จากประชาชาติธุรกิจ
จริง ๆ แล้วตลอดชีวิตการทำงาน ผมขึ้นเขา ลงห้วยอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งไปแล้วผ่านเลย แต่บางครั้งทำให้เราอยากไปอีก อยากไปดูว่าสิ่งที่พวกเขาลงทุนลงแรงทำในสิ่งที่เขาสานฝันวันนั้น งอกงามออกมาเช่นใดบ้าง
ประสบความสำเร็จหรือไม่ ?
หรือมีอุปสรรคใด ๆ ให้ช่วยบ้าง ?
แม้คนคนนั้นจะเป็นคนเล็ก ๆ ของสังคมที่กว้างใหญ่ก็ตาม
เหมือน อย่างล่าสุดที่ผมมีโอกาสไปไร่กาแฟบนดอยปางขอน ต.ห้วยชมภู อ.เมือง จ.เชียงราย ถ้าจะให้พูดตามตรง ผมเองเคยไปไร่กาแฟมาหลายพื้นที่แล้ว ทั้งภาคเหนือ และภาคใต้ แต่ทำไมผมถึงสนใจไร่กาแฟบนดอยปางขอน
ดอยปาง ขอนสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตรขึ้นไป ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการปลูกกาแฟสายพันธุ์อราบิก้า เชอรี่ บ๊วย ลูกท้อ แมกคาเดเมีย สตรอว์เบอรี่ และอื่น ๆ
ทั้งยังมีชาวเขาเผ่าต่าง ๆ อาศัยปะปนกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอีก้อ อาข่า ม้ง ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ
อาชีพดั้งเดิมของพวกเขา ตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงรุ่นพ่อเคยปลูกฝิ่นมาก่อน กระทั่ง
พ่อ หลวง (ในหลวง) ทรงเข้ามาในพื้นที่ ด้วยการพระราชทานกาแฟสายพันธุ์อราบิก้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาให้หันมาปลูกกาแฟทดแทนการปลูกฝิ่น
ขณะ นั้น ราว 30 กว่าปีมาแล้ว พื้นที่บริเวณโดยรอบขุนเขาจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่บางส่วน ปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมาก จนทำให้ป่าไม้ถูกทำลายลง ขณะเดียวกัน ปัญหายาเสพติดเริ่มระบาดอย่างหนัก
จนกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ
ดังนั้น เมื่อต้นกาแฟของพ่อเข้ามาในหมู่บ้าน จึงเป็นเรื่องปีติยินดีล้นพ้น และไม่แต่เฉพาะชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่ได้รับกาแฟพระราชทาน
หากครอบครัว "ยาแปงกุ่" ชาวเขาเผ่าอาข่า ก็ได้รับพระราชทานต้นกาแฟของพ่อด้วยเช่นกัน
พวกเขาปลูกกาแฟมาตั้งแต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่
กระทั่งมาถึง"อาโซยาแปงกุ่"วัย 32 ปี ลูกชายของ "แม่" "บูเปาะ ยาแปงกุ่" เขาก็ยังปลูกกาแฟเช่นเดิม แม้ตลอดฤดูแห่งการเพาะปลูกผ่านมา ผลผลิตจะไม่ดีมาก แต่เขาเชื่อว่าวันหนึ่งผลผลิตจะดีขึ้น
แต่มันก็ไม่ดีขึ้นเลย
ถาม "อาโซ" ว่าท้อไหม...เขาบอกว่าไม่เลย...เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้เป็น สิ่งที่วิเศษที่สุดในชีวิตแล้วจะมีใครสักกี่คนที่ได้ปลูกกาแฟของพ่อสำคัญไป กว่านั้นทุกวันนี้ต้นกาแฟของพ่อยังยืนต้นตระหง่านอยู่ในไร่ของเขา
ทั้งยังถูกขยายพันธุ์ไปทั่วอาณาบริเวณกว่า200ไร่
ที่ ไม่เพียงจะทำให้พี่น้องของเขาที่เคยพลัดพรากจากกันเพื่อไปทำงานหาเงินในต่าง ประเทศกลับมา หากพวกเขายังช่วยกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อพัฒนาไร่กาแฟ
จนทำให้พวกเขาคิดการใหญ่ด้วยการสร้างแบรนด์กาแฟขึ้นมา ในชื่อ "ASO COFFEE DOI PANG KHON" ด้วยการนำรูป "แม่" "บูเปาะ ยาแปงกุ่" มาเป็นโลโก้
ที่ ปัจจุบันไม่เพียงวางขายในร้านกาแฟของเขาเองบนดอยปางขอน เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาแวะชมดอกพญาเสือโคร่ง (ซากุระ) แวะชิม หากยังวางขายที่ไร่กาแฟ Canary Resort ของ "ภัทรศักดิ์ โอสถานุเคราะห์" เจ้าของไร่กาแฟ ที่เปรียบเสมือนพี่ และกัลยาณมิตรที่ดีสำหรับเขาด้วย
เพราะ "ภัทรศักดิ์" ไม่เพียงช่วย "อาโซ" ในการหาผู้มีองค์ความรู้มาช่วยพัฒนาทุกกระบวนการสำหรับการเพาะปลูกกาแฟ หากยังช่วยสร้างแบรนด์ ทำแพ็กเกจจิ้ง และการตลาด เพื่อให้ "ASO COFFEE DOI PANG KHON" เป็นที่ยอมรับในตลาด
"อาโซ" บอกว่าหากไม่มี "ภัทรศักดิ์" ในวันนั้น ก็คงไม่มี "อาโซ" ในวันนี้
"เพราะผมเก่งแต่ปลูก ไม่มีความรู้เรื่องการบริหารเลย"
ขณะ ที่ "ภัทรศักดิ์" เก่งเรื่องบริหารจัดการ แต่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องการเพาะปลูก ดังนั้น เมื่อเขานำจุดแข็งทั้งสองส่วนมาผสมกัน จึงทำให้ "ASO COFFEE DOI PANG KHON" กลายเป็นที่รู้จักในตลาดทั้งยังมีเป้าหมายที่จะไปอวดโฉมในต่างประเทศด้วย
สำคัญ ไปกว่านั้น เขาทั้งสองคนต่างมีความเชื่อว่า "ASO COFFEE DOI PANG KHON" กำเนิดจากต้นกาแฟของพ่อที่ดอยปางขอน เพราะฉะนั้น ในอนาคตหากกาแฟของเขาประสบความสำเร็จในธุรกิจ มีโอกาสสยายปีกไปในตลาดต่างประเทศจริง ๆ
ทุกคนที่เป็นลูกค้าจะได้รับรู้ถึงเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในกาแฟของเขาด้วย
ถามว่ามีความเป็นไปได้ไหม?
มี ความเป็นไปได้อย่างแน่นอนเพราะฉะนั้นถ้าใครมีโอกาสไปยังไร่กาแฟ Canary Resort อ.เมือง จ.เชียงราย คุณก็จะได้เจอ "อาโซ" และ "นูสือ" สองสามีภรรยาทำหน้าที่เป็นบาริสต้าอย่างขะมักเขม้น
เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชิมกาแฟคุณภาพ
หรือถ้าใครอยากรู้เรื่องกาแฟของพ่อลองถามเขาดูรับรองคุณจะสัมผัสได้ถึงความปีติที่ซ่อนอยู่ในทุกอณูของตัวเขา
ที่ไม่ธรรมดาเลย?
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต