จากประชาชาติธุรกิจ
พล.ต.พญ.ยุพิน เบ็ญจสุรัตน์วงศ์ กรรมการบริหาราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวานว่า ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่มีความเสี่ยงจะป่วยด้วยโรคนี้ทุกคน หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตได้ ก็สามารถควบคุมเบาหวานและดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข
ทั้งนี้ การปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายถือเป็นหลักสำคัญ โดยในผู้ป่วยเบาหวานนั้น ควรมีการตรวจและควบคุมปริมาณน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ หากรู้หลักและเข้าใจก็สามารถจะกินอาหารได้เป็นปกติแทบจะทุกชนิด เพียงแค่ยึดหลักการกินอยู่ให้เป็น คือ กินอย่างเหมาะสม โดยเลือกกินผักให้มากขึ้นประมาณ 2 ทัพพีต่อวัน ส่วนผลไม้ควรหลีกเลี่ยงหรือลดการกินผลไม้ที่มีรสหวานมากหรือมีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ส้ม กล้วยน้ำว้า ขนุน ทุเรียน ข้าวโพด เป็นต้น หากต้องการกินก็ให้กินในปริมาณน้อย และไปลดปริมาณการบริโภคในมื้อต่อไปลง
ส่วนในผู้ที่มีความเสี่ยงควรเลือกกินผักให้มากขึ้น และเลือกกินผลไม้ตามความเหมาะสมเช่นกัน นอกจากนี้ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะอ้วนลงพุง โดยควรระวังไม่ให้ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 เพราะหากค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 23-25 ถือว่ามีความเสี่ยงสูง
ทั้งนี้ พบว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากถึง 20 เท่า ส่วนในผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึงร้อยละ 50
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ร้อยละ 65 จะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง และ 1 ใน 4 ของอุบัติการณ์โรคเบาหวานนั้น เกิดจากการไม่ออกกำลังกาย แต่ที่น่าตกใจคือ ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวานไม่รู้ตัวว่ากำลังป่วยเป็นโรคนี้ ดังนั้น ควรสังเกตอาการ เช่น กระหายน้ำ น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย หิวบ่อย และสายตาพร่ามัว
มติชนรายวัน
วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
คอลัมน์ ส่องโรคไขสุขภาพ
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะ