จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
กรมอนามัย แนะท่านั่ง ท่าบริหารร่างกาย ใบหน้า คลายเมื่อยคลายง่วงระหว่างขับรถยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ ชี้ เลี่ยงอาหารประเภทแป้ง ขนมปัง ของหวาน เน้นกินผลไม้ให้วิตามินซีสูง
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนนิยมขับรถเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด การขับรถนานเกินไปทำให้เกิดอาการปวดหลังและความเมื่อยล้า โดยเฉพาะผู้ที่นิยมเลื่อนเบาะที่นั่งให้ชิด หรือห่างจากพวงมาลัยมากเกินไปจะเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดหลังได้ จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการนั่งขับรถให้ถูกต้อง โดยเลื่อนเบาะที่นั่งให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับตนเอง หลังพิงพนักพอดี ไม่นั่งห่างหรือชิดพวงมาลัยมากเกินไปเพราะจะทำให้หลังโค้ง พิงพนักไม่ได้ หรือพิงได้แต่เวลาขับต้องเหยียดแขนและเข่ามากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งหากมีอาการปวดหลังเป็นเวลานานและไม่มีการดูแลอย่างถูกวิธี อาจทำให้เสี่ยงปวดหลังถาวรได้
นพ.วชิระ กล่าวว่า ผู้ขับรถยนต์ทางไกลสามารถลดอาการเมื่อยล้าได้เมื่อจอดพัก ด้วยการบริหารร่างกาย 6 ท่าคือ
ท่าที่ 1 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อปลายแขนด้านหน้า หงายฝ่ามือซ้าย ยกแขนเหยียดตึงระดับไหล่ ใช้มือขวาจับที่ฝ่ามือซ้ายแล้วดึงเข้าหาตัวเอง รู้สึกตึงให้ค้างไว้ 10 - 30 วินาที จากนั้นทำอีกข้างหนึ่ง
ท่าที่ 2 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อปลายแขนด้านหลัง คว่ำฝ่ามือซ้าย ยกแขนเหยียดตึงระดับไหล่ ใช้มือขวาจับที่หลังมือซ้ายแล้วดึงเข้าหาตัวเอง รู้สึกตึงให้ค้างไว้ 10 - 30 วินาที จากนั้นทำอีกข้างหนึ่ง
ท่าที่ 3 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อคอ บ่าและไหล่ มือซ้ายจับไหล่ขวา ยกศอกขนานกับพื้น ใช้มือขวาจับศอกซ้ายเข้าหาตัวเองแล้วบิดคอมาทางด้านซ้าย ค้างไว้ 10 - 30 วินาที จากนั้นทำอีกข้างหนึ่ง
ท่าที่ 4 บริหารหัวไหล่ ยกไหล่หมุนไปข้างหน้า 5 - 10 ครั้ง แล้วหมุนไหล่กลับไปด้านหลัง 5 - 10 ครั้ง
ท่าที่ 5 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังและลำตัว นั่งหลังตรง มือขวาและซ้ายเอื้อมไปจับพนักพิงด้านซ้าย จากนั้นบิดตัวไปทางด้านซ้ายโดยใช้มือช่วยในการบิด ค้างไว้ 10 - 30 วินาที จากนั้นทำอีกข้างหนึ่ง และ
ท่าที่ 6 บริหารเท้า นั่งเหยียดขาออกไปด้านหน้า ยกเท้าให้ลอยขึ้นพ้นพื้น จากนั้นกระดกปลายเท้าขึ้น - ลง ทำ 5 ครั้ง แล้วสลับข้าง ซ้าย - ขวา จะช่วยคลายเมื่อยได้
“สำหรับการบริหารใบหน้า เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ขับรถคลายง่วง มีวิธีการง่าย ๆ เริ่มจาก
ท่าที่ 1 เอียงศีรษะไปทางขวา ค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นย้ายมาข้างซ้าย ทำสลับไปมา
ท่าที่ 2 เอียงหน้าไปทางขวาค้างไว้ 5 วินาที กรอกตาขึ้นลง 5 วินาที หันไปทางด้านซ้ายทำเหมือนเดิม ทำซ้ำ 2 - 10 ครั้ง
ท่าที่ 3 แลบลิ้นออกมาให้ยาวที่สุดค้างไว้ 60 วินาที
ท่าที่ 4 ยกคิ้วขึ้นเปิดตาให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห่อปาก ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 5 เปิดตาให้กว้างที่สุดโดยไม่ต้องยกคิ้วขึ้น ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 6 เงยหน้ามองที่เพดาน ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 7 หายใจเข้าลึก ๆ ขณะหายใจออกให้ห่อปากพ่นลมหายใจออกมาพร้อมกัน ทำท่านี้ 30 วินาที ถึง 1 นาที และ
ท่าที่ 8 ให้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางติดกัน วางไว้บนโหนกแก้มขวา กดลงเล็กน้อย จากนั้นให้ยิ้มกว้างเพื่อยกโหนกแก้มให้สูงขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นสลับมาด้านซ้าย ทำซ้ำเหมือนเดิม สลับไปมา ข้างละ 3 ครั้ง จะช่วยผ่อนคลายและแก้ง่วง” นพ.วชิระ กล่าว
นพ.วชิระ กล่าวว่า ระหว่างเดินทางไม่ควรกินอาหารประเภทแป้ง ขนมปังขาว ข้าวขาว และข้าวเหนียว เพราะการกินคาร์โบไฮเดรตในอาหารมื้อใหญ่ในปริมาณมาก แต่กินโปรตีนต่ำ ทำให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารในปริมาณมาก เป็นเหตุให้เลือดไหลหมุนเวียนไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายน้อยลง พลังงานโดยรวมลดลง โดยเฉพาะสมอง ทำให้รู้สึกง่วงซึม เฉี่อยชา นอกจากนี้ การกินคาร์โบไฮเดรตประเภทของหวานและน้ำตาลสูง แต่กินผักผลไม้และธัญพืชน้อย จะทำให้เกิดความไม่สมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด มีความรู้สึกอ่อนเพลีย กระวนกระวาย ฉุนเฉียว หงุดหงิด ควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก เครื่องดื่มที่มีฟอง เลือกผลไม้ที่มีวิตามินซี ก่อนขับรถทางไกลทุกครั้ง ผู้ขับควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมง เตรียมผ้าเย็นเวลาง่วงและสวมแว่นตากันแดดขณะขับรถ ที่สำคัญ ควรตรวจสภาพของรถยนต์ให้พร้อมใช้งาน และมีสติตลอดเวลาขณะขับรถก็จะช่วยลดอุบัติเหตุได้
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต