สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ โรงละคร ช่วยพัฒนาเมืองได้อย่างไร ?

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สิงคโปร์หลากมิติ โดย ดร.เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินข่าวการเปิดตัวของ National Gallery Singapore ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ถูกบูรณะขึ้นจากอาคารศาลฎีกาและศาลากลางเดิม ใช้เงินลงทุนราว 532 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 13,000 ล้านบาท เพื่อให้หอศิลป์แห่งนี้ เป็นที่สะสมงานศิลปะสมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเก็บสะสมผลงานของศิลปินชาวสิงคโปร์ และชาวต่างชาติกว่า 8,000 ชิ้น

หลายคนอาจสงสัย เพราะสิงคโปร์ไม่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตศิลปินที่มีชื่อเสียง แล้วเหตุใดสิงคโปร์ถึงต้องพยายามสร้างหอศิลป์ที่ใหญ่โตด้วยเล่า แถมเมื่อเทียบกับเงินลงทุนมหาศาลแล้ว เราคงอดมีคำถามในใจไม่ได้ ว่าคุ้มเหรอ ?

แท้จริงแล้ว การพัฒนาหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ โรงละคร และแหล่งวัฒนธรรมของสิงคโปร์นั้น ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นแผนที่วางกันมาตั้งแต่ประมาณช่วงปี 1990 และเป็นแผนที่ควบคู่มากับการพัฒนาเมืองสิงคโปร์

นักวิชาการสิงคโปร์อย่างเช่น Professor Lily Kong และ Dr. Terence Lee ได้แบ่งนโยบายวัฒนธรรมของสิงคโปร์เป็นยุคต่าง ๆ โดยในยุคเริ่มต้น หลังจากการแยกตัวจากมาเลเซีย ในปี 1965 รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้สนใจสนับสนุนงานด้านวัฒนธรรมนัก ด้วยวาระที่สำคัญและเร่งด่วนที่รัฐบาลทำในตอนนั้น คือจะต้องทำให้ประเทศเล็ก ๆ ที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติสามารถอยู่รอดได้ งานวัฒนธรรมจึงตามหลังวาระที่เกี่ยวข้องกับปากท้องทั้งหลาย

อย่างไรก็ดี ในยุคเริ่มต้นของช่วงปี 1980 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มพูดถึงการส่งเสริมให้ คนสิงคโปร์มีคุณภาพชีวิตที่ดี
(Quality of Life) ซึ่งหมายรวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนได้สัมผัสงานด้านวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย

จุดเปลี่ยนที่แท้จริงที่ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสนใจกับงานศิลปวัฒนธรรมอย่างจริงจัง เกิดขึ้นในปี 1985 เมื่อสิงคโปร์เผชิญกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ และรัฐบาลเล็งเห็นว่างานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม จะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถเติบโตได้ในอนาคต

ทั้งนี้ อาจกล่าวว่า การสนับสนุนงานวัฒนธรรมของสิงคโปร์นั้น เป็นบันไดที่จะพาไปสู่สิ่งอื่น เป้าประสงค์ที่แท้จริงของการสนับสนุนงานวัฒนธรรมของสิงคโปร์ คือเศรษฐกิจ รัฐบาลสิงคโปร์หวังว่าการสนับสนุนงานวัฒนธรรมนั้น จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวสิงคโปร์มากขึ้น และนอกเหนือไปจากเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว รัฐบาลยังหวังว่าการมีงานวัฒนธรรมที่หลากหลาย จะทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่น่าอยู่ และดึงดูดให้ชาวต่างประเทศที่เป็นแรงงานที่มีทักษะ มาพักอาศัยที่สิงคโปร์มากขึ้นและสิงคโปร์ก็จะใช้ทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้เป็นทุนในการพัฒนาประเทศต่อไป เรียกว่าเป็นการมองความสำเร็จแบบหลายต่อ ไม่ได้มองความสำเร็จเพียงแค่จุดใดจุดหนึ่ง

สิงคโปร์ไม่ได้แค่วาดวิมานในอากาศ หากแต่พยายามทำให้เป็นจริง โดยในปี 1988 สิงคโปร์ได้จัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า Advisory Council on Culture and Arts (ACCA) และหน่วยงานนี้ก็ได้มีหน้าที่จัดทำรายงานที่ถือว่าเป็น แผนแม่บทของนโยบายวัฒนธรรม ในสิงคโปร์

รายงานของ ACCA ได้แนะนำให้รัฐบาลจัดตั้งองค์กรด้านวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งที่ตามมาอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ก่อตั้ง Ministry of Information and The Arts (MITA) ขึ้นมา และหน่วยงานที่สำคัญคือ Na-tional Heritage Board (NHB) ซึ่งดูแลพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมของชาติ และ National Arts Council (NAC) ซึ่งสนับสนุนให้คนสิงคโปร์หันมาสนใจงานศิลปะมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งโรงละคร Espla-nade เพื่อเป็นที่จัดแสดงงานด้านศิลปะการแสดงและคอนเสิร์ตขนาดใหญ่

สิงคโปร์ไม่หยุดเพียงแค่นั้นในปี2000MITA ก็ได้จัดทำรายงานมาอีกชุด โดยครั้งนี้ได้กำหนดเป้าหมายว่าจะส่งเสริมงานวัฒนธรรมมากขึ้น โดยมีเป้าหมายระยะสั้น คือจะทำให้สิงคโปร์ เป็น Regional Hub เช่นเดียวกับเมืองอย่างฮ่องกงและเมลเบิร์น ส่วนเป้าหมายระยะยาวนั้นก็คือจะทำให้สิงคโปร์ เป็น Global City หรือเมืองหลวงของโลก เฉกเช่นเดียวกับเมืองอย่าง ลอนดอน และ นิวยอร์ก

ถามว่าทำไมสิงคโปร์ถึงกระตือรือร้นที่จะเป็น Global City ? นักวิชาการได้สรุปว่า เมืองใหญ่ในเอเชียปัจจุบันได้เข้าสู่ยุคการแข่งขันสูง ซึ่งจำเป็นจะต้องแข่งขันกับเมืองอื่น ๆ ด้วยความสามารถในการดึงคนเข้ามาท่องเที่ยว มาทำธุรกิจ และมาตั้งสำนักงานให้มากที่สุด ดังนั้นเมืองใหญ่อย่างเช่น สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ จึงได้พยายามที่จะผันตัวเองเป็น Global City ที่เป็นจุดที่ไหลเวียนของคน ของสินค้าและบริการ และของเงินทุนในสังคมโลกาภิวัตน์

เหตุนี้เองการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดใจ เช่น การมีหอศิลป์ที่สะสมผลงานศิลปะชั้นยอด มีพิพิธภัณฑ์ที่มีมรดกวัฒนธรรมทั้งจากท้องถิ่นและทั่วโลก มีโรงละครที่มีศิลปินผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาแสดง จึงเป็นสิ่งสำคัญ

เมื่อหันมามองบ้านเรา แม้ว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และโรงละครของไทยจะมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้นมีภาครัฐที่เริ่มเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังรู้สึกว่าเมื่อใดก็ตามที่ภาครัฐของไทยพูดถึงเรื่องของการส่งเสริมงานวัฒนธรรม มักจะหนีไม่พ้นกรอบของ "ความเป็นชาติ" หรือกรอบของการรักษาศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม รวมทั้งกรอบที่ว่างานวัฒนธรรมเป็นงานที่ไม่สามารถหาเลี้ยงตนเองได้ จนภาครัฐต้องมาโอบอุ้ม

กรอบความคิดนี้ไม่เพียงเป็นกรอบความ คิดที่ไม่ทันยุคทันสมัยเท่านั้นแต่ยังเป็นการมองวัฒนธรรมอย่างแยกส่วนไม่ ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับการพัฒนาเมืองและการพัฒนาประเทศ แต่หากเรามองว่าการสนับสนุนงานวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นหนึ่งในการทำเมืองให้น่าอยู่ และก็เป็นหนึ่งในการดึงดูดให้ทุนทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามามากขึ้น เมื่อนั้นการลงทุนสร้างหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ และโรงละคร อาจจะเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าคุ้มเกินคุ้ม


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ โรงละคร ช่วยพัฒนาเมือง อย่างไร

view