไหนหากผู้ใช้รถใช้ถนนไม่พึงระวัง และเคารพกฎจราจรแล้ว แต่ละปีย่อมก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวต่างๆ ดังนั้น “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” จึงได้รวบรวมข้อมูลการขับรถทางไกลปลอดภัย มาเป็นแนวทางในการปฎิบัติระหว่างเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้...
จากข้อมูลผู้เสียชีวิตบนท้องถนน โดยศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) บ่งชี้ว่า “ความเร็ว” เป็นสาเหตุอันดับแรกคิดเป็นร้อยละ 26.8 รองลงมาเป็นเรื่อง“ดื่ม-เมาขับ” ร้อยละ 14.9 อันดับสามขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 14.7 และหลับในเป็นร้อยละ 5.7 นอกจากนี้ยังพบว่าส่วนใหญ่เกิดบนสายหลัก โดยร้อยละ 55.9ถนนกรมทางหลวง ตามมาด้วยของกรมทางหลวงชนบท ร้อยละ 13.4 และถนนอบต./ชุมชน ร้อยละ 18.7 ซึ่งคนที่เสียชีวิตจะเป็นคนในพื้นที่เป็นหลัก ร้อยละ 57และมีคนเดินถนนเสียชีวิตถึงร้อยละ 8.9
การขับรถอย่างปลอดภัยกับหลักการ 5 “ร”
จะเห็นว่าอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตบนถนน ส่วนใหญ่มาจากการขับขี่ หรือใช้รถนั่นเอง ดังนั้นผู้ใช้รถจึงต้องพึงปฎิบัติในการขับรถให้ปลอดภัย ซึ่งจากข้อมูลของกรมบังคับการตำรวจทางหลวง มีข้อแนะนำหลักการขับรถปลอดภัย ตลอดจนข้อควรปฎิบัติก่อนและระหว่างเดินทาง(ดูข้อมูลจากตารางประกอบ) เป็นความรู้ที่ต้องนำไปปฏิบัติค่อนข้างครอบคลุม
โดยในหลักการขับรถอย่างปลอดภัยนั้น ขึ้นอยู่กับความรู้ 5 ประการ หรือหลัก 5 "ร" อันดับแรกเป็นเรื่องของ “รอบรู้เรื่องรถ”ซึ่งนักขับที่ดีจะต้องรอบรู้เรื่องรถที่ขับขี่เป็นอย่างดี หมั่นตรวจตราแก้ไขข้อบกพร่องอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนออกเดินทางไกลควรจะตรวจอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่ สำคัญ ๆ(ในตารางประกอบ)
ต่อมาเป็นการ “รอบรู้เรื่องทาง” เพราะทางแต่ละสายย่อมแตกต่างกัน โดยสภาพภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อม ถ้าเป็นเส้นทางไม่เคยไป ควรศึกษาจากแผนที่, คู่มือการท่องเที่ยว, ถามผู้รู้ หรือเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวง,ตำรวจท้องที่ ฯลฯที่สำคัญต้องสังเกตและปฏิบัติตามป้ายเครื่องหมายจราจร ขณะที่รอบรู้ที่สามเป็น “วิธีขับรถ”ซึ่งการขับรถเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ขับรถเป็นอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้วิธีแก้ไข ปัญหาเฉพาะหน้าได้โดยฉับพลัน และสามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น โดยมิได้คาดคิด เนื่องจากขาดความชำนาญ เช่น เบรกแตก หรือยางระเบิดจะทำอย่างไร? เป็นต้น
ในการขับรถ“กฎจราจร”เป็นสิ่งที่จะต้องรอบรู้โดยกฎจราจรมีไว้ ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนประพฤติปฏิบัติในแนวเดียวกัน เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกรวดเร็วและสุดท้าย “รอบรู้มารยาทในการขับรถ”การขับรถมารยาทในการขับเป็นสิ่งมีความสำคัญไม่น้อย ในการใช้รถใช้ถนน นักขับขี่ที่ดีควรแสดงความเป็นสุภาพบุรุษ อะลุ้มอล่วย เห็นใจ แนะนำและให้อภัย ต่อความผิดพลาดของผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการแสดงมารยาทที่ไม่สมควร
ข้อควรปฏิบัติก่อนและระหว่างเดินทาง
ในการขับรถเดินทางไกลนั้น ข้อควรปฏิบัติต้องเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่ก่อนเดินทาง (ดูข้อมูลในตารางประกอบ) นั่นคือต้องตรวจสภาพและอุปกรณ์ต่างๆ ของรถให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี และปลอดภัย หรือหลักการรอบรู้เรื่อง “รถ” นั่นเอง และยังต้องเตรียมอุปกรณ์-อะไหล่ไว้เพื่อเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างเดินทาง งดเว้นการดื่มสุราของมึนเมาทุกชนิด และควรควรศึกษาเส้นทางเดินทาง ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง หรือสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ก่อนเดินทางผู้ขับต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าขับรถกลางคืนระยะทางไกลเกิน 150 กม. ต้องมีคนขับสลับเปลี่ยน หรือถ้าไม่มีต้องหาที่หยุดพักนอน อย่าฝืนเดินทางไกลยาวทีเดียว เพราะอาจจะหลับในเกิดอุบัติเหตุได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้มีคำแนะนำจาก“สง่า ดามาพงษ์” เลขานุการคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์หลับในโดยต้องหลีกเลี่ยงสาเหตุ 4 ประกอบของการหลับใน ได้แก่ นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง, รับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ, ดื่มเหล้าก่อนขับรถ และกินยาแก้ปวด แก้แพ้ หรือแก้หวัดก่อนขับรถ (ดูตารางวิธีแก้ไขสถานการณ์หลับในประกอบ)
นอกจากนี้ให้จอดรถพักทุก 150 กิโลเมตร เพื่อให้ร่างกายไม่เมื่อยล้าเกินไป เตรียมอาหารแก้ง่วงระหว่างขับ ซึ่งผลไม้รสเปรี้ยวจะได้ผลดีที่สุดในการช่วยกระตุ้นประสาทให้สดชื่นได้ หรือเตรียมน้ำแข็งก้อนไว้ให้คนขับอมหรือถูขมับ และการปิดแอร์เปิดกระจกให้รู้สึกสดชื่นขึ้น แต่ถ้าหากไม่ไหวจริงๆ อย่าฝืนให้หาที่ปลอดภัยจอดรถนอนพัก 10-15 นาทีก่อนไปต่อ
ส่วนข้อควรปฏิบัติระหว่างเดินทางการ ต้องอย่าแซงรถในที่คับขัน หรือห้ามแซง ไม่ควรขับรถตามหลังคันอื่นในระยะกระชั้นชิด อย่าขับรถแข่งกันอย่างคึกคะนอง หรือขับเร็วเกินกำหนด ควรให้สัญญาณไฟในการหยุดรถ ขอทางแซง หรือเลี้ยวรถขณะขับรถสวนกันใช้ไฟต่ำ ควรขับรถชิดซ้าย สังเกตและปฎิบัติตามป้ายสัญญาณจราจร
วิธีแก้ปัญหาเมื่อรถเกิดปัญหา-อุบัติเหตุ
แม้จะพยายามปฏิบัติตามหลักการขับรถปลอดภัย แต่การใช้รถย่อมอาจเกิดปัญหาอุบัติกับรถได้ จึงมีแนวทางปฏิบัติเมื่อต้องเจอสถานการณ์ต่างๆ ปัญหาหลักๆ ที่จะพบบ่อย ได้แก่ “เบรกแตก”ซึ่งเมื่อเหยียบเบรกแล้วคันเหยียบเบรกจมหายไปรถไม่หยุด อย่าตกใจให้ใช้วิธีแก้โดยใช้เกียร์ต่ำในทันที ดึงเบรกมือช่วย พร้อมกับประคองพวงมาลัยรถให้อยู่ในบังคับเพื่อหลบหลีกรถอื่นๆ ในกรณีคับขันได้
“ยางแตกหรือระเบิด” ในกรณีเหยียบตะปู หรือรั่ว ยางจะค่อย ๆ แบนลง พวงมาลัยรถจะหนักหรือกินไปทางด้านนั้น ต้องรีบเบารถทันทีและเปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำลดลงเรื่อย ๆ เพื่อใช้เครื่องชะลอรถให้ช้าลง อย่าเหยียบเบรกขณะรถมีความเร็วสูง เมื่อรถช้าลงมากแล้วคอยเหยียบเบรกโดยแตะเบา ๆ แล้วแอบเข้าข้างทางเพื่อรอเปลี่ยนยางต่อไป
ส่วนกรณีที่ยางระเบิดรถจะเริ่มเสียหลักในทันที มีเสียงระเบิดของยาง และรถจะมีอาการทรุดฮวบ แฉลบหรือปัดเฉออกนอกแนวทางที่กำลังวิ่งอยู่ อาจทำให้ผู้ขับตกใจได้ แต่ต้องคุมสติให้อยู่ และอย่าเหยียบเบรกเพราะรถอาจคว่ำได้พยายามบังคับพวงมาลัยอย่าให้รถเฉออกนอก แนวดิ่ง รีบปล่อยคันเร่งพร้อมกับเปลี่ยนเกียร์มาใช้เกียร์ต่ำลดลงเรื่อย ๆ ให้รถชะลอช้าลง แล้วจึงค่อย ๆ เหยียบเบรก และแอบเอาข้างทางเพื่อเปลี่ยนยางต่อไป ในกรณีวิ่งบนเขา หรือเนินสูง ทั้งขึ้นและลงถ้าเครื่องดับและรถหยุด ต้องเหยียบเบรกและดึงเบรกมือช่วยถ้าเป็น รถหนักหรือรถบรรทุกต้องใช้ ไม้หนาๆ หนุนล้อทั้ง 4 ล้อไว้เพื่อป้องกันรถไหลลง
เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือรถเสีย ให้นำรถจอดแอบเข้าข้างทาง หรือเข็นไปจอดในที่ที่มีแสงสว่าง เพื่อให้รถผ่านไปมาเห็นได้ชัดและจะต้องเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน หรือไฟเหลืองกระพริบเตือนให้รถอื่นเห็นถ้าเป็นกลางคืนอาจใช้กิ่งไม้ก่อเป็น กองไฟไว้ให้ห่างจากหน้ารถ และหลังรถพอสมควรถ้าจำเป็น แต่ระวังเรื่องควันไฟจากการจุดกองไฟด้วย
ทั้งหมดเป็นข้อมูลควรรู้... ในการขับรถทางไกลอย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นช่วงสงกรานต์นี้ หรือปีใหม่ ตลอดจนช่วงวันหยุดยาวต่างๆซึ่งหากทุกคนช่วยกันระมัดระวังและป้องกัน จะทำให้การเดินทางช่วงเทศกาลหยุดยาว ลดอุบัติเหตุและการสูญเสียบนท้องถนนได้เป็นอย่างมาก และกลายเป็นช่วงวันหยุดที่มีแต่รอยยิ้มแห่งความสุข...
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต