จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
เจดีย์โบราณที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
ที่สุพรรณบุรีนั้นมีเจดีย์ยุทธหัตถีมานานแล้ว แต่ตอนนี้ที่กาญจนบุรีก็มีเหมือนกัน เลยไม่แน่ใจว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงชนช้างกับพระมหาอุปราชาที่ไหนกันแน่?
นักประวัติศาสตร์คนสำคัญท่านหนึ่ง เคยพูดทางทีวีฟันธงออกมาทำนองว่า
เจดีย์ยุทธหัตถีของแท้อยู่ที่ไหน ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครบอกได้ แต่ที่สุพรรณบุรีนั้นไม่ใช่
อ้าว!
พงศาวดารหลายฉบับบันทึกไว้ตรงกันว่า เมื่อวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทำยุทธหัตถี ฟันพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีขาดคาคอช้างแล้ว
“ตรัสให้ก่อพระเจดีย์สถานสวมพระศพพระมหาอุปราชาไว้ ณ ตำบลตะพังตรุ”
แม้พงศาวดารพม่าจะแย้งว่า เมื่อพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์แล้ว ทัพพม่าก็เข้ากันพระศพแล้วนำกลับไปกรุงหงสาวดี ไม่ได้ถูกครอบไว้ในพระเจดีย์อย่างพงศาวดารไทยว่า แต่ก็เป็นที่แน่ชัดว่า หลังจากทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อพระมหาอุปราชาแล้ว สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นที่บริเวณชนช้างองค์หนึ่ง แล้วกลับไปสร้างเจดีย์ใหญ่อีกองค์ที่วัดเจ้าพระยาไทย หรือวัดป่าแก้ว ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” ซึ่งก็คือพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่วัดชัยมงคลในปัจจุบันนั่นเอง
แต่เจดีย์ที่สร้างขึ้นตรงที่ทรงทำยุทธหัตถีนั้น ถูกทอดทิ้งอยู่ในป่ามาเป็นเวลาร้อยๆปีจนหาไม่พบ
ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการรื้อฟื้นที่จะหาเจดีย์ยุทธหัตถีขึ้นมาอีก โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับสั่งให้พระยากาญจนบุรี (นุช) ไปค้นหาเจดีย์เก่าแถวบ้านตะพังตรุ แต่ก็ไม่พบเจดีย์ที่มีลักษณะน่าจะเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เมื่อครั้งยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้นำสมุดเก่าเล่มหนึ่งมาถวายกรมพระยาดำรงฯ อ้างว่าไปพบขณะยายแก่คนหนึ่งกำลังนำกระดาษเก่าๆ ใส่กระชุจะเอาไปเผา เมื่อขอค้นดูก็พบสมุดเล่มนี้ซึ่งบันทึกเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไว้ ต่อมากรมพระยาดำรงฯ ให้เรียกสมุดเล่มนี้ว่า “พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ” ซึ่งนอกจากพงศาวดารเล่มนี้จะจารึกวันเดือนปีของเหตุการณ์ต่างๆได้แม่นยำน่า เชื่อถือกว่าพงศาวดารฉบับอื่นๆแล้ว ยังระบุว่าพระมหาอุปราชามาตั้งทัพที่ตำบลตะพังตรุ แล้วมาทำยุทธหัตถีที่หนองสาหร่าย ขณะที่พงศาวดารฉบับอื่นๆระบุไว้ตรงกันว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีที่ตะพังตรุ ซึ่งทำให้นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าพงศาวดารฉบับนี้ทำขึ้นมาใหม่ เพื่อหวังผลอะไรบางอย่าง
เมื่อมีการระบุว่าทรงทำยุทธหัตถีที่หนองสาหร่าย กรมพระยาดำรงฯ จึงรับสั่งให้พระยาสุพรรณบุรี (อี้ กรรณสูต) ไปสืบดูว่าสุพรรณบุรีมีตำบลชื่อหนองสาหร่ายหรือไม่ ถ้ามีก็ให้ออกค้นหาเจดีย์ที่มีลักษณะน่าจะเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี
ไม่ถึงเดือนพระยาสุพรรณบุรีรายงานเข้ามาว่า พบเจดีย์โบราณอยู่ในป่าที่เรียกกันว่า “ดอนเจดีย์” ทางตะวันตกของตัวเมือง ซ่อนอยู่ในป่ารกทึบ ชาวบ้านได้ถางทางเข้าไปให้ พร้อมทั้งถ่ายรูปมาถวาย ซึ่งกรมพระยาดำรงฯนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “โบราณคดี” ว่า
“พอฉันเห็นรายงานกับรูปฉายที่พระยาสุพรรณบุรีส่งมาให้ก็สิ้นสงสัย รู้ว่าพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นแน่แล้ว มีความยินดีแทบเนื้อเต้น รีบนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”
รัชกาลที่ ๖ ทรงยกขบวนเสือป่ากองพลหลวงรักษาพระองค์พร้อมทหารมหาดเล็ก รอนแรมจากพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๕๖ ถึงพระเจดีย์ในวันที่ ๒๗ มกราคม ทรงพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรในวันรุ่งขึ้น ทรงดำริจะเสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ แต่เศรษฐกิจยามนั้นตกต่ำมาก ต่อมาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็เริ่มขึ้นในยุโรป ทำให้โครงการก่อสร้างต้องระงับไว้
เจดีย์ยุทธหัตถีถูกรื้อฟื้นกันใหม่ในปลายยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยเรี่ยไรจากประชาชนและนำเงินกองทัพมาสนับสนุน สร้างเจดีย์ใหญ่ครอบเจดีย์เดิม แล้วเสร็จในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำพิธีเปิดได้ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๐๒
เจดีย์ยุทธหัตถีจึงปรากฏอยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งแต่เดิมเป็นตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์
แม้ทางราชการและกรมศิลปากรจะสรุปยืนยันแล้วว่า เจดีย์ยุทธหัตถีที่จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นของแท้แน่นอน แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนก็มีความเห็นว่า “สรุปง่ายเกินไป” ยังมีเจดีย์โบราณที่ทรุดโทรมสึกกร่อน เอียงคดงอ อีกองค์หนึ่ง อยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านในย่านนั้นมีความเชื่อกันว่า เจดีย์แห่งนี้เป็นเจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างไว้บริเวณชน ช้าง เพราะมีสภาพแวดล้อมหลักฐานหลายอย่างที่น่าเชื่อถือ
ในปี ๒๕๑๕ นสพ.รายวันลงข่าวกันเกรียวกราวว่า พบพระเจดีย์ยุทธหัตถีองค์จริงอยู่ที่พนมทวน กาญจนบุรี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาและเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ได้เสด็จไปทอดพระเนตรพระ เจดีย์และพระปรางค์ที่อยู่ห่างไปราว ๒๐๐-๓๐๐ เมตรเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๑๕
ต่อมาวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาและเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ได้เสด็จมาแวะขณะกลับจากพระราชกรณียกิจที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี
“หลังจากนั้น ตอนที่ในหลวงท่านมาประทับที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนแม่กลองในปัจจุบัน) ท่านก็ขับรถมาด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครติดตามมาเลย”
มนูญ เสริมสุข ชายวัยราว ๔๐ คนพื้นที่ ซึ่งตอนนั้นมาเปิดซุ้มโคคาโคล่าขายเครื่องดื่มและไอศกรีมอยู่ข้างวงเวียน เจดีย์ ให้ข้อมูลกับผู้เขียนเมื่อปี ๒๕๔๒ และรายงานข่าวพิเศษที่ นสพ.ไม่ได้รายงานว่า
“ท่านมาจอดรถถามคนที่ทุ่งสมอว่า เจดีย์ยุทธหัตถีไปทางไหน เขาก็ชี้ทางให้ พอท่านไปแล้วไอ้คนที่ถูกถามก็มองตามไปอย่างงงๆ ว่าหน้าเหมือนในแบงก์ ท่านมาถึงก็เดินดูพระเจดีย์และคุยกับเด็กที่เลี้ยงควายอยู่แถวนั้น คุยกันซักพักพอไอ้หมอนั่นจำได้ว่าเป็นในหลวง ก็ทรุดลงนั่งพูดอะไรไม่ออกเลย ตอนนี้เด็กเลี้ยงควายนั่นเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ที่นี่”
ท่านผู้เฒ่า ๒ คนซึ่งอยู่บนศาลสมเด็จพระนเรศวร ข้างวงเวียน ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แถวนี้ยังเต็มไปด้วยกองกระดูกทั้งคน ช้าง ม้า เกลื่อนอยู่บนดิน เหมือนไม่มีการฝัง ตายก็ปล่อยให้เน่าเปื่อยอยู่อย่างนั้น และที่พระปรางค์ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางหลังศาล ก็มีกระดูกกองใหญ่เหมือนรวบรวมเอามาไว้ที่นั่นได้จำนวนหนึ่ง ในดินนอกจากขุดพบกระดูกช้าง ม้า และกระดูกคนมากมายแล้ว ยังพบเครื่องศัตราวุธและเครื่องช้างศึกม้าศึก เช่น หอก ดาบ ยอดฉัตร โกลนม้า ขอสับช้าง โซ่ล่ามช้าง แป้นครุฑจับนาค แป้นครุฑขี่สิงห์จับนาค ซึ่งแสดงว่าสถานที่นี้ต้องเป็นที่ทำสงครามครั้งใหญ่
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอีกหลายอย่างที่อ้างว่า เจดีย์ยุทธหัตถีของอำเภอพนมทวนเป็นของแท้ อย่างเช่น
บรรดาชื่อตำบลต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารเกี่ยวกับยุทธหัตถีครั้งนี้ ล้วนแต่มีอยู่ในอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีทั้งนั้น อย่างเช่น หนองสาหร่าย ตะพังตรุ โดยเฉพาะพงศาวดารหลายฉบับระบุชัดว่าชนช้างกันที่ตะพังตรุ มีแต่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ฉบับเดียวบอกว่าชนช้างที่หนองสาหร่าย
พงศาวดารฉบับอื่นๆ ระบุว่าสมเด็จพระนเรศวรตั้งทัพที่หนองสาหร่าย แล้วทรงทำยุทธหัตถีที่ตะพังตรุ ซึ่งหนองสาหร่ายที่พนมทวนห่างจากองค์เจดีย์ที่พนมทวนราว ๑๖-๑๗ กม. ชาวดอนเจดีย์เคยวิ่งทดสอบกันมาแล้ว ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปได้ที่ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรกำลังตกมันจะได้กลิ่นช้างของพระ มหาอุปราชาแล้วพุ่งเข้าไปหา แต่ถ้าพระมหาอุปราชามาชุมนุมพลที่ตะพังตรุ อำเภอพนมทวน แล้วไปชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรที่หนองสาหร่าย สุพรรณบุรี ซึ่งห่างไป ๙๐ กม.ตามที่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้
หลังจากสมเด็จพระนเรศวรฟันพระมหาอุปราชาขาดคาคอช้างแล้ว พงศาวดารว่ากองทัพไทยตามไปทันพอดี จึงไล่ฆ่าฟันทหารพม่าอย่างมันมือไปถึงเมืองกาญจน์ ตายไป ๒๐,๐๐๐ คน จับช้างใหญ่สูง ๖ ศอกได้ ๓๐๐ เชือก ช้างพลายพัง ๕๐๐ เชือก ม้าอีก ๒,๐๐๐ เศษ
ระยะทางจากดอนเจดีย์ พนมทวน ไปถึงเมืองกาญจน์ประมาณ ๑๗ กม. ไล่ล่ากันในวันเดียวจึงเป็นไปได้ แต่ถ้าไล่ล่ากันจากเจดีย์ยุทธหัตถีที่สุพรรณบุรีถึงเมืองกาญจน์กว่า ๑๐๐ กม. กี่วันจะถึง
เส้นทางเดินทัพทั้งของพม่าและของไทยที่เข้าออกทางด่านเจดีย์สามองค์ จะต้องผ่านมาทางทุ่งลาดหญ้า เขาชนไก่ (เมืองกาญจน์เก่า) ปากแพรก พนมทวน (บ้านทวน) อู่ทอง สุพรรณบุรี ป่าโมก อยุธยา ไฉนจะไปชนช้างกันที่ศรีประจันต์นอกเส้นทาง
ในพงศาวดารฉบับ “วันวลิต” ชาวฮอลันดาที่เข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาที่ใกล้วัดร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งที่พนมทวนห่างพระเจดีย์ไป ๑.๕ กม.ก็มีโบสถ์เก่า เจดีย์เก่าอยู่ที่วัดน้อยในปัจจุบัน
อีกทั้งพื้นที่เจดีย์ยุทธหัตถีพนมทวนเป็นที่ดอนดินทราย หมู่บ้านที่ติดกับองค์เจดีย์ก็มีชื่อว่าหมู่บ้านหลุมทราย บริเวณแถบนี้ล้วนเป็นดินทราย จึงเกิดฝุ่นผงคลีดินฟุ้งกระจายจนมืดมิดตามบรรยากาศในวันทรงทำยุทธหัตถีได้
เหตุผลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า สถานที่ทรงทำยุทธหัตถีอยู่ที่พนมทวน
เดิมเจดีย์นี้อยู่ในวงเวียนซึ่งมีพื้นที่เพียง ๖ งานเท่านั้น ต่อมาชาวบ้านบริจาคที่รอบๆให้อีกจนเป็น ๗๒ ไร่ แต่ยกให้หน่วยงานไหนก็ไม่มีใครเอา จังหวัดบอกว่าไม่มีงบดูแล กรมศิลปากรก็ไม่เอา การท่องเที่ยวก็ไม่เอา จนในราวปี ๒๕๓๔ หลวงพ่อทวีศักดิ์ แห่งวัดศรีนวล ซึ่งทราบว่าท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ เป็นผู้นิมนต์มา เห็นว่าไม่มีใครบูรณะท่านก็เลยบูรณะเอง ขุดคูล้อมที่ทั้งหมดรวมทั้งที่ชาวบ้านบริจาค แล้วถมดินให้สูงขึ้น ปลูกปาล์มน้ำมันรอบวงเวียน แต่เมื่อกรมศิลปากรเข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ก็ขุดปาล์มน้ำมันรอบวงเวียนออกไปปลูกไว้ด้านหลังของพื้นที่
ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๒ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ โบราณสถานเจดีย์ยุทธหัตถีที่พนมทวน ทรงเป็นประธานทอดผ้าป่ามหากุศล สมทบทุนค่าก่อสร้าง ได้เงินถึง ๒,๔๘๓,๓๖๑ บาท
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทาน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
สมเด็จพระสังฆราช ประทานอีก ๑,๐๔๔,๐๐๐ บาท
องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งงบอุดหนุน ๓,๑๑๑,๑๒๐ บาท
ทั้งยังมีผู้บริจาคสมทบอีกเป็นจำนวนมาก จนมีงบประมาณค่าก่อสร้างถึง ๓๐ ล้านบาท
พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ก็เช่นเดียวกับสุพรรณบุรี ที่ไม่ได้สร้างเป็นพระบรมรูปทรงยุทธหัตถี แต่เป็นสมเด็จพระนเรศวรประทับบนเจ้าพระยาไชยานุภาพ ช้างพระที่นั่งที่ชนชนะศึก ซึ่งภายหลังเปลี่ยนนามเพิ่มเกียรติเป็น “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี” โดยมีขนาดใหญ่เป็น ๒ เท่าครึ่งของตัวจริง สูง ๕ เมตร น้ำหนัก ๒๐ ตัน มีป้ายชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดกาญจนบุรี”
การก่อสร้างนี้ก็ไม่ได้สร้างในบริเวณเดิมที่กรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชี เป็นโบราณสถานไว้ แต่ชาวบ้านบริจาคที่ดินติดกันให้อีก ๒๐ ไร่ ตัดถนนสายใหม่จากด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ ยาว ๔.๒ กม. ไปเชื่อมถนนสายกาญจนบุรี-อู่ทอง และสร้างอาคารเรียงรายขึ้นหลายหลัง ใช้เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบในบริเวณนี้
ขณะนี้ อนุสรณ์สถานเจดียุ์ทธหัตถีจึงมีอยู่ ๒ แห่ง คือที่ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี และดอนเจดีย์ กาญจนบุรี ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะมีแห่งที่ ๓ มาท้าชนอีกก็เป็นได้
แต่ที่ใดจะเป็นของแท้ ก็คงต้องถกเถียงกันต่อไป เถียงกันโดยค้นคว้าหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มายืนยัน ซึ่งก็จะเป็นการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ในช่วงสำคัญของชาตินี้มาสู่ความสนใจ ของคนในยุคปัจจุบัน ให้เกิดความภูมิใจในความเป็นมาของชาติไทย
เจดีย์ยุทธหัตถีถูกทิ้งร้างไว้ในป่ามากว่า ๔๐๐ ปีแล้ว คงไม่มีใครมายืนยันได้ว่าอยู่ตรงไหนแน่ ได้แต่สันนิษฐานกันไป แต่ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ก็ไม่ทำให้วีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในการกอบกู้เอกราชของชาติต้อง เปลี่ยนไป ทุกแห่งเป็นอนุสรณ์สถานที่เชิดชูวีรกรรมของพระองค์ที่มีคุณต่อชาติอย่างใหญ่ หลวง เตือนใจให้คนไทยที่รักและหวงแหนในแผ่นดินไทย ภูมิใจในวีรกรรมของพระองค์ได้เสมอกันทุกอนุสรณ์สถาน
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดกาญจนบุรี
หัวกะโหลกช้างที่ขุดจากรอบเจดีย์โบราณที่กาญจนบุรี
ข้อมูลต่างๆในศาลาข้างเจดีย์โบราณที่อ้างว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต