จาก โพสต์ทูเดย์
อธิบดีกรมควบคุมโรคแนะวิธีแก้ง่วงขณะขับรถ-เตือนห้ามนอนเปิดแอร์ปิดกระจก
ใกล้จะเข้าสู่ช่วงวันหยุดสงกรานต์แล้ว ประชาชนจำนวนไม่น้อยเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ส่งผลให้มียวดยานพาหนะจำนวนมากบนท้องถนน สร้างความกังวลห่วงใยในเรื่องอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเมาแล้วขับ การขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย และหลับใน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เม.ย. นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) เปิดเผยว่า มีคำแนะนำ 5 ข้อแก้ง่วงนอนขณะขับรถทางไกล ประกอบด้วย 1.หาเครื่องดื่มมาช่วยเพิ่มความสดชื่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นที่สามารถเพิ่มความสดชื่นและทำให้ตื่นตัวได้ 2.หาของกินระหว่างขับ เช่น มันฝรั่ง ลูกอม หมากฝรั่ง นอกจากจะคลายหิวแล้ว ยังช่วยร่างกายตื่นตัวอีกด้วย 3.สร้างความสดชื่นด้วยการลดอุณหภูมิ ปรับความเย็นแอร์ลงหรือเร่งพัดลมแรงขึ้นหันเข้าหาตัว หรือลดกระจกลงเพื่อรับอากาศจากภายนอกบ้าง และควรเตรียมผ้าชุบน้ำไว้เช็ดหน้าด้วย 4.เปิดเพลงฟัง จะช่วยสร้างความครื้นเครงและทำให้ตื่นตัวขณะขับรถ 5.ขยับร่างกายเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ การขับรถนานจะทำให้มีอาการง่วง การได้ขยับร่างกายเล็กๆน้อยๆ จะช่วยลดการเมื่อยล้า และเมื่อรู้สึกปวดเมื่อยให้ส่ายหัวบ้าง ยกมือ ยกแขน หรือเลื่อนเบาะที่นั่ง ปรับพนักพิง เพื่อไม่ให้อยู่ท่าเดิมนานๆ
ทั้งนี้ หากเกิดอาการง่วงนอน อ่อนเพลีย ก็ควรงีบหลับสักพัก แต่ต้องระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดจากการนอนเปิดแอร์และปิดกระจกในรถยนต์ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
"ที่ผ่านมาพบว่า มีการเสียชีวิตจากการเปิดแอร์นอนในรถอย่างน้อยปีละ 1-2 ราย ซึ่งอันตรายเกิดจากในขณะที่เราสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ปิดกระจกมิดชิด เท่ากับว่าเป็นการนอนดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) โดยที่ก๊าซพิษเหล่านั้นจะไหลเวียนมาจากระบบแอร์ของรถยนต์ที่มีการดูดอากาศจากภายนอกมาหมุนเวียนภายในรถ ทำให้คนที่นอนอยู่ในรถขาดอากาศหายใจ และอาจเสียชีวิตได้ หากรู้สึกง่วงมากๆ และจำเป็นต้องนอนพักในรถยนต์ ควรหาที่จอดในที่โล่ง เมื่อจอดรถยนต์แล้วดับเครื่องยนต์ แง้มกระจกลงสักนิด 2-3 ซม. เพื่อระบายอากาศและรับลมจากภายนอก ห้ามเปิดแอร์และปิดกระจกโดยเด็ดขาด ให้ใช้พัดลมแอร์ช่วยให้หลับ ซึ่งพัดลมแอร์จะดูดอากาศมาหมุนเวียนในห้องโดยสาร แม้จะไม่เย็นเหมือนแอร์แต่ก็ทำให้หลับได้เช่นกัน และควรนอนพอให้หายอ่อนเพลียประมาณ 30-40 นาที เมื่อพร้อมแล้วจึงเดินทางต่อ"อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต