สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต่อให้สร้างใหม่ก็เรียกคุณค่ากลับมาไม่ได้ จากอธิบดีกรมศิลป์ถึงวัดกัลยาณ์

จาก โพสต์ทูเดย์

เรื่อง....อินทรชัย พาณิชกุล

ทราบกันดีว่า วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2492

แต่หลังจากมีการทุบทำลายสิ่งปลูกสร้างภายในวัด โดยอ้างว่าต้องการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่แทนที่ของเดิมที่เก่าแก่ทรุดโทรม เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้งดงามยิ่งขึ้น ส่งผลให้ระหว่างปี 2546-2558 มีโบราณสถานภายในวัดกัลยาณมิตรถูกรื้อถอน 22 รายการ บูรณะโดยไม่ได้ขออนุญาตอีก 5 รายการ และก่อสร้างอาคารในเขตโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก 18 รายการ

ท้ายที่สุด กรมศิลปากรจึงตัดสินใจฟ้องร้องวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ข้อหารื้อทำลายโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 รวมทั้งสิ้น 16 คดีใน 45 รายการ

ปัจจุบันคดีความทั้งหลายยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา และไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

วันนี้ บวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร จะมาย้อนเล่าให้ฟังถึงคดีฟ้องร้องระหว่างกรมศิลปากรกับวัดกัลยาณ์เรื่องการทุบทำลายโบราณสถาน ภารกิจปกป้องมรดกของชาติ ตลอดจนกรณีศึกษาแก่วัดอื่นๆเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต

ปัญหาการทุบทำลายโบราณสถานภายในวัดกัลยาณ์เกิดขึ้นจากสาเหตุใด

ผมว่ามีปัจจัยอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกเลยคือ เวลามีการเปลี่ยนแปลงเจ้าอาวาสรูปใหม่ ท่านมาท่านก็อยากปรับปรุงนั่นนู่นนี่ เหมือนผมมาเป็นอธิบดีใหม่ๆก็มีสิ่งที่อยากจะทำเหมือนกัน เพียงแต่ว่าการที่ผมหรือท่านจะทำอะไรมันต้องมีกรอบ กรอบที่กำหนดว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ ซึ่งกรอบของทางวัดกัลยาณ์คือ วัดได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถาน เมื่อปี 2492 ซึ่งตามมาตรา 10 ของพ.ร.บ.โบราณสถานฯ ระบุไว้ว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่างๆของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใดๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดี หรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี"

อีกอย่างคือเท่าที่ผมทราบมันมีระเบียบคณะสงฆ์บอกว่า พระสงฆ์รูปใดสามารถพัฒนาวัด สร้างสิ่งปลูกสร้างอะไรต่างๆจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ตรงนี้ผมมองว่าเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้พระแต่ละรูปแข่งกันสร้างนู่นสร้างนี่ตลอดเพื่อให้มีผลงาน แต่ท่านเป็นพระ พระพุทธเจ้าก็บอกว่าอย่าไปยึดติดในลาภยศสรรเสริญ  

มีอะไรบ้างที่ถูกรื้อทิ้งโดยไม่ได้รับอนุญาต

22 รายการ ประกอบด้วย 1.รื้อหอระฆัง 2.รื้ออาคารเสวิกุล 3.รื้อศาลาทรงปั้นหยา 4.รื้อหอกลอง 5.รื้อหอสวดมนต์กัลยาณาลัย 6.รื้อศาลาปากสระ 7.รื้อกุฏิเก่าคณะ 7 จำนวน 3 หลัง 8.ก่อสร้างอาคาร คสล.3 ชั้นทางทิศใต้ของวัด 9.บูรณะพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร 10.บูรณะหอพระธรรมมณเฑียรเฉลิมพระเกียรติ 11.บูรณะวิหารหลวงพ่อพระพุทธไตรรัตนนายก (วิหารหลวง) 12.บูรณะพระวิหารน้อย 13.รื้อราวระเบียงหิน พื้นหิน ตุ๊กตาหินอับเฉา และจัดสร้างหลังคาโครงเหล็กด้าน หน้าพระวิหาร 14.รื้อกุฏิสงฆ์คณะ 4 15.ถมสระน้ำภายในกุฏิสงฆ์คณะ 2 16.ถมสระน้ำภายในกุฏิสงฆ์คณะ 4 17.รื้อกุฏิพระโบราณ 18.รื้ออาคารเก็บอัฐิ 19.รื้อกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ 20.รื้อกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก 21.รื้อศาลาตรีมุข 22.รื้อกุฏิพระโบราณคณะ 1 รวมทั้งบูรณะโดยไม่ได้ขออนุญาตอีก 5 รายการ และก่อสร้างอาคารในเขตโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก 18 รายการ

ต้องเข้าใจว่า โบราณสถานที่อยู่กับวัดเป็นสิ่งที่บรรพชนสร้างสืบเนื่องกันมานับร้อยปี การที่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสไม่ได้หมายความว่าท่านเป็นเจ้าของ แต่เป็นเพียงผู้ดูแล ท่านคงคิดของเก่ามันไม่สวย ดูทรุดโทรม กรมศิลป์ก็ไม่เห็นมาซ่อมแซม ท่านเองอาจไม่อยากซ่อมเลยทุบทิ้งทำใหม่ ซึ่งกรมศิลป์ไม่ได้ห้ามไม่ให้ซ่อม ซ่อมได้แต่ซ่อมในที่นี้คือซ่อมแซมในสภาพเดิม เช่น รูปแบบของเดิมเป็นอย่างไรก็ควรเป็นอย่างนั้น วัสดุที่ใช้ ของเดิมเป็นอย่างไรก็ต้องรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมนั้น เป็นไม้ก็ต้องบูรณะแบบเป็นไม้ ขัดสีปูนตำก็ต้องเป็นแบบปูนตำ อย่าไปพลิกแพลงของเขา เทคนิควิธีช่าง ช่างเขาเคยทำรูปแบบอย่างไร เราก็ควรใช้รูปแบบนั้น เช่น เรือนไทยไม่เคยใช้ตะปูเลย ใช้เข้าลิ่ม เราก็ต้องทำตามวิธีเดิม สถานที่ เขาสร้างตรงไหนก็ควรต้องอยู่ที่เดิม ยกตัวอย่างศาลาท่าน้ำ ชื่อก็บอกศาลาท่าน้ำ มันก็ต้องอยู่ติดกับคลองหรือแม่น้ำใช้เป็นทางขึ้นลง จะย้ายเอามาไว้บนบกมันก็ไม่ใช่ศาลาท่าน้ำแล้ว สิ่งที่ห้ามเด็ดขาดคือ ห้ามรื้อทิ้ง และห้ามปรับปรุงแก้ไขจนหมด ที่สำคัญทั้งหมดทั้งปวงจะดำเนินการใดๆต้องขออนุญาตกรมศิลปากรก่อน

ชาวบ้านรอบวัดมีสิทธิ์คัดค้านวัดไหม

วัดกัลยาณมิตรสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากเขตพุทธาวาส สังฆาวาส ก็จะมีเขตที่ให้ชาวบ้านอยู่ เหตุผลคือการที่พระสงฆ์จะอยู่ได้ ต้องมีชาวบ้านสนับสนุน การเอาชาวบ้านไปอยู่ในเขตที่เป็นของวัดเป็นจุดประสงค์ที่ต้องการให้ชาวบ้านมาเข้าวัดฟังธรรม มีอะไรก็ช่วยวัด ช่วยซ่อมโน่นซ่อมนี่ หรือช่วยงานประเพณี เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา งานตรุษต่างๆ สิ่งเหล่านี้มันดำเนินได้ด้วยชาวบ้าน แต่ปัจจุบันมันเริ่มเปลี่ยนแปลงไป การคมนาคมสะดวกขึ้น พระท่านอาจจะมองว่าชาวบ้านที่อยู่รอบวัดไม่จำเป็นแล้ว เพราะมีคนมาทำบุญจากทั่วทุกสารทิศ พระเองก็อาจจะไม่ต้องบิณฑบาตก็สามารถอยู่ได้ การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมันเลยกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น พอไม่จำเป็นมันก็เป็นที่มาของการขัดแย้งกัน

ที่ผ่านมา มีวัดทำผิดเกี่ยวกับเรื่องโบราณสถานมากน้อยแค่ไหน

ผมกำชับให้ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรแต่ละจังหวัดรวบรวมรายชื่ออยู่ตลอด มีทั้งวัดทั้งประชาชนที่บุกรุกและรื้อทำลายโบราณสถาน เพราะเดี๋ยวนี้คนเยอะขึ้นแต่พื้นที่มีน้อย ก็กลายเป็นว่าตรงไหนมีที่ ฉันจะไปอยู่ ไม่สนใจว่ามันจะเป็นที่ของอะไร เราก็ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจอยู่ตลอดเวลา ถ้ากรมศิลปากรไม่ทำ แล้วใครจะเป็นคนทำ ถ้าปล่อยให้ทำลายโบราณสถานไปเรื่อยๆโดยไม่เข้าไปดำเนินการอะไรเลย สักวันหนึ่งก็หมด เพราะการทุบทำลายนั้นง่ายมากต่างจากการสร้างอะไรมาสักอย่างหนึ่งมันยากกว่าเยอะ  

ถึงขั้นฟ้องร้องเป็นคดีความเยอะไหม

สมัยที่ผมเป็นอธิบดีกรมศิลปากรก็ถูกฟ้องเป็นจำเลยอยู่หลายคดี เพราะเราไปเตือนไม่ให้เขาสร้างรีสอร์ทสร้างอะไรต่างๆโดยไม่ได้ขออนุญาต พอขอให้รื้อถอน เขาไม่พอใจก็ฟ้อง วัดก็มี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนมากกว่า

ตามมาตรา 7 ทวิแห่งพ.ร.บ.โบราณสถานฯที่ระบุว่าให้อธิบดีดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้รับอนุญาต ถามว่ามีวัดที่เข้าข่ายถูกทุบเยอะไหม

ตอนนี้มีรายชื่ออยู่ประมาณ 10 กว่าวัด ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด แต่บอกชื่อไม่ได้ เราเคยมีหนังสือบอกกล่าวไปแล้วว่าให้หยุดสร้าง เราเตือนก่อน ทำตามขั้นตอน ไม่ใช่อยู่ๆไม่ชอบใจก็ไปทุบ เราจะดูว่าวัดนี้เราบอกเราเตือนได้ไหม ในเขตกรุงเทพจะมีเจ้าหน้าที่กลุ่มทะเบียนโบราณสถานเป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับปัญหากับวัดวาอารามต่างๆ ก็จะไปตรวจสอบว่าวัดไหนมีการทำลายโบราณสถานโบราณวัตถุบ้าง แล้วจะรายงานมาที่ผมทุกเดือน ผมก็เห็นว่าวัดโน้นวัดนี้เตรียมจะทุบทำลายรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ถ้าไม่ทำอะไรบ้าง โบราณสถานก็ถูกทุบไปเรื่อยๆ เราต้องดำเนินการแก้ไข การแก้ไขมี 2 อย่าง เจรจาพูดคุย ถ้าคุยไม่รู้เรื่องก็ต้องเอากฎหมายมาบังคับใช้

กรณีวัดกัลยาณ์เราได้แจ้งหนังสือเตือนไปตั้งแต่ปี 2552 แล้วว่าให้ระงับการก่อสร้างใดๆทั้งสิ้น เพราะกรมศิลปากรไม่อนุญาต ผ่านมา 6 ปียังพบว่ามีการรื้อถอนอยู่เรื่อยๆ ผมก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย นั่นคือทุบทิ้ง จะมาบอกว่าไม่รู้ หรือกะทันหันไม่ได้

ตั้งแต่มีคดีฟ้องร้อง ทางวัดกัลยาณ์เคยติดต่อขอไกล่เกลี่ยหรือไม่ 

ทางวัดเคยแจ้งไปทางสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักพุทธฯก็เข้ามาคุยกับกรมศิลปากร ผมอธิบายไปว่าเราไม่ได้เข้าไปทำโดยพลการหรือบรรลุแก่โทสะ แต่ทำตามหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมาย ก็มีพระสงฆ์ หรือประชาชนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ผมถือว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมที่มีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จะให้คนเห็นด้วยกับเราทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ แต่ผมถือหลักว่าเวลาจะทำอะไรต้องอธิบายให้กับสังคมเข้าใจได้ว่าเหตุที่เราทำไปเพราะอะไร ถึงเขาจะไม่พอใจเรา แต่เราก็ทำถูกต้องตามขั้นตอนทุกอย่าง

กรณีกรมศิลป์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไม่ได้รับอนุญาตที่วัดกัลยาณ์เมื่อต้นปี 2558 เป็นบทเรียนให้วัดอื่นๆได้อย่างไรบ้าง

เราควรทำพร้อมๆกันทั้งประเทศ ไม่ใช่มองว่ากรมศิลปากรทุบแต่วัดกัลยาณ์ ถ้าที่ไหนมีการบุกรุกทำลายโบราณสถาน แล้วกรมศิลป์รับรู้ ขั้นตอนต่อไปคือต้องแจ้งให้เขาหยุด ถ้าไม่ยอมหยุด ก็สั่งให้เขารื้อถอน เพราะมีกฎหมายให้รื้อถอนภายใน 30 วัน แต่ถ้ายังไม่ทำตาม เราก็จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดเหมือนที่วัดกัลยาณ์

ความคืบหน้าล่าสุดทางคดีความถึงไหนแล้ว

เท่าที่ทราบอัยการได้สั่งฟ้องไปที่ศาลแล้ว ถ้าวัดผิดจริงก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 10 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีสิ้นสุดแล้วเราก็จะดำเนินการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย โดยจะมีแผนผังราคาให้ไปเพื่อให้ศาลแพ่งบังคับคดีให้ผู้ที่ทำลายโบราณสถานจ่ายค่าชดเชยในการสร้างโบราณสถานกลับคืนมาเป็นจำนวนเท่าไหร่

ตอนนี้ทำได้แค่รอกระบวนการของศาลยุติธรรม คงยืดเยื้ออีกนาน ที่ผ่านมาคดีของกรมศิลปากรไม่ค่อยที่จะขึ้นถึงศาล เลยไม่รู้แนวทางว่าศาลจะตัดสินอย่างไร อาจจะรอลงอาญาหรือให้ชดใช้ค่าเสียหายก็ได้ ยังเดาไม่ถูก

สุดท้าย โบราณสถานภายในวัดกัลยาณ์ที่ถูกรื้อทำลายไป สามารถสร้างใหม่ได้หรือไม่

กรมศิลปากรสามารถสร้างให้เหมือนเดิมได้ เพราะเรามีรูปแบบ มีการถ่ายรูปบันทึก ทำผังและแปลนต่างๆไว้ เรารู้วิธีว่าสร้างอย่างไรจึงจะเหมือนเดิม แต่ถึงจะสร้างใหม่ให้ดียังไงก็ไม่มีทางเหมือนเดิม ความรู้สึกมันเรียกคืนมาไม่ได้อยู่แล้ว ของพวกนี้สร้างมา 50 ปี 100 ปี ถ้าสร้างตอนนี้ต้องรอเวลาอีกกี่ร้อยปีถึงจะกลับมามีคุณค่าได้เหมือนเดิม ไม่มีทาง เราไม่สามารถเรียกร้องคุณค่าที่เสียหายไปแล้วให้กลับคืนมาได้


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ต่อให้สร้างใหม่ เรียกคุณค่า กลับมาไม่ได้ อธิบดีกรมศิลป์ วัดกัลยาณ์

view