จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมงานลูกแม่มูล
เมื่อ 60 ปีก่อน ย้อนอดีตไปเดือน พ.ย. 2498 หน้าประวัติศาสตร์ถูกบันทึกเรื่องราวของพระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศไว้ น่าภาคภูมิใจยิ่งนัก
วันที่ 2-20 พ.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีหมายกำหนดการเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด เป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความตื่นเต้นยินดีแก่ราษฎรเป็นอย่างยิ่ง ด้วยยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเคยเสด็จฯ เช่นนี้มาก่อน โดยทรงเยี่ยมราษฎรของพระองค์โดยทั่วถึง ภาคอีสานในขณะนั้นเป็นพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร และยังเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย
16 จังหวัดของภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ (ต่อมามีการตั้งจังหวัดใหม่ ได้แก่ ยโสธร และอำนาจเจริญ)
เส้นทางเสด็จฯ เริ่มต้นโดยทางรถไฟ จากสถานีจิตรลดา ทอดยาวตามเส้นทางรางรถไฟ มุ่งหน้าสู่ดินแดนที่ราบสูง บางเส้นทางใช้รถยนต์พระที่นั่ง เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ จนเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจ
แม้การสื่อสารในยุคนั้นจะยังไม่ทันสมัย แต่การกระจายข่าวแบบ “ปากต่อปาก” ก็ได้ทำให้ราษฎรรับรู้กันอย่างรวดเร็ว ทั่วถ้วนยิ่งกว่าพลังจากสื่อประเภทต่างๆ คนที่อยู่บ้านไกลก็เตรียมตัวเดินทางล่วงหน้าหลายวัน ด้วยเกรงว่าจะไปไม่ทัน คนบ้านใกล้ก็เตรียมโต๊ะบูชา ประดับป้ายผ้า ธงทิว แทบทุกคนเตรียมผ้าขาว ผ้าเช็ดหน้า สำหรับให้ในหลวงประทับรอยพระยุคลบาทเพื่อเก็บไว้เป็นสิริมงคล
ตามรอยบันทึกของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่รอเฝ้าฯ รับเสด็จในทุกเส้นทางเสด็จฯ ความว่า…
ปะรำกลางสนามหน้าศาลากลางของทุกจังหวัดนั้น แม้จะมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดีแล้ว ปะรำเหล่านั้นมักจะไม่พอแก่จำนวนราษฎรเรือนหมื่นเรือนแสนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วยความจงรักภักดีทุกที่ไป…
…มีบางจุดของการเสด็จฯ ผ่านไป มีคุณยายคนหนึ่งปูผ้ารอไว้ ให้ทรงประทับรอยพระยุคลบาท ปรากฏว่า เสด็จฯ เลยไปแล้ว คุณยายจึงร้องทูลว่า …บักหล่ามาทางนี้ มาเหยียบผ้าให้ยายหน่อย…ทรงแย้มพระโอษฐ์ แล้วเสด็จมาประทับรอยพระบาทให้ คุณยายพับผ้าขึ้นจบหน้าผาก แล้วหันไปยิ้มกับคนข้างๆพลางรำพึงว่า …ว่าง่ายแท้ น่ารัก…
…จุดที่มีราษฎรมากันจนแน่นขนัด ร้อนแดดเผา แต่ไม่มีใครแสดงอาการใดๆ ต่างยิ้มแย้ม แบ่งปันพื้นที่กันอย่างสามัคคีเพราะพวกเขามีจุดหมายเดียวกัน คือมาชื่นชมพระบารมีในหลวง ข้าราชบริพารบางคนฉุกใจคิดขึ้นมาว่า …เอ… ถ้าเจ้าของบ้านมากันเสียหมดในวันนี้ ขโมยคงสบาย แต่มีบางคนแย้งขึ้นว่า ไม่เป็นไรดอก เพราะวันนี้ขโมยก็คงหยุดงาน ไปรับเสด็จเหมือนกัน…
ในระหว่างทางเสด็จฯ มักจะมีราษฎรถวายสิ่งของต่างๆ ซึ่งเป็นของบ้านๆ ของพวกเขา อาทิ ปืนลมฝีมือคนไทย ส้มซ่ากล้วยน้ำว้าที่งอมมากจนเป็นสีดำไปครึ่งหวีมาถวายพระราชินีท่านทรงรับไว้ ยังความปลาบปลื้มใจให้ผู้ถวายยิ่งนัก
ห้วงเวลาระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถึง จ.อุบลราชธานี และประทับแรมที่ค่ายทหารกองพลที่ 6
วันที่ 17 พ.ย. 2498 ราษฎรชาวอุบลราชธานีจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญถวายตามประเพณีท้องถิ่นที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร หลังจากเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรที่มารอเฝ้าฯ รับเสด็จแล้ว ได้เสด็จฯ ต่อไปยังพลับพลาหน้าศาลากลางจังหวัด ซึ่งมีราษฎรมารอเฝ้าฯ รับเสด็จเป็นจำนวนมาก รวมทั้งชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ใน จ.อุบลราชธานี
นอกจากนี้ ชายาเจ้าราชดนัย เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ได้นำพระญาติข้ามฝั่งจากประเทศลาวมารับเสด็จด้วย ในโอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้น้อมเกล้าฯ ถวายงาช้างและเกวียนเทียมโคที่แกะจากปุ่มไม้ประดู่ ผู้กำกับการตำรวจภูธรถวายลูกช้าง ชื่อ “พลายบุญเลิศ” ซึ่งแม่ถูกยิงตายและว่ายน้ำข้ามมาจากฝั่งลาว จากนั้นเสด็จฯ ต่อไปยังแก่งสะพือ
เมื่อเสด็จฯ ถึงแก่งสะพือ จ.อุบลราชธานี ทรงถ่ายภาพยนตร์ไว้เป็นที่ระลึกและพระราชทานพระปรมาภิไธยบนแผ่นหิน และยังประดิษฐานอยู่ที่แก่งสะพือจนถึงปัจจุบัน และประทับบนเครื่องบินพระที่นั่งเพื่อชมภูมิประเทศ จากนั้นทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรการหาปลาของชาวบ้านทรงพระราชปฏิสันถารกับชาวประมงคนหนึ่ง
เขาเล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้น ว่า … ตอนนั้นผมหาปลาอยู่กลางแม่น้ำมูล เห็นคนที่ฝั่งกวักมือเรียก พอดูๆก็จำได้ว่า ท่านคือในหลวง ผมเดินลุยน้ำเข้าไปหาด้วยความกลัว โยนข้องปลาทิ้ง เพราะกลัวว่าจะถูกจับ แต่นายทหารที่ติดตามมา บอกว่า อย่าทิ้ง…อย่าทิ้ง ในหลวงท่านอยากดูปลา ผมจึงนั่งลง ในหลวงท่านก็นั่งยองๆ ขอดูปลาในข้อง และท่านถามว่า “ปลาอะไร” ผมตอบว่า ปลาเขี้ยวไก้ (ปลาหมู) ในหลวง บอกว่า “สวยดีนะ” แล้วให้คนเอาขวดโหลมาใส่และให้เงินผมมา 20 บาท ผมไม่เคยนึกฝันว่าจะได้เข้าเฝ้าฯใกล้ชิดแบบนี้ ผมไม่เคยลืมมาตลอดชีวิต คิดคราวใดเหมือนเกิดขึ้นตรงหน้าทุกทีเลยครับ...
ก่อนเสด็จฯ กลับทรงเยี่ยมราษฎรโดยรถยนต์พระที่นั่ง เป็นการลำลอง ทั่วทุกถนนในเมืองอุบลราชธานีร่วม 3 ชั่วโมง ทุกบ้านตั้งโต๊ะหมู่บูชา ประดับโคมไฟทั่วทั้งเมือง
วันที่ 19 พ.ย. 2498 เมื่อถึงวันเสด็จฯ กลับ ตลอดเส้นทางจากที่ประทับแรมจนถึงสถานีรถไฟอุบลราชธานีคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนจำนวนมากที่มารอส่งเสด็จ
แม้ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ขึ้นประทับรถไฟพระที่นั่งแล้ว แต่รถไฟยังไม่สามารถเคลื่อนขบวนได้ เพราะข้าราชบริพารที่ตามเสด็จไม่สามารถฝ่าฝูงชนมาขึ้นรถไฟได้ทัน
กาลที่ผ่านไปยังอยู่ในความทรงจำของพระพสกนิกรหลายแสนคนที่มี “ครั้งแรกในชีวิต” ที่มีความหมายกับพวกเขามากมาย พวกเขาเพิ่งเข้าตัวเมืองเป็นครั้งแรก เพิ่งเห็นวิทยุเป็นครั้งแรก เพิ่งรู้จักน้ำแข็ง เพิ่งรู้จักฝรั่งว่าหน้าตาเป็นแบบนี้ และเทียบไม่ได้แม้เพียงซีกเสี้ยวของการที่พวกเขาได้ “เห็น” ได้ “สัมผัส” ได้ “พูดคุย” กับในหลวงและพระราชินีของพวกเขาเป็นครั้งแรกที่จดจำไปชั่วชีวิต
พวกเขาและลูกหลานเปล่งเสียงดังกึกก้องท้องนา ท้องน้ำ และตลอดเส้นทางของรางรถไฟที่เสด็จฯ ผ่าน …ทรงพระเจริญ…ทรงพระเจริญ…ทรงพระเจริญ...
ในโอกาสครบ 60 ปี ของการเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พสกนิกรในหลายจังหวัดมีการแสดงออกการเทิดพระเกียรติและร่วมรำลึกอย่างสมพระเกียรติ
ที่ จ.ร้อยเอ็ด มีการฟ้อนรำถวายพระพร จำนวน 1,111 คน กลางบึงพลาญชัย เป็นภาพสวยงาม ตระการตา เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา
รุ่งขึ้นคือ วันที่ 16 พ.ย. จึงเป็นคิวของ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นแนวเดียวกันของเส้นทางเสด็จฯ
“เมื่อคราวที่ผมรับราชการอยู่ที่ จ.ร้อยเอ็ด ผมชวนพี่น้องประชาชนชาวร้อยเอ็ดร่วมกันในกิจกรรมเทิดพระเกียรติ ร่วมรำลึก 60 ปี ที่ในหลวงเสด็จฯ มาถึงเมืองร้อยเอ็ด
พอมารับราชการที่ จ.อุบลราชธานี ผมจึงขอต่อยอดชวนพี่น้องชาวอุบลฯ ด้วยตัวเลขการฟ้อนรำ 6 หมื่นคนในเวลาเพียงเดือนกว่า แต่ลึกๆ แล้วผมมั่นใจว่าชาวอุบลราชธานีทำได้แน่ ผลออกมาตามที่ปรากฏว่ามีจำนวนผู้มาร่วมกิจกรรมฟ้อนรำครั้งประวัติศาสตร์นี้ จำนวน 73,662 คนผมขอขอบคุณพี่น้องชาวอุบลฯ ทุกคน ทุกชุมชน ทุกอำเภอ และทุกสายงาน ครับ” สมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.อุบลราชธานี เล่าเบื้องหลังของงานและการมารับราชการที่อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา
6 หมื่นคนมาจากไหน?
เวลาเตรียมการมีไม่มาก แต่พลังแห่งความจงรักภักดีปรากฏฉายชัด เมื่อข่าวของกิจกรรม “ใต้ร่มพระบารมี 60 ปี ในหลวงเสด็จฯ อุบลราชธานี” แพร่ออกไป พี่น้องในทุกอำเภอตื่นตัวมาก พวกเขารอวันนัดและเร่งมือนัดซ้อมรำกันเป็นหมู่คณะ จากตัวอย่างของเพลงและท่ารำที่โหลดลงยูทูบ โลกดิจิทัลทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เพราะการสื่อสารที่ไปเร็วเต็มพิกัด
วันที่ 16 พ.ย. 2558 ประชาชนชาวอุบลราชธานี 6 หมื่นคน ที่มาร่วมฟ้อนรำในกิจกรรมครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้มาจาก อ.เมือง 3,000/เทศบาลนคร 2,000/เทศบาลเมืองแจระแม 500/วารินชำราบ 3,000/เทศบาลเมืองวารินชำราบ 1,000/เดชอุดม 1,500/เทศบาลเมืองเดชอุดม 500/พิบูลมังสาหาร 1,500/เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร 500/ตระการพืชผล 2,000/เขมราฐ 700/ม่วงสามสิบ 2,000/เขื่องใน 2,000/น้ำยืน 700/โขงเจียม 500/สิรินธร 500/บุณฑริก 500/ศรีเมืองใหม่ 700/นาจะหลวย 500/โพธิ์ไทร 500/ตาลสุม 700/สำโรง 700/กุดข้าวปุ้น 500/น้ำขุ่น 500/ดอนมดแดง 500/ทุ่งศรีอุดม 500/เหล่าเสือโก้ก 700/นาเยีย 700/นาตาล 500/สว่างวีระวงศ์ 600/สาธารณสุขจังหวัด 3,000/มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 4,000/มหาวิทยาลัยการจัดการฯ 1,000/มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 3,000/สพป.เขตยี่สิบเก้า 5,000/สพป.อบ.เขตหนึ่ง 5,000/สพป.อบ.เขตสอง 2,000/สพป.อบ.เขตสาม 2,000/ สพป.อบ.เขตสี่ 4,000/สพป.อบ.เขตห้า 2,000/คณะกรรมการการอาชีวศึกษาอุบลฯ 2,000 คน และประชาชนทั่วไป
พวกเขาตื่นเต้นกับภารกิจที่จะขอเป็นหนึ่งจุดในภาพประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ เสื้อ ผ้าสไบ ผ้าซิ่น ขายดี เกลี้ยงร้าน
สีที่เน้นใช้ในงานนี้คือ สีเหลือง ชมพู ชุดเสื้อผ้าที่ใช้ฟ้อนรำถูกวางแผนเพื่อความสวยงาม เสื้อผ้า สไบ ผ้าซิ่น สร้อย เครื่องประดับ ขายดิบขายดี เงินสะพัด คึกคักเห็นทันตา
ทั้งชาย-หญิงในชุมชนต่างๆ นัดซ้อมฟ้อนรำให้เป็นจังหวะเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง ท่ามกลางเสียงหัวเราะแห่งความสุข ซ้อมกันจนดึกดื่นก็ไม่มีใครบ่นสักคำ เวลามีน้อยต้องพร้อมเพรียงจึงจะสวยงาม แสดงพลังกันอย่างเต็มที่
ฟ้อนไตรอัตลักษณ์ ราษฎร์ภักดีจักรีวงศ์
เพลงทั้ง 3 เพลง และท่าฟ้อนรำที่ส่งต่อๆ กันไปทางการสื่อสารที่ทันสมัย ช่วยให้ทุกจุดมีการซ้อมในจังหวะเดียวกัน ได้แก่
เพลงอุบลราชธานี : เป็นเพลงประจำจังหวัด ประพันธ์โดยอาจารย์เทอด บุณยรัตพันธุ์ เคยใช้ในการเฉลิมฉลอง 200 ปี เมืองอุบลราชธานีเมื่อปี 2535 มาแล้ว ประกอบด้วยท่ารำ 5 ท่า คือ ท่านวยนาด ท่าบัวแย้มกลีบ ท่าภมรเคล้า ท่าพรหมสี่หน้า และท่าสอดสร้อยมาลาแปลง
เพลงบายศรี : เป็นเพลงที่ใช้สืบทอดมาแล้ว 60 ปี เมื่อคราวฟ้อนรำถวายในหลวงในวันที่ 17 พ.ย. 2498 ประพันธ์โดย อาจารย์สมชัย เสลารักษ์
บรรเลงดนตรีด้วย วงแคน วงโปงลาง เพื่อใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน ใช้ทำนองเพลงเต้ยอีสานโบราณด้วยท่าร่ายรำ อันหมายถึงการเชิญบายศรีมาในพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล
เพลงลำตังหวาย : กำเนิดที่ ต.บ้านเจียด อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ท่ารำ จะเป็นการแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยความจงรักภักดี เช่น ท่าไหว้ ท่ายวก ยวกๆๆ ท่าใช้สะโพก ท่าขยับข้อมือพรมนิ้ว
ความยาวของทั้ง 3 เพลง ที่ผู้ฟ้อนรำร่ายรำรวม 12 นาที เป็นความตั้งใจอย่างเป็นสุข ยิ้มแย้ม แม้แดดเปรี้ยงของเวลายามบ่าย และบางคณะต้องเดินทางจากต่างอำเภอตั้งแต่เช้าก็ตาม
อารี วรรณโสภา ชาว อ.เดชอุดม เล่าว่า “พอรู้ข่าวจากนายอำเภอก็คุยกับเพื่อนๆ นัดกันได้ทั้งหมู่บ้าน 46 คน ซ้อมจากยูทูบ พอถึงวันงานก็เหมารถมาด้วยกัน ตั้งแต่ 8 โมงเช้า กลัวเขาปิดถนน พวกเราฟ้อนเต็มที่ มีความสุขมาก กลับบ้านยังไปคุยกัน ยังยิ้ม หัวเราะกัน ปลื้มสุดๆ เลยค่ะที่เป็นส่วนหนึ่งของงานครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่รู้จะมีอีกเมื่อไหร่ ใครจะชวนไปฟ้อนให้ในหลวงอีก บอกมาเลยนะ”
คนไทยน้ำใจงาม
การจัดระเบียบของคนจำนวนกว่า 6 หมื่นคน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การจราจร การปิดถนน การจอดรถ การลำเลียงผู้คน ข้าวปลาอาหาร ห้องสุขา และอีกมากมาย ที่มุ่งหน้ามาสู่บริเวณศูนย์กลางของเมืองที่ทุ่งศรีเมือง
แม้จะวางแผน เตรียมการ รองรับไว้เป็นอย่างดี ก็มักจะมีเหตุหน้างานอยู่บ้าง พบว่าชาวอุบลราชธานีให้ความร่วมมือระดับดีมาก สมเป็นคนไทยน้ำใจงาม ระเบียบของรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ จักรยาน เป็นไปอย่างคล่องตัว เพราะความร่วมมือของทุกคน และยังพบว่าหน้าบ้านของหลายบ้านโดยรอบของทุ่งศรีเมืองมีการวางขนม น้ำดื่ม ไว้ให้ผู้มาร่วมงานทานกันฟรี และเปิดบ้านให้เข้าห้องน้ำอย่างมีไมตรี ทุกคนยิ้มให้กันอย่างมีความสุข ปลาบปลื้มใจ
สร้างสถิติ 73,662 คน
สถิติชาวอุบลราชธานี ชาย-หญิง ที่รำถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในงาน “ใต้ร่มพระบารมี 60 ปี ในหลวง เสด็จฯ อุบลราชธานี“ ณ ทุ่งศรีเมือง และบริเวณข้างเคียง เมื่อเวลา 16.00-17.00 น. เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2558 นับจำนวนอย่างเป็นทางการ คือ 73,662 คน
อีกครั้ง…ของบทพิสูจน์ สามัคคี คือ พลังงานใหญ่น้อยสำเร็จลุล่วง ปลื้มใจกันไปทั้งเมืองอุบลราชธานี…
ขอเดชะ ฝ่าละออง ธุลีพระบาท
วโรกาส เสด็จอุบลฯ ดลวิถี
60 ปี ด้วยพระ บารมี
ประชาชี ร่มเย็น เป็นนิรันดร
ได้เข้าเฝ้า ทูลละออง จิตผ่องผุด
บริสุทธิ์ สรรพสิ่ง เป็นมิ่งขวัญ
เป็นบุญของ ชาวอุบล พันรำพัน
รำลึกถึง คุณอนันต์ พระภูมิพลฯ
น้อมถวาย การแสดง หกหมื่นชีวิต
นิรมิต ศิลปะ ทั่วสะถล
นาฏศิลป์ จินตะลีลา ในสากล
ทุกทวยชน น้อมใจกาย ถวายพระพร
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า พสกนิกรชาวอุบลราชธานีทุกหมู่เหล่า
ประพันธ์โดย : รศ.นภดล จันทร์เพ็ญ
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต